รีเซต

นักวิชาการ ชี้รัฐ ดัน โครงการโขง เลย ชี มูล เหตุต้องการใช้เงินมหาศาล

นักวิชาการ ชี้รัฐ ดัน โครงการโขง เลย ชี มูล เหตุต้องการใช้เงินมหาศาล
ข่าวสด
12 ตุลาคม 2564 ( 15:58 )
114

นักวิชาการ ชี้รัฐ ดัน โครงการโขง เลย ชี มูล เหตุต้องการใช้เงินมหาศาล แนะศึกษาความผิดพลาดในอดีต ภาคประชาชนโวยขาดการมีส่วนร่วม-ยื่นจดหมายถึง “ประวิตร” ทบทวน EIA

 

วันที่ 12 ต.ค.64 นายสันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ อาจารย์สาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่กรมชลประทานกำลังผลักดันโครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล ซึ่งอยู่ในขั้นตอนจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ(กก.วล.) แต่ได้รับการคัดค้านจากภาคประชาชนอย่างหนัก ว่า อยากให้รัฐบาลศึกษาและเรียนรู้ความผิดพลาดจากอดีต เช่น โครงการโขง ชี มูล ซึ่งไม่คุ้มค่าและต้องสูญเสียงบประมาณอีกจำนวนมหาศาลในการแก้ไขปัญหา

 

นายสันติภาพ กล่าวว่า การที่โครงการโขง เลย ชี มูล มีเป้าหมายเอาน้ำจากแม่น้ำโขงมาให้คนอีสานแล้วบอกว่าจะทำให้ชาวบ้านได้อยู่ดีกินดีนั้น อยากถามว่าแล้วทำไมคนภาคกลางที่ทำนากันได้ปีละ 3-4 ครั้ง จึงยังไม่มีใครรวยและไม่ได้อยู่ดีกินดี เพราะต้นทุนที่เพิ่มขึ้นทั้งการใช้ปุ๋ยใช้สารเคมี แถมยังเกิดมหกรรมทุจริตมากมาย ดังนั้นการได้น้ำมาจึงไม่ใช่หลักประกันที่ทำให้ชีวิตดีขึ้น ทำไมภาครัฐถึงไม่มองในเรื่งภูมิปัญญาท้องถิ่น การทำเกษตรผสมผสานหรืการออกแบบปลูกพืชตามความเหมาะของพื้นที่

 

ผู้สื่อข่าวถามว่าคิดว่าเหตุผลลึกๆ ในการผลักดันโครงการขนาดใหญ่ทั้งผันน้ำยวมสู่เขื่อนภูมิพล หรือโครงการโขง เลย ชี มูน คืออะไร นักวิชาการรายนี้ กล่าวว่า น่าจะเป็นเรื่องของความต้องการใช้เงินมากกว่า เพราะภาครัฐเชื่อว่าโครงการขนาดใหญ่เหล่านี้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคการก่อสร้าง รวมถึงเป็นเรื่องทางการเมืองซึ่งใกล้การเลือกตั้ง หากไม่ทำกันตอนนี้ก็ไม่รู้ทำกันตอนไหน แต่จะเกี่ยวพันกับการคอรัปชั่นด้วยหรือไม่นั้น ตนไม่ทราบ เพราะทุกฝ่ายต้องช่วยกันตรวจสอบ

 

“ทัศนคติของคนที่รับผิดชอบโครงการใหญ่ๆ เหล่านี้ เขาไมได้ต้องการกระบวนการการมีส่วนร่วมสักเท่าไหร่ คนนั่งหัวโต๊ะเป็นทหารเขาก็ใช้อำนาจที่มีอนุมัติ การจัดทำ EIA จึงไม่รอบคอบ ยกตัวอย่างเขาจะขุดอุโมงค์ขนาดใหญ่นับร้อยกิโลเมตร ถามว่าชาวบ้านที่มีที่ดินที่อุโมงค์ผ่านรู้เรื่องแล้วหรือยัง ถ้าชาวบ้านยังไม่รู้เรื่องเลยแล้วคุณจะไปประเมินผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมกันอย่างไร

 

เพราะการมีส่วนร่วมยังทำไม่ครบ ถ้าในอดีตเขาต้องกลับไปแก้ไขใหม่ โดยเฉพาะโครงการมูลค่านับแสนล้านเช่นนี้ คณะผู้ชำนาญการที่พิจารณาต้องรอบคอบ แต่นี่ กก.วล.ที่เหมือน คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดน้อย เมื่อนำเรื่องเข้าสู่ ครม.ใหญ่ก็ผ่าน ผมไม่รู้ว่าใน กก.วล.มีการแทรกแซงทางการเมืองหรือไม่” นายสันติภาพ กล่าว

ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 11 ต.ค.ที่ผ่านมา ภาคประชาชนจำนวน 649 รายชื่อ และ 88 องค์กร นำโดยเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน ได้มีจดหมายเปิดผนึกส่งถึง พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และในฐานะประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อคัดค้านรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง ระยะที่ 1 โดยเห็นว่าเป็นการดำเนินการทำรายงานที่ไม่ชอบธรรม ขาดกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างรอบด้านจากประชาชนที่จะได้รับผลกระทบ พร้อมกับมีข้อเรียกร้องให้มีการทบทวนรายงานอีไอเอ ฉบับดังกล่าวอย่างเร่งด่วน

“รายงานฯ นี้ ไม่เข้าใจและไม่ได้กล่าวถึงมิตินิเวศวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น อีกทั้งโครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล ใช้งบประมาณจำนวนมาก และมีผลกระทบโดยตรงต่อชุมชนจำนวนมาก ดังนั้น การประเมินผลกระทบฯ ควรคำนึงถึงและให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างแท้จริง” เนื้อหาในจดหมายระบุ

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากกรมชลประทาน ได้ทำการศึกษาโครงการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment : SEA) โครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แล้วเสร็จเมื่อเดือนกรกฎาคม 2555 โดยการพัฒนาระยะที่ 1 แล้วเสร็จเมื่อเดือนเมษายน 2560

แต่อย่างไรก็ดี คณะผู้ชำนาญการได้พิจารณารายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโดยโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ (คชก.) ได้พิจารณารายงานเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2564 และมีมติให้ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. และกรมชลประทาน ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขรายงานดังกล่าว และ สทนช. จะต้องจัดทำข้อมูลเพิ่มเติมตามมติของ คชก. จนกว่าจะผ่านการพิจารณา

นายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน กล่าวว่า การตัดสินใจของรัฐบาลที่รับฟังข้อมูลด้านเดียว และมีธงอยู่แล้วที่จะผลักดันโครงการโขง เลย ชี มูล ดังนั้น การจัดเวทีรับฟังความเห็นต่างๆ จึงเป็นแค่พิธีกรรมที่อ้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งสิ่งที่เป็นข้อกังวลและคำถามของคนอีสานต่อกรณีโครงการผันน้ำ โขง เลย ชี มูล คือ โครงการผันน้ำ โขง เลย ชี มูลนี้มีความคุ้มค่าหรือไม่ที่จะลงทุนหลายหมื่นล้านบาท หรือเป็นแค่การผลาญงบประมาณที่มาจากภาษีประชาชน

“การผันน้ำโขงจะเอาน้ำมาจากที่ไหนผันเข้ามาในภาคอีสาน เพราะเราก็ทราบกันอยู่แล้วว่าประเทศจีนสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงกักน้ำไว้ตอนบน และ สปป.ลาว สร้างเขื่อนกักน้ำไว้เพื่อปั่นไฟฟ้าขายให้กับประเทศไทย ทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงยิ่งลดน้อยลงไปอีก และ สปป.ลาว กำลังมีแผนที่จะสร้างเขื่อนสานะคาม ที่อยู่ห่างจากชายแดนไทย อ.เชียงคาน จ.เลย ประมาณ 2.5 กิโลเมตร คาดว่าถ้าสร้างเสร็จจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างมหาศาล และปริมาณน้ำที่จะลดลงอีก” นายสุวิทย์กล่าว

ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน สทนช. ก็กำลังผลักดันโครงการสร้างเขื่อนปากชม (ผามอง) ที่บริเวณบ้านคกเว้า ต.หาดคัมภีร์ อ.ปากชม จ.เลย กั้นแม่น้ำโขงระหว่างพรมแดนประเทศไทยและ สปป.ลาว เพื่อกักน้ำและยกระดับน้ำให้สูงขึ้นเพื่อให้น้ำเข้าปากแม่น้ำเลย แต่ประชาชนในพื้นที่คัดค้าน

“รัฐบาลควรชะลอโครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล ออกไปก่อน และให้มีการศึกษาการจัดการน้ำโครงการ โขง ชี มูล ที่ผ่านมา ในด้านผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม และให้มีการศึกษาร่วมกันระหว่างภาคประชาชน และหน่วยงานรัฐต่อทางเลือกในการจัดการน้ำที่เหมาะสม และสอดคล้องกับระบบนิเวศภาคอีสาน” ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน กล่าว

อนึ่ง ขณะนี้รัฐบาล โดยกรมชลประทาน กำลังเร่งรัดผลักดันโครงการผันน้ำข้ามลุ่มขนาดใหญ่ อาทิ โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้แก่เขื่อนภูมิพล (แนวส่งน้ำแม่น้ำยวม) ซึ่งเป็นเฟสแรก ที่จะผันน้ำจากแม่น้ำยวม ลุ่มน้ำสาละวิน ปริมาณราว 1,800 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี มายังลุ่มน้ำปิง-เจ้าพระยา มูลค่าโครงการกว่า 7 หมื่นล้านบาท

โดยผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแล้ว นอกจากนี้ยังผลักดันโครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล มูลค่าเบื้องต้นกว่าแสนล้านบาทเพื่อส่งน้ำมายังภาคอีสานและภาคกลาง