ความเชื่อเรื่องเทพยดาอยู่ในสังคมของคนอุษาคเนย์มาช้านาน เราต่างรู้กันดีว่าดินแดนแห่งนี้ อบอวลไปด้วยความรุ่งเรืองของศาสนาและลัทธิมากมาย โดยเฉพาะศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ที่มีความศรัทธาต่อเทพเจ้าอย่างเข้มข้น จนกระทั่งเชื่อว่าโลกของเรานี้เกิดขึ้นจากการเสกสรรค์ของพระพรหม มีพระวิษณุเป็นผู้ปกปักรักษา และพระศิวะเป็นผู้ทำลาย สอดคล้องกับคำสอนในพระพุทธศาสนาที่เชื่อว่าทุกสรรพสิ่งบนโลกล้วนเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปรูปภาพโดย JJ Ying : Unsplashด้วยผู้เขียนเรียนจบด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษามาโดยตรง จากความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับมาจึงพอจะเห็นว่า แม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนไปมากเพียงไร แต่ความเชื่อเรื่องผีสางเทวดายังคงไม่จากเราไปไหน ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้ หากมีคำกล่าวอ้างว่าที่ใดศักดิ์สิทธิ์ เราก็มักจะเห็นคนแห่แหนกันไปมูเตลูขอพรให้สมปรารถนากันอย่างเนืองแน่น เราเชื่อว่าสถานที่ทุกแห่งมีเทวดาและนางฟ้าปกปักรักษาอยู่ เช่นเดียวกับ นครวัด โบราณสถานที่เก่าแก่แห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีรูปสลักนางอัปสรอยู่เป็นพันองค์ เพราะนั่นเป็นสิ่งที่คนละแวกนี้เชื่อกันว่า นางอัปสรเป็นนางฟ้าที่คอยคุ้มครองเทวสถานให้อยู่รอดปลอดภัยรูปภาพโดย Simon : Pixabayนางอัปสรเป็นนางฟ้าที่ปรากฎอยู่ในความเชื่อของทุกพื้นที่ มหาภารตะของอินเดียกล่าวไว้ว่า นางอัปสรเป็นชาวสวรรค์เพศหญิง กำเนิดขึ้นมาจากน้ำในขณะที่กำลังประกอบพิธีกวนเกษียรสมุทร นางอัปสรในความเชื่อของฮินดู เป็นนางบำเรอที่พระพรหมสร้างขึ้นมาให้อยู่ในราชสถานของพระอินทร์ และนางอัปสรมีหลายองค์ แต่ละองค์มีชื่อเรียกต่างกันออกไป และยังเชื่ออีกว่านางอัปสรสามารถแปลงกายได้ และมีทักษะการเต้นรำที่อ้อนช้อยงดงาม เพราะพวกนางถูกกำหนดให้ครองคู่กับเกล่าคนธรรพ์ หรือพวกนักดนตรีแห่งสรวงสวรรค์สำหรับความเชื่อเรื่องนางอัปสรในบ้านเรา ปรากฎในวรรณคดีหลายยุคหลายสมัย หากพอจะจำแบบเรียนภาษาไทยและประวัติศาสตร์ช่วงชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย จะมีการกล่าวถึงเรื่องนี้เอาไว้บ้างว่า ราชสำนักกรุงศรีอยุธยามีความเชื่อเรื่องนางอัปสร ปรากฎอยู่ในอนิรุทธคำฉันท์ เชื่อว่าบรรดานางสนมในราชสำนัก คือนางอัปสรที่จำแลงแปลงกายลงมา มีรูปงามนามเพราะ กิริยาอ่อนช้อยงดงาม มีเสน่ห์ที่สามารถยั่วยวนชายให้หลงใหลได้ตั้งแต่แรกเห็นรูปภาพโดย Sharonang : Pixabayส่วนในสมัยรัชกาลที่ 6 จากพระราชนิพนธ์เรื่องนารายณ์สิบปาง มีการเปรียบเปรยว่านางอัปสรเป็นโสเภณีแห่งสรวงสวรรค์ โดยที่มีพระอินทร์เป็นเจ้านายของนางอัปสรทุกองค์ เรื่องมีอยู่ว่า พระอินทร์กลัวจะมีฤาษีนักพรตมาโค่นเก้าอี้ พูดกันง่าย ๆ คือกลัวจะหลุดตำแหน่งใหญ่โตของสรวงสวรรค์นั่นแหละ พระอินทร์จึงสั่งให้เหล่านางอัปสรไปยั่วยวนพวกฤาษีที่บำเพ็ญเพียรให้ตบะแตก สอดคล้องกับความเชื่อเรื่อง 3 โลกของชาวฮินดู ใครเกิดเป็นอะไรก็ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดี เกิดเป็นมนุษย์อย่าริบำเพ็ญตบะจนทำให้ตัวเองมาวุ่นวายได้บนโลกสวรรค์ นางอัปสรก็เช่นกัน ในเมื่อเป็นข้าทาสบริวารของพระอินทร์แล้ว ก็มีหน้าที่ไปยั่วยวนอย่าให้เป้าหมายของพวกฤาษีชีไพรบรรลุได้รูปภาพโดย Urban_JM : Pixabayที่เล่ามาทั้งหมด เป็นการบอกให้รู้ว่าดินแดนอุษาคเนย์ของเรามีความเชื่อเรื่องผีสางเทวดาอย่างเข้มข้น นางอัปสรของแต่ละชาติมีหน้าตาต่างกันออกไปตามอุดมคติ แต่ที่ปรากฎเป็นภาพชัดเจนคือที่นครวัด การสลักหินให้เป็นรูปหญิงสาวเปลือยอก ที่นักท่องเที่ยวหลายคนชอบไปลูบไปคลำ แต่เมื่อพูดถึงนางอัปสรทีไร เราก็มักนึกถึงสถานที่แห่งนี้เป็นที่แรกอยู่ดี ความเชื่อที่ถูกสั่งสมมาตั้งแต่บรรพบุรุษไม่เคยหายไปไหน แม้กระทั่งในยุค 5G เราก็ยังคงเชื่อเรื่องดวงชะตา เรื่องพรหมลิขิต หรือแม้กระทั่งหลายครั้งเราก็โทษเทวดานางฟ้าว่าทำให้ชีวิตของเราพบเจอแต่ความลำบาก นั่นเพราะความเชื่อทางศาสนากล่อมเกลาให้เราเชื่อเช่นนั้น ไม่ต้องกังวลว่าเราจะคิดอยู่คนเดียว เพราะเรื่องนี้เป็นความเชื่อร่วมกันของคนทั้งอุษาคเนย์รูปภาพหน้าปกโดย Simon : Pixabay