รีเซต

กมธ.พบ 'กรมการข้าว' งบงอก 1.5 หมื่นล้าน ตัวแทนแจง ใช้เงินจ่ายอุดหนุนเกษตรเยอะ

กมธ.พบ 'กรมการข้าว' งบงอก 1.5 หมื่นล้าน ตัวแทนแจง ใช้เงินจ่ายอุดหนุนเกษตรเยอะ
มติชน
17 มิถุนายน 2565 ( 16:58 )
93

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 17 มิถุนายน ที่รัฐสภา นพ.บัญญัติ เจตนจันทร์ ส.ส.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) พร้อมด้วย นายสัณหพจน์ สุขศรีเมือง ส.ส.นครศรีธรรมราช นางกรณิศ งามสุคนธ์รัตนา ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 แถลงผลการประชุม กมธ.เมื่อวานนี้ (16 มิถุนายน) ว่าการประชุมครั้งที่ 9/2565 ได้พิจารณางบประมาณภาพรวมของ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ งบประมาณทั้งสิ้น 126,067,052,900 บาท โดยมี กมธ.ตั้งข้อสังเกตความเป็นมาเกี่ยวกับงบประมาณของ กรมการข้าว ที่เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ประมาณ 15,000 ล้านบาท ว่ากระทรวงเกษตรฯมีแนวนโยบายอย่างไรถึงเพิ่มงบประมาณให้กรมการข้าวมากขึ้นอย่างมาก และบางโครงการมีการผูกผันงบประมาณต่อไปอีกประมาณ 8-10 ปี เช่น โครงการ 1 อำเภอ 1 แปลงเกษตรอัจฉริยะ ที่มีระยะเวลาดำเนินการถึง 8 ปี (2562-2569) และหลังจากการเพิ่มงบประมาณ หน่วยงานดังกล่าวมีแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรลดต้นทุนการผลิตได้อย่างไร

 

โดยผู้แทนจากกระทรวงเกษตรฯได้ชี้แจงว่า เดิมทีรัฐบาลใช้งบประมาณอุดหนุนเกษตรกรไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ ใช้งบประมาณจำนวนมาก แต่เป็นการช่วยเหลือแบบให้อุดหนุน โดยงบประมาณส่วนนี้จะสร้างความเข้มแข็งและประโยชน์ให้กับเกษตรกรในชนบทยิ่งขึ้น

 

นายสัณหพจน์กล่าวว่า ส่วนการพิจารณางบประมาณของสำนักเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) งบประมาณจำนวน 601,888,700 บาท กมธ.หารือเกี่ยวกับปัญหาสงครามรัสเซียกับยูเครน ทำให้เกิดปัญหาการนำเข้า-ส่งออกสินค้าทางการเกษตรในหลายประเทศ เกิดภาวะขาดแคลน ผลผลิตทางการเกษตรทั่วโลก กมธ.สอบถามเกี่ยวกับปัญหาการขาดแคลนผลผลิตทางการเกษตรทั่วโลก จะส่งผลต่อประเทศไทยในอีก 6 เดือนข้างหน้า ในแง่ของปัญหาการขาดแคลนอาหารหรือไม่ ผู้แทนจาก สศก.ชี้แจงว่า ประเทศไทยมีอาหารเพียงพอต่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศ รวมถึงเพียงพอต่อการส่งออกไปยังต่างประเทศ แต่มีปัญหาสำคัญ 3 ประเด็น ดังนี้ ต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่นำเข้าจากต่างประเทศราคาเพิ่มสูงขึ้นมาก ต้นทุนด้านพลังงาน และต้นทุนการขนส่ง

 

 

ขณะที่นายยุทธพงศ์กล่าวว่า งบประมาณของกรมการข้าวที่เพิ่มขึ้นถึง 15,000 ล้าน เดิมทีเงินส่วนนี้เป็นเงินชดเชยค่าเก็บเกี่ยวที่ทางกระทรวงพาณิชย์ (พณ.) จ่ายให้เกษตรกร แต่ปีนี้เปลี่ยนวิธีมาเป็นการช่วยเหลือ ผ่านศูนย์ข้าวชุมชนของกรมการข้าว อย่างการจัดซื้อเครื่องจักรกลทางการเกษตร เพื่อเป็นการลดต้นทุนการเกษตรให้ยั่งยืน และในสัปดาห์หน้าจะมีการพิจารณาในส่วนงบประมาณของกระทรวงพาณิชย์ ปัญหาสินค้าที่มีราคาสูงขึ้น อย่าง “ปุ๋ย” ที่ปีที่แล้วปุ๋ย 1 ถุง ราคา 1,000 บาท แต่ในตอนนี้ราคา 1,500 บาท รัฐบาลจึงควรแก้ปัญหาอย่างการหาปุ๋ยจากแหล่งผลิตอื่น “หมู” ที่มีการปรับราคาจากในช่วงปีใหม่จาก 1 กิโลกรัม 200 บาท เป็น 230 บาท เห็นควรที่จะแก้ปัญหาดังกล่าว โดยการลดต้นทุนอาหารสัตว์ลงเพื่อให้ราคาหมูปรับลดลงตามมา

 

นายยุทธพงศ์กล่าวว่า “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” ที่เป็นอาหารยังชีพของคนทุกกลุ่ม ปรับราคาขายขึ้น 1 บาท จาก 1 ห่อราคา 6 บาท เป็น 7 บาท การแก้ปัญหาโดยให้ซื้อสินค้าดังกล่าวที่ร้านธงฟ้าประชารัฐนั้นไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เนื่องจากร้านธงฟ้าประชารัฐไม่ได้มีครอบคลุมในทุกพื้นที่ และปัญหาการส่งออกที่ไม่สามารถส่งออกได้ เนื่องจากระบบโลจิสติกส์มีปัญหา ทั้งทีค่าเงินบาทอ่อนตัวลง เป็นสัญญาณที่ดีในการส่งออก จึงควรให้กระทรวงพาณิชย์ กรมส่งเสริมการส่งออก และกรมการค้าภายในมาคุย เพื่อประสานงานหาแนวทางแก้ไข

บทความน่าสนใจอื่นๆ

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง