รีเซต

กสิกรไทย มองศก.โลกไม่ได้อยู่ในภาวะอันตราย หลายบริษัทสร้างกำไรสูงเป็นประวัติการณ์

กสิกรไทย มองศก.โลกไม่ได้อยู่ในภาวะอันตราย หลายบริษัทสร้างกำไรสูงเป็นประวัติการณ์
มติชน
1 ตุลาคม 2564 ( 17:14 )
57
กสิกรไทย มองศก.โลกไม่ได้อยู่ในภาวะอันตราย หลายบริษัทสร้างกำไรสูงเป็นประวัติการณ์

เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม นางสาวศิริพร สุวรรณการ Managing Director – Private Banking Financial Advisory Head ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า วัฏจักรของเศรษฐกิจโลกไม่ได้อยู่ในภาวะอันตราย เชื่อว่าเศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่วัฏจักรที่เติบโตในอัตราปกติ หลังจากที่ฟื้นตัวจากวิกฤตมาแล้ว โดยมี 7 เหตุผลหลักสนับสนุน เหตุผลแรก เศรษฐกิจฟื้นตัวกลับเข้าสู่แนวโน้มก่อนโควิด อัตราการเติบโตกลับสู่ระดับปกติ วัฎจักรกลับสู่สภาวะที่มั่นคงขึ้น เศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่เฟสใหม่ของการฟื้นตัว ที่จะเติบโตอย่างมีเสถียรภาพมากขึ้น เพราะการฟื้นตัวอย่างเร็วและแรง ย่อมตามด้วยการเติบโตในอัตราที่ชะลอเพื่อเข้าสู่ภาวะปกติ

 

 

เหตุผลที่ 2 จุดสูงสุดของโควิดสายพันธุ์เดลต้าได้ผ่านพ้นไปแล้ว โดยสายพันธุ์เดลต้ากระทบจีน และกลุ่มประเทศเกิดใหม่มากกว่า ในขณะที่ในสหรัฐฯ ที่มีการฉีดวัคซีนมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้ป่วยที่ต้องเข้าโรงพยาบาลลดลง ก็ได้รับผลกระทบในตลาดแรงงาน โดยเฉพาะการจ้างงานในกลุ่มท่องเที่ยวและการโรงแรมที่ก่อนหน้านี้ที่อัตราการจ้างงานเพิ่มขึ้นกว่า 500,000 ตำแหน่งต่อเดือน แต่ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาเหลือศูนย์ตำแหน่ง อย่างไรก็ดี เราเชื่อว่าโลกเรากำลังเดินหน้าไปยังเป้าหมายที่ถูกต้อง ด้วยการเร่งฉีดวัคซีนในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ต่อจากนี้

 

 

เหตุผลที่ 3 พื้นฐานภาคธุรกิจแข็งแกร่ง กำไรสูงกว่าคาด บริษัทมีความสามารถในการลงทุน จ้างงาน ในขณะที่มีความต้องการใช้จ่ายรออยู่ กำไรของบริษัทในสหรัฐฯ อยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ เช่นเดียวกับในยุโรป และบางประเทศในเอเชีย แน่นอนว่าการที่บริษัทมีกำไรสูง จะช่วยสนับสนุนตลาดแรงงานให้แข็งแกร่ง ค่าจ้างก็มีแนวโน้มที่ปรับสูงขึ้น นำไปสู่การบริโภคที่เพิ่มขึ้น และการที่บริษัทมีกำไรสูง ก็อาจจะนำไปสู่การลงทุนที่มากขึ้นด้วย นอกจากนี้ ภาคการบริโภคยังได้รับอานิสงส์จากอุปสงค์ที่อั้นไว้ โดยการจับจ่ายใช้สอยสินค้าในสหรัฐฯ อยู่ในระดับสูงกว่าก่อนโควิด-19 และต่อจากนี้จะเปลี่ยนแรงขับเคลื่อนเป็นการใช้จ่ายด้านบริการแทน

 

 

เหตุผลที่ 4 นโยบายการคลังขนานใหญ่ ยังสนับสนุนเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสหรัฐฯ อาจจะใช้เวลานานกว่าจะได้รับการอนุมัติจากสภาเสร็จสิ้น แต่ด้วยมูลค่าแผนการลงทุนหลายล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ จะเป็นแรงหนุนสำคัญต่อเศรษฐกิจ นอกจากนี้ เราจะเห็นการกระตุ้นจากภาครัฐฯ ในลักษณะเดียวกันนี้ ในญี่ปุ่น ภายใต้นายกฯ คนใหม่ และยุโรป ภายใต้รัฐบาลเยอรมันชุดใหม่หลังการเลือกตั้งในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยคาดว่าเราจะเห็นการลงทุนของรัฐบาลทั่วโลกอย่างต่อเนื่องในอีกหลายไตรมาสต่อจากนี้

 

 

เหตุผลที่ 5 ความกังวลในเรื่องเงินเฟ้อผ่อนคลายลง สาเหตุที่เงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา มาจากปัจจัยชั่วคราว และเป็นผลมาจากฐานต่ำในช่วงวิกฤตปีที่แล้ว ซึ่งปัจจัยชั่วคราวเหล่านี้จะค่อยๆ หายไป นอกจากนี้ เงินเฟ้อก็ไม่เกิดขึ้นในตลาดสินเชื่อ เนื่องจากยอดปล่อยสินเชื่อจากธนาคาร รวมถึงการกู้ยืมเงินจากภาคครัวเรือนและบริษัทเอกชนไม่ได้เร่งตัวขึ้น ขณะที่เงินเฟ้อที่มีเสถียรภาพระยะยาว หนุนจากตลาดแรงงาน ค่าจ้าง และค่าเช่าที่สูงขึ้นจะค่อยๆปรับสูงขึ้นอย่างช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไปตามวัฎจักรเศรษฐกิจในอีก 2-3 ปีข้างหน้านี้ จึงจะไม่กดดันธนาคารกลางให้รีบขึ้นดอกเบี้ย

 

 

เหตุผลที่ 6 การปรับลดการสนับสนุน จากนโยบายการเงินจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป และมีความยืดหยุ่น หากตัวเลขเศรษฐกิจเริ่มส่งสัญญาณอ่อนแรงลง หรือไม่เป็นไปตามคาด ธนาคารกลางยังมีความยืดหยุ่นในการชะลอแผนการลดการซื้อสินทรัพย์ได้ Lombard Odier คาดว่า FED จะเริ่มลดการซื้อสินทรัพย์ในปี 2565 และเริ่มขึ้นดอกเบี้ยในปี 2566 โดยจะทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยนโยบายการเงินที่จะยังไม่เข้มงวดอย่างรวดเร็วก็จะยังหนุนเศรษฐกิจต่อไปได้

 

 

เหตุผลสุดท้าย จีนมีศักยภาพด้านการเงินและการคลังเพียงพอในการใช้เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะตกต่ำอย่างรุนแรง แม้ว่าในช่วงหลังจะมีประเด็นผิดนัดชำระหนี้ของ Evergrande และการออกมาตรการควบคุมบริษัทเอกชนของทางการจีนที่กดดันตลาด แต่ Lombard Odier ก็เชื่อว่าเศรษฐกิจจีนจะไม่หดตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ (Hard landing) เนื่องจากทางการจีนยังมีเครื่องมืออีกมากที่ช่วยหนุนเศรษฐกิจได้ ทั้งนโยบายการเงิน และนโยบายการคลัง เพื่อที่จะสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ทำให้กิจกรรมเศรษฐกิจจีนชะลอลงแบบ “Soft landing” แทน

บทความน่าสนใจอื่นๆ

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง