รีเซต

แม่น้ำโขง วันเดียวขึ้นเกือบ 2 ม. ฝนตกหนักต่อกัน ชาวบ้านทุกข์ ปลาในกระชังตายเกลื่อน

แม่น้ำโขง วันเดียวขึ้นเกือบ 2 ม. ฝนตกหนักต่อกัน ชาวบ้านทุกข์ ปลาในกระชังตายเกลื่อน
มติชน
26 กรกฎาคม 2564 ( 11:03 )
49
แม่น้ำโขง วันเดียวขึ้นเกือบ 2 ม. ฝนตกหนักต่อกัน ชาวบ้านทุกข์ ปลาในกระชังตายเกลื่อน

 

เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระดับน้ำโขงที่ไหลผ่านจังหวัดหนองคาย วันนี้ยังคงขึ้นฉับพลันอย่างต่อเนื่องอีกวัน จากมวลน้ำที่ไหลมาจากตอนเหนือทั้งไทย และประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเกิดจากฝนตกหนัก ติดต่อกันหลายวัน ประกอบกับเขื่อนไชยะบุรี สปป.ลาว มีการเร่งระบายน้ำออกจากเขื่อน

 

ล่าสุดระดับน้ำโขงวัดที่ส่วนอุทกวิทยาหนองคาย กรมทรัพยากรน้ำ มีระดับอยู่ที่ 6.95 เมตร เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของเมื่อวานนี้ถึง 1.91 เมตร ต่ำกว่าตลิ่ง 5.25 เมตร ถือเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอีกวัน ระดับน้ำโขงที่ไหลผ่านจังหวัดหนองคาย 2 วันเพิ่มขึ้นถึง 3.40 เมตร และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากวันนี้ระดับน้ำโขงที่สถานีเชียงคาน จังหวัดเลย วันนี้เพิ่มขึ้นถึง 40 ซม. ซึ่งคาดว่าไหลมาถึงจังหวัดหนองคาย ภายใน 18-24 ชม.นี้

 

 

 

 

จากระดับน้ำโขงที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เจ้าของโป๊ะแพ เรือ และเกษตรกรผู้เลี้ยงกระชังปลาที่เลี้ยงในแม่น้ำโขง ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด ปรับให้มีระดับที่เหมาะสมกับระดับน้ำที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย

 

 

นอกจากนี้ ยังพบว่าจากระดับน้ำโขงที่ขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ปลากระชังปรับตัวไม่ทันตาย น็อกน้ำตายเป็นจำนวนมาก เฉลี่ยกระชังละ 30-40 ตัว/วัน โดยเฉพาะปลากระชังขนาดใหญ่น้ำหนัก 8 ขีด-1.3 กก. พร้อมที่จะจับขายที่เลี้ยงมาประมาณ 5 เดือน จะมีอัตราการตายสูงกว่าปลาขนาดเล็ก เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชังทำได้แค่ลดอาหาร เสริมวิตามินเพื่อให้ปลาแข็งแรง ไม่เครียดแต่ช่วยอะไรไม่ได้มาก และต้องคอยตักปลาที่ใกล้ตายไปขายในราคากิโลกรัมละ 30 บาท

 

 

 

 

ส่วนปลาที่ตายก็จะนำมาทำปลาร้า ขายได้ในราคาเพียง 12 กก./ 200 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ถูกที่สุดเท่าที่เคยมีมา จากเดิมที่เคยขายได้ไม่ต่ำกว่า 12 กก./ 300-350 บาท โดยพ่อค้า-แม่ค้าที่เข้ามารับซื้อบอกขายยาก จากผลกระทบของโรคโควิด-19 คนไม่ค่อยมาเดินตลาด เช่นเดียวกับราคาปลากระชังที่มีราคาเพียงกิโลกรัมละ 58 บาท จากเดิมที่ราคาจะไม่ต่ำกว่า 60 บาท/กก. ทำให้เกษตรกรหลายรายหลังจับปลาแล้วก็หยุดการเลี้ยงชั่วคราวก่อน รอยจนกว่าสถานการณ์น้ำโขงจะดีขึ้น สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลายขึ้น และราคาปลาสูงขึ้นแล้วค่อยตัดสินใจกลับมาเลี้ยงอีกครั้ง

 

 

นายประเสริฐ ลุนรินทร์ อายุ 63 ปี เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชังบ้านพร้าวใต้ ต.หินโงม อ.เมือง จ.หนองคาย บอกว่า ช่วงที่น้ำโขงขึ้นฉับพลันจะทำให้ปลากระชังที่เลี้ยงปรับตัวไม่ทัน ตายเป็นจำนวนมาก ซึ่งแต่ละกระชังจะเลี้ยงปลาประมาณ 2,500 ตัว ช่วงนี้จะตายเฉลี่ย 30-40 ตัว/วัน ปลาที่ตายจะเป็นปลาขนาดใหญ่เลี้ยงมาประมาณ 5 เดือน พร้อมจับขายแล้ว น้ำหนัก 8 ขีด-1.3 กก. ตอนนี้ทำได้แค่ตักปลาที่ใกล้ตายส่งให้พ่อค้า-แม่ค้าขายในราคากิโลกรัมละ 30 บาท ส่วนปลาที่ตายก็จะนำมาทำปลาร้า ขายในราคา 12 กิโลกรัม/200 บาท ซึ่งถือว่าถูกมากจากเดิมที่เคยขายได้ 12 กิโลกรัม/300-350 บาท โดยพ่อค้า-แม่ค้าบอกเป็นผลกระทบจากโรคโควิด-19

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง