รีเซต

หมอโอภาสแย้มแผนทำโควิด-19 เป็นประจำถิ่น ขอคนไทยอย่ากลัว!

หมอโอภาสแย้มแผนทำโควิด-19 เป็นประจำถิ่น ขอคนไทยอย่ากลัว!
มติชน
30 มกราคม 2565 ( 15:42 )
60
หมอโอภาสแย้มแผนทำโควิด-19 เป็นประจำถิ่น ขอคนไทยอย่ากลัว!

ข่าววันนี้ (30 มกราคม 2565) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงทิศทางและแนวทางการทำให้โรคโควิด-19 ในประเทศไทย เข้าสู่โรคประจำถิ่น ว่า เข้าใจว่าหลายคนอาจจะมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในเรื่องการทำให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น ทั้งนี้ สธ.เน้นย้ำว่า เรื่องดังกล่าวเป็นแผนการดำเนินงานภายในปีนี้ เนื่องจากโรคโควิด-19 ได้แพร่ระบาดไปทั่วโลก (Pandemic) มานานกว่า 2 ปี ซึ่งไม่เคยมีโรคระบาดใดที่ระบาดยาวนานขนาดนี้มาก่อน

 

นพ.โอภาส กล่าวว่า ดังนั้น โจทย์ที่ทั่วโลกตั้งคำถามคือ ภายหลังจากการระบาดแล้ว จะเป็นอย่างไรต่อไป ต้องระบาดไปอีกนานแค่ไหน ฉะนั้น ก็ต้องมีการกำหนดระยะหลังการระบาด (Post pandemic) ซึ่งตามหลักการของระบาดวิทยาหลังจากนี้ก็จะเป็นโรคทั่วไป หรือโรคประจำถิ่น (Endemic) โดยหลักสำคัญคือ พื้นที่นั้นๆ ต้องสามารถรับมือกับโรคได้ ใช้ชีวิตร่วมกับโรคได้ ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ก็มีความเห็นว่า ตรงกันกับที่ทั่วโลกให้ความเห็นไว้ เพียงแต่จะใช้เวลานานแคไหน อย่างไร ก็จะขึ้นกับเหตุการณ์ของประเทศนั้นๆ คือ 1.เชื้อกลายพันธุ์รุนแรงหรือไม่ 2.วัคซีนครอบคลุมหรือไม่ และ 3.ระบบสาธารณสุขรองรับได้หรือไม่ เตียงไอซียู โรงพยาบาล (รพ.) ต้องไม่เต็ม รวมถึงการใช้ชีวิตวิถีใหม่ (New normal) ของคนในประเทศ หากทุกอย่างสมดุลก็จะเข้าสู่โรคประจำถิ่นได้เร็ว

 

“ย้ำว่า การเป็นโรคประจำถิ่น ไม่ใช่ว่าโรคนั้นจะหายไป เพียงแต่จะเกิดเป็นโรคที่พบได้ตามปกติ เช่น ไข้หวัดใหญ่ ที่มีความใกล้เคียงโควิด-19 มากที่สุด ส่วนไข้เลือดออกก็ระบาดเป็นฤดูกาล ฉะนั้น โรคจะอยู่กับเรา เราก็ต้องอยู่กับโรค ก็จะพบการระบาดเพิ่มขึ้นเป็นครั้งๆ เช่น ไข้เลือดออก ฤดูฝนก็ระบาด ฤดูหนาวก็น้อย ซึ่งย้ำว่า เราไม่ได้จะประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นในเร็วๆ นี้ แต่เราต้องวางเป้าหมาย เพื่อวางเกณฑ์” นพ.โอภาส กล่าว

 

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวต่อไปว่า ด้วยโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ที่มีความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์เดลต้ามาก คนมีภูมิคุ้มกันมากขึ้นทุกวัน ขณะนี้ คนไทยก็ฉีดวัคซีนกระตุ้น หรือ บูสเตอร์ โดส ต่อเนื่อง ยาและเวชภัณฑ์ก็มีครบ ความรู้ก็มากขึ้น

 

“ล่าสุด กรมควบคุมโรคได้เสนอแผนการดำเนินการเพื่อบริหารสถานการณ์ให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น ทั้งเป้าหมายและตัวเลขต่อที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติแล้ว โดยจะมีการชี้แจงให้ประชาชนรับทราบในระยะต่อไป คาดว่าจะเร็วๆนี้ ส่วนประเด็นที่หลายคนกังวลว่า หากโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นแล้ว จะไม่รักษาให้ฟรี ต้องย้ำว่า ทุกคนมีสิทธิรับการรักษาฟรีอยู่แล้ว และการนำโควิด-19 เข้าสู่โรคประจำถิ่น ก็เพื่อให้คนไทยกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติที่สุด เศรษฐกิจดำเนินต่อไปได้ โรงเรียนเปิดตามปกติ คนทำมาหากินได้ เราต้องเลิกกลัว เพียงแต่ต้องทำความเข้าใจกับโรคให้ได้ อยู่กับโรคให้ได้ เพื่อให้ใช้ชีวิตใกล้เคียงปกติที่สุด เพราะเราปิดตัวเองตลอดไม่ได้” นพ.โอภาส กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง