รีเซต

สุดตระการตา 'โนราคล้องหงส์' เปิดมหกรรมยางพารา นครฯ นวัตกรรม (ภาพชุด)

สุดตระการตา 'โนราคล้องหงส์' เปิดมหกรรมยางพารา นครฯ นวัตกรรม (ภาพชุด)
มติชน
9 เมษายน 2565 ( 23:18 )
206

งดงามอลังการสมคำร่ำลือ สำหรับการแสดงโนรา เอกลักษณ์นาฏศิลป์ถิ่นใต้ที่เพิ่งได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนมรดกโลกเมื่อ พ.ศ.2564 โดยในช่วงเย็นย่ำของวันนี้ เสาร์ที่ 9 เมษายน 2565 ในพิธีเปิดงาน มหกรรมยางพารา 2564 “นครฯ แห่งนวัตกรรมยางพารา” ณ สนามการยางแห่งประเทศไทย เขตภาคใต้ตอนกลาง อ.ช้างกลาง จ.นครศรีธรรมราช ‘คณะโนราห์เมืองคอน’ สะกดผู้ชมด้วยการแสดงชุด “โนราคล้องหงส์” ซึ่งถือกันว่าเป็นศิลปะชั้นสูง ผู้ร่ายรำต้องผ่านการฝึกหัดมาเป็นอย่างดี

 

ข้อมูลจาก ‘กระทรวงวัฒนธรรม’ ระบุว่า การรำคล้องหงส์ ใช้รำเฉพาะในพิธีครอบเทริดหรือผูกผ้าใหญ่และพิธีเข้าโรงครูเท่านั้น เพื่อให้พิธีสมบูรณ์ในการรำใช้ผู้รำ 8 คน โดยโนราใหญ่เป็น ‘พญาหงส์’ โนราคนอื่น ๆ อีก 6 คนเป็นหงส์ และผู้รำเป็นพราน 1 คน วิธีรำสมมติท้องเรื่องเป็นสระอโนดาต จากนั้นจึงร้องบททำนองกลอนพญาหงส์ ตอนที่หงส์กำลังร้องกลอนบททำนองพญาหงส์ พรานจะออกมาด้อม ๆ มอง ๆ เพื่อเลือกคล้องพญาหงส์ พอจบกลอนพรานเข้าจู่โจมไล่คล้องหงส์ ดนตรีเชิด หงส์วิ่งหนี เป็นรูป “ยันต์เต่าเลือน” นายพรานไล่คล้องได้พญาหงส์ พญาหงส์ใช้สติปัญญาจนสามารถหลุดพ้นจากบ่วง เป็นการจบการรำ เชื่อกันว่าการรำคล้องหงส์ในโรงครูทั้งตัวพญาหงส์คือโนราใหญ่ และผู้แสดงเป็นพราน มีครูโนราเข้าทรงด้วย

 

ต่อไปนี้คือภาพชุด ‘โนราคล้องหงส์’ ในพิธีเปิดมหกรรมยางพารา 2564 อันสุดตระการตา

 

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง