ไวรัสโคโรนา : คนจนนับพันล้านคนทั่วโลกจะหาน้ำสะอาดที่ไหนล้างมือ
ในขณะที่ยุโรปและอีกหลายประเทศที่พัฒนาแล้วทั่วโลกปิดพรมแดนของตัวเองเพื่อยับยั้งการระบาดของไวรัสโคโรนา ยังมีผู้คนอีกหลายล้านที่ไม่สามารถปฏิบัติตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) ได้
ผู้คนราวพันล้านคนหรือคิดเป็น 30 เปอร์เซ็นตของประชากรโลกยังอาศัยอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ย่ำแย่ บ้านเรือนในชุมชนเหล่านี้มักมีระบบระบายอากาศ ท่อประปา และการระบายน้ำที่ไม่ดีซึ่งส่งผลให้เชื้อโรคแพร่กระจายได้ง่ายดาย
เซเลสทีน อาไฮอัมโบ อายุ 43 ปี อาศัยอยู่กับสามีและลูก 6 คนในสลัมมูคูรู กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา บ้านที่มีเพียงห้องเดียวของเธอแสนจะคับแคบ ไม่ว่าจะขยับตัวไปทางไหนก็มักจะชนกันเสมอ ที่แย่กว่านั้นคือบ้านนี้ไม่มีทั้งน้ำและไฟฟ้า
เซเลสทีนบอกกับบีบีซีว่าถ้าใครคนใดคนหนึ่งในบ้านป่วย ก็เป็นไปไม่ได้เลยที่จะแยกกักโรค
"พวกเราไม่มีพื้นที่ ไม่มีห้องหับ รัฐบาลควรนำคนที่ติดเชื้อไปโรงพยาบาล" เธอบอก
- ปัญหาความยากจนในโลกบรรเทาลงแล้วจริงหรือ
- ไวรัสโคโรนา : โลกรับมืออย่างไรแล้วบ้าง หลังหลายประเทศสั่งปิดเมือง ห้ามรวมตัว และจำกัดการเดินทาง
- โคโรนา: ทวีปแอฟริการับมือกับไวรัสนี้อย่างไร
- ไวรัสโคโรนา : ผู้นำเยอรมนีประเมินประชากร 58 ล้านคนในประเทศอาจติดโควิด-19
สามีของเธอทำงานเป็นช่างไม้ มีรายได้ประมาณ 400 ชิลลิงเคนยา (124 บาท) ต่อวัน พวกเขาต้องเสียเงินประมาณ 50 สตางค์ เพื่อซื้อน้ำ 10 ถัง แต่ปัจจัยพื้นฐานเช่นนี้ไม่ได้มีเป็นประจำ วันใดที่ขาดไป ทุกคนก็ต้องงดอาบน้ำไปก่อน
ในสลัมแห่งนี้มีผู้อยู่อาศัยกว่า 5 แสนคน บ้านเรือนของพวกเขาสร้างมาจากกระดาษแข็งหรือบางหลังก็ใช้แผ่นพลาสติก คนที่มีฐานะดีขึ้นมาหน่อยจะมีบ้านสังกะสี ที่นี่ไม่มีบริการเก็บขยะ ขยะส่วนใหญ่ถูกทิ้งลงแม่น้ำ
แมรี คิลลีน ผู้อำนวยการของ เมอร์ซี มูคูรู ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลในท้องถิ่นที่บริหารโรงเรียนประถม 4 แห่ง บอกว่าราวครึ่งหนึ่งของนักเรียนกว่า 7,000 คน ไม่มีเงินซื้อสบู่ใช้
ปิแอร์ เอ็มเปเล อดีตผู้แทนขององค์การอนามัยโลกที่เคยทำงานกับหลายประเทศในแอฟริกากลางและใต้ กล่าวว่า ที่พักอาศัยในประเทศเหล่านี้มีความแออัดคับแคบอย่างมาก บางแห่งมี 12 คน อยู่ร่วมหลังคาเดียวกัน "การกักตัวเองมันเป็นไปไม่ได้เลย"
ไม่ใช่แค่เพียงในเขตสลัมเท่านั้นที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ เมื่อปีที่แล้ว เมืองใหญ่อย่างโยฮันเนสเบิร์กของแอฟริกาใต้ และเมืองเจนไนของอินเดียก็เผชิญปัญหานี้เช่นกัน
- การท่องเที่ยว : สลัมอินเดีย แหล่งท่องเที่ยวที่ฮิตกว่าทัชมาฮาล
- น้ำจืดกำลังจะหมดไป เราจะแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำได้อย่างไร
- ภัยแล้ง : งานวิจัยชี้ ประชากรโลก 2.6 พันล้านคน อาศัยอยู่ในประเทศที่ขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรง
ชานธี สาสินธณัฐ หญิงลูกสองชาวอินเดียที่อาศัยอยู่ชานเมืองเจนไน เล่าให้บีบีซีฟังว่า "ถ้าเกิดน้ำขาดแคลนแบบปีที่แล้ว ก็คงเป็นเรื่องยากที่จะล้างมือได้บ่อย ๆ"
ครอบครัวของชานธีเอาชีวิตรอดจากวิกฤตครั้งก่อนมาได้ด้วยการซื้อน้ำสำหรับใช้ทำเกษตรกรรมจากบ่อที่อยู่ห่างออกจากบ้านไปไกลถึง 50 กิโลเมตร
ย่านนี้ยังมีห้องน้ำสาธารณะและจุดจ่ายน้ำที่น้อยมาก ชานธียอมรับว่าผู้คนไม่ค่อยปฏิบัติตามคำแนะนำด้านสุขอนามัยจากภาครัฐเท่าไหร่นัก
"คนบนรถไฟไอห่างจากหน้าคุณแค่ไม่กี่นิ้ว แล้วไม่เอามือปิดปากด้วย ถ้าฉันออกปากตำหนิ บางคนก็ขอโทษ แต่บางคนชวนหาเรื่องทะเลาะ" ชานธีเล่า
เพื่อนและญาติมาเยี่ยมบ้านทุกวัน ชานธีเองยังไม่แน่ใจว่าจะลดการติดต่อกับคนอื่น ๆ อย่างไรดี
- ภัยแล้ง : ด้วงทะเลทรายอาจช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำได้อย่างไร
- กฎหมายสัญชาติฉบับใหม่ของอินเดียจุดชนวนจลาจลที่เลวร้ายที่สุดในกรุงนิวเดลีในรอบหลายสิบปี
- ไวรัสโคโรนา : ผู้ติดโรคโควิด-19 รายแรกในอินเดีย เผยประสบการณ์หมอปิดบังข้อมูล
"ฉันบอกให้ลูก ๆ ล้างมือช้า ๆ ให้สะอาดทุกซอกทุกมุมทุกครั้งเวลากลับเข้ามาในบ้าน แม้ว่าจะออกไปแค่ห้านาที ครอบครัวเราออกไปเที่ยวน้อยกว่าเดิมมากค่ะ"
ป๊อปปี แลมเบอร์ตัน อาจารย์ด้านบริการสาธารณสุขจากมหาวิทยาลัยกลาสโกลว์ ประเทศอังกฤษ กล่าวว่า รัฐบาลต้องเป็นผู้เร่งดำเนินการแก้ปัญหา
"บางรัฐบาลก็ไม่มีเงินเก็บในคลังมาก แต่พวกเขาก็ไม่ลำบากมากเท่ากับประชาชน ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสแบบนี้ พวกเขาต้องสามารถแยกผู้คนในชุมชนทั้งหมดได้"
แม้องค์การอนามัยโลกจะกำลังให้ความร่วมมือกับรัฐบาลของหลายประเทศในการบริหารจัดการกับวิกฤติครั้งนี้ แต่ปิแอร์ เอ็มเปเล อยากให้องค์การอนามัยโลกมีแผนการที่ใช้งานได้จริงกับประเทศกำลังพัฒนาด้วย
นอกจากนี้ เขายังเรียกร้องให้มีความร่วมมือมากขึ้นอีกระดับกับผู้นำชุมชนก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงในแอฟริกา
"โชคยังดีที่เชื้อไวรัสตัวนี้แพร่ระบาดช้าในทวีปแอฟริกา ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่คือคนที่เดินทางกลับมาจากประเทศจีนหรือทวีปยุโรป เราเองก็ยังไม่ทราบว่าทำไมมันจึงแพร่ระบาดช้า"
องค์การอนามัยโลกกล่าวว่า การแพร่ระบาดระหว่างคนในแอฟริกาที่ไม่มีประวัติการเดินทางออกนอกประเทศยังอยู่ในระดับต่ำ และมาตรการควบคุมการระบาดคือวิธีการที่เหมาะสม
ทว่าในสลัมมูคูรู กลับไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปมากนักในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา อาไฮอัมโบบอกว่าเธอรู้สึกสิ้นหวัง สิ่งที่เธอสามารถทำได้อย่างเดียวคือ "สวดอ้อนวอนต่อพระเจ้าขอให้พระองค์ทรงช่วยเหลือเราและเพื่อนบ้านให้รอดพ้นจากไวรัสด้วยเถิด"