รีเซต

สำลักกำมะถันและหนาวตาย นักวิทย์พบแล้วไดโนเสาร์สูญพันธุ์อย่างไร

สำลักกำมะถันและหนาวตาย นักวิทย์พบแล้วไดโนเสาร์สูญพันธุ์อย่างไร
ข่าวสด
22 มีนาคม 2565 ( 16:15 )
297
สำลักกำมะถันและหนาวตาย นักวิทย์พบแล้วไดโนเสาร์สูญพันธุ์อย่างไร

ข่าววันนี้ 22 มี.ค. เดลีเมล์รายงานว่า การสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์และสิ่งมีชีวิตยุคดึกดำบรรพ์นั้นมีสาเหตุมาจากก๊าซพิษในอากาศและภูมิอากาศหนาวเหน็บยาวนานหลังการชนของอุกกาบาต แต่สภาวะดังกล่าวก็ก่อให้เกิดสิ่งมีชีวิตแบบใหม่ในยุคถัดมาด้วย

 

ข้อสรุปดังกล่าวมาจากคณะนักวิจัยมหาวิทยาลัยเซนต์ แอนดรูวส์ ที่สก็อตแลนด์ ซึ่งศึกษาสภาพภูมิประเทศบริเวณหุบอุกกาบาตชิกชูลุบอยู่ใต้คาบสมุทรยูกาตันในประเทศเม็กซิโก

 

 

คณะนักวิจัยค้นพบว่า ก๊าซกำมะถันปริมาณมหาศาลที่เกิดจากการพุ่งชนโลกของอุกกาบาตนั้นพวยพุ่งขึ้นในชั้นบรรยากาศและถูกกระแสลมพัดปนเปื้อนไปทั่วโลกกินเวลานานหลายปี ทำให้สิ่งมีชีวิตเผชิญกับอากาศที่เป็นพิษและอุณหภูมิที่ลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว

 

สภาพแวดล้อมข้างต้นเป็นปัจจัยหนึ่งที่นำไปสู่การสูญพันธุ์ของเหล่าไดโนเสาร์เมื่อราว 66 ล้านปีก่อน โดยนักวิจัยพบด้วยว่าโอกาสที่จะเกิดสภาพดังกล่าวขึ้นมาได้นั้นน้อยมาก ถือว่าไดโนเสาร์นั้นโชคร้ายมากจริงๆ

 

 

แม้ผลกระทบที่เกิดจากอุกกาบาตขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 9.6 กิโลเมตรดังกล่าวจะทำลายล้างสิ่งมีชีวิตบนโลกไปถึงร้อยละ 75 แต่การชนนี้เป็นสาเหตุหลักที่นำมาซึ่งวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต ความหลากหลายทางชีวภาพที่มากขึ้น ในจำนวนนี้ เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมด้วย

 

ดร.อูบรีย์ เซอร์เคิล ผู้เชี่ยวชาญจากสำนักวิชาสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศโลก ม.เซนต์ แอนดรูวส์ กล่าวว่า การชนของอุกกาบาตลูกนี้ก่อให้เกิดความเสียหายมากกว่าปกติ เนื่องจากพุ่งจุดที่เป็นทะเลที่อุดมไปด้วยกำมะถันและก๊าซพิษหลายชนิดในยุคนั้น

 

 

การศึกษาดังกล่าวยังเป็นการวิจัยร่วมกันกับมหาวิทยาลัยซีราคิวส์ นครนิวยอร์ก ม.เท็กซัส เอแอนด์เอ็ม ประเทศสหรัฐอเมริกา และม.บริสตัล ประเทศอังกฤษ เพื่อค้นหาสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาหลังการชนของอุกกาบาตลูกนี้

 

การค้นพบข้างต้นสอดคล้องกับข้อสันนิษฐานของนักวิทยาศาสตร์หลายกลุ่มที่มองว่า กำมะถัน น่าจะเป็นสารพิษที่นำไปสู่การสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตบนโลกในยุคครีเตเชียส (145-66 ล้านปีก่อน) และการเริ่มต้นของยุคพาลีโอจีน

 

 

โดยสิ่งที่นำไปสู่สมมติฐานและข้อสรุปดังกล่าวเป็นไอโซโทปที่หาได้ยากของสารกำมะถันตามหินที่พบได้ตามแม่น้ำบราโซส รัฐเท็กซัส ซึ่งนักวิทยาศาสตร์พบว่าเป็นสารกำมะถันที่มาจากการพุ่งชนของอุกกาบาตในยุคครีเตเชียส

 

ดร.เจมส์ วิตต์ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์โลก ม.บริสตัล กล่าวว่า ข้อมูลของคณะวิจัยเป็นหลักฐานทางตรงชิ้นแรกที่บ่งชี้ถึงสารกำมะถันปริมาณมหาศาลที่เกิดขึ้นหลังการชนของอุกกาบาตที่หุบอุกกาบาตชิกชูลุบ

 

รายงานระบุว่า สารกำมะถันในชั้นบรรยากาศสตราโตสเฟียร์ (10-50 กม. ระดับที่เครื่องบินพาณิชย์บินอยู่) มีคุณสมบัติทำให้แสงอาทิตย์ที่เดินทางเข้ามานั้นกระจายตัวออกไป ทำให้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อทำให้โลกเย็นลงนั้นยาวนานผิดปกติหลายปีจากการพุ่งชน

 

นอกจากนี้ ยังนำไปสู่การเกิดฝนกรด พืชพรรณ และแพลงก์ตอนนานาชนิดตายจากการสังเคราะห์แสงได้ไม่เพียงพอ นำไปสู่ภาวะอดอยากและการพังทลายของห่วงโซ่อาหาร เนื่องจากพืชและแพลงก์ตอนเป็นพื้นฐานของห่วงโซ่ดังกล่าว

 

นายคริสโตเฟอร์ จูเรียม ผู้เชี่ยวชาญจากคณะวิทยาศาสตร์โลกและสิ่งแวดล้อม ม.ซีราคิวส์ กล่าวว่า การชนของอุกกาบาตก่อให้เกิดฝุ่น ควันพิษ และไฟป่ารุนแรง ทำให้โลกปรับสภาพสมดุลด้วยการทำให้สภาพแวดล้อมเย็นลง

 

ทว่า ละอองกำมะถันที่ฟุ้งในอากาศทำให้สภาพหนาวเย็นมีความยาวนานผิดปกติ รวมถึงสร้างความผิดปกติอื่นๆ ให้กับห่วงโซ่อาหาร นำไปสู่การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของสิ่งมีชีวิต

 

หลักฐานชิ้นแรกนี้ยังพิสูจน์ด้วยว่า สารกำมะถันที่เป็นปัจจัยหลักตามสมมติฐานเดิมของนักวิทยาศาสตร์นั้นไม่ได้มาจากการระเบิดของภูเขาไฟแต่มาจากการพุ่งชนของอุกกาบาตเป็นหลัก

 

ทั้งนี้ ยุคครีเตเชียส เป็นยุคสุดท้ายของมหายุคมีโซโซอิก เป็นช่วงที่โลกมีภูมิอากาศอบอุ่น เต็มไปด้วยสัตว์เลื้อยคลานและไดโนเสาร์ ต่อมาเกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ และเข้าสู่มหายุคซีโนโซอิก ซึ่งก็คือ มหายุคที่มนุษย์มีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง