ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้ประกาศคลายล็อกพระราชกำหนดฉุกเฉิน ระยะที่ 2 โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา เพื่อให้สถานประกอบการต่าง ๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า ฟิตเนส และกิจการค้าอื่น ๆ เปิดให้บริการได้ แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการหลักและมาตรการรองที่ทางราชการกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด ในการนี้ เพื่อให้การควบคุมโรคของการคลายล็อก ระยะที่ 2 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ศบค. จึงได้พัฒนาแพล์ทฟอร์ม “ไทยชนะ” ขึ้นมา เพื่อช่วยให้การสอบสวนโรคกระทำได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว รวมทั้งป้องกันและลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายโรคในวงกว้างเพราะระบบหลังบ้านของ “ไทยชนะ” จะบันทึกการเข้าใช้บริการของแต่ละคนผ่านการ Check-in และ Check-out ก่อนและหลังการใช้บริการสถานประกอบการ โดยประชาชนจะได้รับการแจ้งเตือนหากพบความเสี่ยงในการติดเชื้อจากการเดินทางไปยังสถานที่ซึ่งเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้ป่วยรายใหม่ ซึ่งประชาชนสามารถนำข้อมูลที่ได้รับการแจ้งเตือนไปเป็นหลักฐาน เพื่อเข้ารับการตรวจคัดกรองทางห้องปฏิบัติการ “ฟรี” จากการสำรวจตรวจสอบแพลท์ฟอร์ม “ไทยชนะ” ที่เปิดตัวครั้งแรกบนเว็บไซต์ www.thaichana.com พบว่า เนื้อหาภายในเว็บไซต์ประกอบด้วยเมนูหลัก 3 เมนู คือ ค้นหาร้านค้า ลงทะเบียนร้านค้าใหม่ และจัดการข้อมูลร้านค้า นอกจากนี้ ยังมีคู่มือการลงทะเบียนร้านค้า เพื่อให้สถานประกอบการศึกษาและลงทะเบียนได้อย่างถูกต้อง รวมทั้ง Q&A คำถามที่พบบ่อยในการใช้งานแพล์ทฟอร์มไทยชนะ ทั้งนี้ เว็บไซต์ออกแบบมาเพื่อผู้ใช้งาน 2 กลุ่ม โดยแต่ละกลุ่มสามารถใช้ประโยชน์จากเว็บไซต์ ดังนี้ กลุ่มที่ 1 สถานประกอบการ จะต้องลงทะเบียนที่เมนู “ลงทะเบียนร้านค้าใหม่” เพื่อลงทะเบียนสถานประกอบการ และรับ QR Code เพื่อนำไปติดตั้งบริเวณด้านหน้าทางเข้า-ออกสถานประกอบการ เพื่อให้ผู้เข้าใช้บริการ Check-in และ Check-out ก่อนและหลังการใช้บริการ โดยแพล์มฟอร์มไทยชนะได้เปิดให้เจ้าของกิจกรรม หรือผู้ได้รับมอบหมายที่อยู่ในกลุ่มกิจการที่ได้รับอนุญาตจากทางรัฐให้เปิดดำเนินการได้ โดยเริ่มลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2563 เวลา 06.00 น. ซึ่งภายหลังจากการลงทะเบียนแล้ว สถานประกอบการสามารถเข้ามาแก้ไขข้อมูลได้ที่เมนู “จัดการข้อมูลร้านค้า” นอกจากนี้ สถานประกอบการต้องปฏิบัติตามมาตรการควบคุมหลัก 5 มาตรการ รวมทั้งปฏิบัติตามมาตรการเสริม ซึ่งเป็นมาตรการระยะยาว และเชิญชวนให้ประชาชน Check-in และ Check-out ทุกครั้งก่อนและหลังการใช้บริการ ทั้งนี้ หากผู้เข้าใช้บริการไม่สแกน QR Code เพื่อ Check Out ภายหลังการใช้บริการ จะทำให้ปริมาณความหนาแน่นของผู้ใช้บริการสะสม ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ใช้บริการรายใหม่ ไม่กล้าเข้าใช้บริการก็เป็นได้ ดังนั้น เป็นหน้าที่สถานประกอบการที่ต้องสร้างความรับรู้ให้แก่ผู้เข้าใช้บริการในการ Check-in และ Check-out นอกจากนี้ สถานประกอบการที่ไม่ควบคุมจำนวนผู้ใช้บริการ ให้เข้ามามากเกินกว่าจำนวนที่ลงทะเบียนไว้ อาจมีผลต่อการประเมินของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งสถานประกอบการอาจถูกปรับ และสั่งปิดสถานประกอบการเป็นการชั่วคราว ทั้งนี้ เป็นไปตามพระราชบัญญัติควบคุมโรคติดต่อร้ายแรง พ.ศ. 2558 มาตรา 35 กลุ่มที่ 2 ประชาชน ไม่ต้องลงทะเบียนบนเว็บไซต์ไทยชนะ แต่สามารถตรวจสอบความแออัดหนาแน่นของสถานประกอบการต่าง ๆ ที่ได้ลงทะเบียนไว้ เพื่อประกอบการตัดสินใจก่อนเดินทางไป โดยเข้าไปที่เมนู “ค้นหาร้านค้า” โดยระบบจะแสดงภาพความหนาแน่นของผู้เข้าใช้บริการ ทั้งนี้ หากประชาชนมีความประสงค์จะเดินทางไปยังสถานประกอบการใด จะต้องสแกน QR Code ที่สถานบริการ เพื่อ Check-in และ Check-out ทุกครั้งก่อนและหลังการใช้บริการ ในวันแรกของการใช้มาตรการผ่อนคลาย ระยะที่ 2 เราได้มีโอกาสเดินทางไปศูนย์การค้าใกล้ที่ทำงาน เพราะตรวจสอบแล้วว่า ความหนาแน่นของผู้ใช้บริการไม่มาก เมื่อเดินทางไปถึงศูนย์การค้าแล้ว เราต้องสแกน QR Code บริเวณด้านหน้า เพื่อ Check-in หรือลงทะเบียนการเข้าใช้บริการ โดยสแกน QR Code ด้วยกล้องของสมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต จากนั้นระบบจะแสดงผล “รับข้อตกลงและความยินยอม” หากอ่านแล้วเข้าใจก็กด “ถัดไป” ขั้นตอนต่อมา คือ การลงทะเบียนด้วยหมายเลขโทรศัพท์ แล้วกด “ยืนยัน” เป็นอันสิ้นสุดขั้นตอนการ Check-in ก่อนเข้าใช้บริการในศูนย์การค้า นอกเหนือจากการ Check-in ก่อนเข้าศูนย์การค้าแล้ว หากเราเดินเข้า-ออกร้านค้าใดแล้ว ก็ต้อง Check-in และ Check-out ทุกร้านค้าด้วย (เราว่าขั้นตอนนี้ยุ่งยากเกินไปสำหรับผู้ใช้งาน น่าจะมีการพัฒนาส่วนนี้) สุดท้ายจนกระทั่งออกจากศูนย์การค้าต้องสแกน QR Code เพื่อ Check-out หลังใช้บริการศูนย์การค้า สำหรับวิธีการ Check out คล้ายกับการ Check-in คือ รับข้อตกลง แล้วลงทะเบียนด้วยหมายเลขโทรศัพท์ จากนั้นทำแบบประเมินหลังใช้บริการ เป็นอันเสร็จสิ้นขั้นตอนการใช้งาน ซึ่งการทำแบบประเมินนี้เป็นเสมือนการรีวิวด้านสุขอนามัยของแต่ละสถานประกอบการ โดยข้อมูลการรีวิวจะไปปรากฏในเว็บไซต์ไทยชนะ ในเว็บเพจส่วนค้นหาร้านค้า ซึ่งประชาชนสามารถเข้าถึง และพิจารณาก่อนตัดสินใจเดินทางไปยังสถานประกอบการต่าง ๆ ทั้งนี้ หากสถานประกอบการได้รับการรีวิวจากผู้ใช้บริการว่า สุขอนามัยไม่ดี หรือผู้เข้าใช้บริการหนาแน่น ก็ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางไปในช่วงเวลานั้น ๆ เพราะสุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั้งนี้ จนกว่าสถานประกอบการจะปรับปรุงหรือแก้ไขให้ปลอดภัยสำหรับพนักงานและผู้ใช้บริการ อย่างไรก็ดี แม้สถานประกอบการต่าง ๆ จะกลับมาเปิดดำเนินการได้อีกครั้ง แต่ต้องไม่ลืมว่า เป็นการเปิดกิจการท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคระบาดโควิด-19 ดังนั้น ผู้เข้าใช้บริการ และสถานประกอบการยังคงต้องปฏิบัติตาม "5 มาตรการหลัก ป้องกันโควิด-19" คือ ล้างมือบ่อย ๆ ใส่หน้ากากตลอดเวลา เว้นระยะห่างเสมอ ทำความสะอาดสถานที่ และอย่าให้แออัด แพล์ทฟอร์ม “ไทยชนะ” ถือเป็น Official Platform ของรัฐบาล ซึ่งเริ่มต้นจากเว็บไซต์ไทยชนะ ก่อนที่จะพัฒนาไปสู่แพล์ทฟอร์มอื่น ๆ ต่อไป โดยพัฒนาขึ้นเพื่อขอความร่วมมือให้สถานประกอบการ และประชาชนได้ใช้งานอย่างจริงจัง ทั้งนี้ ก็เพื่อสุขภาพอนามัยของส่วนร่วม ซึ่งสถานประกอบการและประชาชนจะได้รับทราบถึงปริมาณความหนาแน่นของสถานที่ ก่อนตัดสินใจเดินทางไปหรือไม่ไป ด้วยเหตุที่ ทุกก้าวย่างที่ออกจากบ้านมีความเสี่ยง ทุกฝ่ายต่างไม่ทราบได้เลยว่า ใครบ้างที่เป็นผู้ป่วย หรือเป็นพาหะนำโรค ซึ่งแพล์มฟอร์ม "ไทยชนะ" จะช่วยให้การสืบสวนโรคเป็นไปอย่างรวดเร็ว และชะลอการแพร่ระบาดในระลอกต่อไปได้ ... สังคมปลอดภัย ประเทศไทยชนะ เครดิตภาพประกอบ ภาพปกจากเว็บไซต์ไทยชนะ ภาพที่ 1 - 4 จากเว็บไซต์ไทยชนะ ภาพที่ 5 - 6 จากการเช็คอิน QR Code แพล์ทฟอร์มไทยชนะ