เร่งสอบปมดับคา "รพ.สต." กลับจากฉีดเข็ม 3 ไฟเซอร์ บูสเตอร์โดสไม่ถึงวัน
กรมควบคุมโรค เร่งสอบเจ้าหน้าที่รพ.สต.ที่พิจิตรดับ หลังฉีดไฟเซอร์กระตุ้นเข็ม 3 พบโรคประจำตัวหอบหืด อ้วน ไขมันในเลือดสูง มีประวัติดื่มสุรา
วันที่ 12 ส.ค.2564 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า การฉีดวัคซีนโควิด-19 บูสเตอร์โดสขณะนี้รวม 394,073 โดส แบ่งเป็นบูสต์ด้วยไฟเซอร์ 203,785 โดส และแอสตร้าเซนเนก้าเข็ม 190,288 โดส สำหรับจัดสรรโควตาวัคซีนไฟเซอร์ 7 แสนโดส สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าในพื้นที่ 77 จังหวัด ได้จัดส่งวัคซีนแบ่งเป็น 2 รอบ คือ รอบแรกวันที่ 4-5 ส.ค. จำนวน 442,800 โดส และรอบที่สองทยอยจัดส่งตั้งแต่วันที่ 8 ส.ค. จำนวน 257,200 โดส คาดว่าจะถึงทุกพื้นที่ไม่เกินวันที่ 14 ส.ค. นี้
สำหรับการจัดส่งวัคซีนไปในพื้นที่ทั้ง 2 รอบ ห่างกัน 1 สัปดาห์ รอบแรกมีหลักเกณฑ์โดยให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) สำรวจผู้ที่ต้องการฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็มกระตุ้น และให้ส่งข้อมูลกลับมาภายในวันที่ 30 ก.ค. พบว่าข้อมูลที่สำรวจมีความหลากหลาย เช่น ไม่สอดคล้องกับจำนวนบุคลากรที่ได้รับการฉีดวัคซีนซิโนแวคในฐานข้อมูล และหลายจังหวัดส่งข้อมูลกลับมาเลยเวลาที่กำหนด อีกทั้งมีบุคลากรทางการแพทย์ประมาณ 2 แสนราย ได้รับการฉีดแอสตร้าเซนเนก้าเข็มกระตุ้นไปแล้ว นอกจากนี้ เมื่อเก็บวัคซีนไฟเซอร์ในตู้เย็นอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส จะมีอายุได้ 1 เดือน หากต้องการฉีดวัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็มที่สอง จะต้องฉีดห่างจากเข็มแรก 3 สัปดาห์ ก่อนวัคซีนจะเสื่อมสภาพ
"ดังนั้น การจัดส่งวัคซีนไฟเซอร์ในรอบแรก จึงต้องส่งให้ครบตามจำนวนที่ต้องการในแต่ละพื้นที่ ส่วนจังหวัดที่ไม่ได้แจ้งความประสงค์หรือแจ้งมาไม่ถึงร้อยละ 50 ของจำนวนบุคลากร ก็ยังจัดส่งวัคซีนให้ร้อยละ 50 ของจำนวนบุคลากร เนื่องจากเข้าใจถึงความยุ่งยากในการประสานงาน ส่วนจังหวัดที่ต้องการมากกว่าร้อยละ 50 ถึงร้อยละ 74 ของจำนวนบุคลากร จะจัดสรรให้ตามที่แจ้งมา สำหรับจังหวัดที่แจ้งความประสงค์มาเกินร้อยละ 75 จะจัดส่งให้ร้อยละ 75 ก่อน เพื่อตรวจสอบจำนวนให้ชัดเจน เพราะหากวัคซีนเหลือในพื้นที่ จะยากต่อการบริหารจัดการ ซึ่งหากเปลี่ยนไปฉีดให้กลุ่มเสี่ยง 608 จะไม่สามารถบริหารวัคซีนเข็มที่ 2 ได้ และกลุ่มเสี่ยงก็จะได้รับวัคซีนในรอบ 2 ในสัปดาห์ถัดไปอยู่แล้ว" นพ.โอถาสกล่าว
นพ.โอภาส กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ได้ทยอยส่งวัคซีนไฟเซอร์ให้รพ.ใหญ่ๆ โรงเรียนแพทย์ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ตั้งแต่วันที่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากทราบดีว่าเป็นรพ.ขนาดใหญ่ มีบุคลากรทางการแพทย์เป็นจำนวนมาก และได้จัดส่งวัคซีนที่เหลือแต่ละจังหวัดให้ครบตามจำนวนในระบบฐานข้อมูลแล้ว คาดว่าวัคซีนจะถึงพื้นที่ทั้งหมดไม่เกินวันที่ 14 ส.ค. นี้ ซึ่งได้แนบเอกสารการกระจายวัคซีนไฟเซอร์ 7 แสนโดส ว่าส่งไปที่รพ.ใดบ้าง ส่วนการจัดสรรจากรพ.จังหวัด สสจ. จะจัดสรรไปตามรพ.ต่างๆ ถือเป็นดุลยพินิจของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ยืนยันว่าไม่มีการสต๊อกวัคซีนไว้ที่กรมควบคุมโรค และไม่มีการเลือกฉีดให้กับเคสวีไอพีใดๆ
ส่วนกรณีบุคลากรสาธารณสุข รพ.สต. จ.พิจิตร ได้รับวัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็มสามแล้วเสียชีวิตนั้น กรมควบคุมโรค ขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้เสียชีวิต ได้ส่งทีมสอบสวนควบคุมโรคนครสวรรค์ ร่วมกับทีม รพ.โพทะเล สำนักงานสาธารณสุขอำเภอโพทะเล จ.พิจิตร เข้าสอบสวนสาเหตุการเสียชีวิตในเบื้องต้น ส่งพิสูจน์ทางนิติเวชและจะรวบรวมข้อมูลโดยละเอียด เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาโดยคณะผู้เชี่ยวชาญกรณีเสียชีวิตภายหลังการได้รับวัคซีนโควิด-19 และคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญกรณีเหตุการณ์ไม่พึ่งประสงค์รุนแรงหลังได้รับวัคซีนโควิด คาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้
ข้อมูลเบื้องต้นของผู้เสียชีวิต เป็นเพศชาย อายุ 44 ปี มีภาวะอ้วน (BMI 31) มีโรคประจำตัว หอบหืดและไขมันในเลือดสูง มีประวัติดื่มสุรา และฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 เป็นวัคซีนไฟเซอร์ ในช่วงบ่ายวันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมา หลังได้รับวัคซีนและสังเกตอาการ 30 นาทีแล้วไม่มีอาการใดๆ จึงขับขี่จักรยานยนต์กลับที่พักต่อมา ช่วงเช้าของวันที่ 11 ส.ค.ได้มีเพื่อนร่วมงานไปเรียก และทราบว่าเสียชีวิตภายในที่พัก จึงได้แจ้งไปยังสภ.โพทะเล และได้เก็บตัวอย่างตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ผลไม่พบเชื้อและได้ส่งร่างไปชันสูตรหาสาเหตุการเสียชีวิต