รีเซต

RISE ชู 4 ปี ปั้น 400 บริษัท สร้างนวัตกรรมองค์กรสำเร็จ

RISE ชู 4 ปี ปั้น 400 บริษัท สร้างนวัตกรรมองค์กรสำเร็จ
มติชน
23 พฤศจิกายน 2563 ( 13:32 )
62

RISE (ไรส์) สถาบันเร่งสปีดนวัตกรรมองค์กร สตาร์ตอัพสัญชาติไทยผู้นำด้านการสร้างนวัตกรรมองค์กรเผย ธุรกิจ 83% ได้รับผลกระทบจากดิสรัปชั่นที่เกิดจากเทคโนโลยี และมีองค์กรเพียง 31% ที่สามารถวางแผนสร้างนวัตกรรมองค์กรได้ชัดเจนและเป็นรูปธรรม เปิดข้อมูลเชิงลึกพบองค์กร 1 ใน 3 คาดหวังรายได้เติบโตจากการสร้างนวัตกรรมองค์กร ระบุโควิด-19 วิกฤตเศรษฐกิจสังคมเป็นปัจจัยเร่งองค์กรให้เปลี่ยนแปลงและพร้อมรับมือกับทุกวิกฤตในอนาคต เปิดความสำคัญและบทบาทของนวัตกรรมองค์กรในปี 2564 ชูโมเดลเข็มทิศชี้วัดระดับนวัตกรรมองค์กร หรือ Corporate Innovation Maturity Model 5 ระดับ ดันองค์กรเดินทางสู่ความสำเร็จด้านนวัตกรรมองค์กร เผยผลสำเร็จจากการช่วยเร่งนวัตกรรมองค์กรกว่า 400 องค์กรตลอด 3 ปี สามารถเพิ่ม GDP ประเทศได้ 1.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 0.3% พร้อมย้ำจุดยืนมุ่งพัฒนาองค์กรผลักดัน GDP ประเทศไทยโต 1% สวนกระแสเศรษฐกิจ

 

นพ.ศุภชัย ปาจริยานนท์ หรือหมอคิด ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง RISE กล่าวในงาน “RISE Rethink 2021” ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเปิดตัวโมเดลการเติบโตของการสร้างนวัตกรรมองค์กรและให้ข้อมูลเกี่ยวกับทิศทางการเร่งสปีดนวัตกรรมในปี 2564 ว่า นวัตกรรมองค์กรจะมีความสำคัญและมีบทบาทมากยิ่งขึ้นในปี 2564 ในการผลักดันให้องค์กรเติบโตแบบก้าวกระโดดในยุคหลังวิกฤต ซึ่งเส้นทางการสร้างและพัฒนานวัตกรรมองค์กรของแต่ละองค์กรจะแตกต่างกันไปตามลักษณะของธุรกิจ การดำเนินงานและวัฒนธรรมภายในองค์กร รวมถึงการเข้าถึงของเทคโนโลยี อย่างไรก็ตาม องค์กรที่จะประสบความสำเร็จในด้านนวัตกรรมองค์กรได้นั้น จะต้องรู้ว่านวัตกรรมองค์กรอยู่ในระดับใด และมีจุดแข็งหรือจุดที่ต้องพัฒนาในด้านใดบ้าง เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างเป้าหมายและการวางแผนการดำเนินงานด้านนวัตกรรมที่ชัดเจนและเหมาะสมกับองค์กรโดยเฉพาะ

 

การแข่งขันทางธุรกิจ สภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวน และวิกฤตการณ์ต่างๆ ส่งผลให้องค์กรทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทยต่างจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันและเพื่อก้าวล้ำหน้าคู่แข่งในอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม หลังจากเกิดวิกฤตโควิด-19 ซึ่งเป็นวิกฤตการณ์ที่มีผลกระทบกับทุกประเทศในโลกไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย นับเป็นปัจจัยสำคัญที่เร่งให้องค์กรจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ด้วยการเร่งสร้างนวัตกรรมองค์กร จากการนำทักษะความรู้และความคิดสร้างสรรค์ ประยุกต์ใช้เกิดเป็นเครื่องมือสำคัญสู่การพัฒนาพลิกโฉมธุรกิจ เพิ่มโอกาสการแข่งขัน เพื่อทำให้กระบวนการที่ล้าหลังมีความทันสมัย ใช้โอกาสจากนวัตกรรมสร้างรูปแบบธุรกิจใหม่ ตอบโจทย์ความต้องการและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายใหม่ๆ ตลอดเวลา

 

“ถึงแม้ว่าองค์กรจะให้ความสำคัญกับการสร้างนวัตกรรม แต่เราพบว่าองค์กร 83% ได้รับผลกระทบจากดิสรัปชั่นที่เกิดจากเทคโนโลยี ขณะที่องค์กรเพียง 31% สามารถวางแผนสร้างนวัตกรรมองค์กรได้ชัดเจน ขณะเดียวกันยังพบข้อมูลเชิงลึกว่า 1 ใน 3 ขององค์กร คาดหวังผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการเติบโตของรายได้จากนวัตกรรม อย่างไรก็ตาม องค์กรส่วนใหญ่ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากความล้มเหลวในการออกแบบและวางแผนการสร้างนวัตกรรมองค์กรในระยะยาวที่เหมาะสมกับลักษณะธุรกิจ คน และวัฒนธรรมภายในองค์กร” นพ.ศุภชัยกล่าว

 

เพื่อการพัฒนานวัตกรรมองค์กรที่ได้ผลตามเป้าหมาย RISE คิดค้นและพัฒนา “โมเดลวัดระดับนวัตกรรมองค์กร” หรือ “Corporate Innovation Maturity Model” (CIMM) ในการประเมินระดับการเติบโตของนวัตกรรมองค์กรนั้น แบ่งเป็น 5 ระดับ คือ ระดับเริ่มต้น (Newcomer) ระดับสำรวจ (Explorer) ระดับท้าทาย (Challenger) ระดับเชี่ยวชาญ (Practitioner) และระดับแชมเปี้ยน (Champion) เพื่อช่วยให้องค์กรสามารถใช้เป็นเข็มทิศก่อนกำหนดแผนที่ในการเดินทางบนถนนนวัตกรรมองค์กร มีขั้นตอนการประเมินระดับการเติบโตของนวัตกรรมองค์กรเบื้องต้นผ่านแบบสอบถามที่ช่วยองค์กรวิเคราะห์จาก 2 ปัจจัยหลักและ 6 หัวข้อย่อย โดยปัจจัยด้านบุคลากร (People) ประกอบด้วย 3 หัวข้อย่อย ได้แก่ ความพร้อมของผู้นำ (Leadership) ศักยภาพของทีมงาน (Team Capability) และกระบวนการภายในองค์กร (Organizational Process) สำหรับปัจจัยด้านเทคโนโลยี (Technologies) ประกอบด้วย 3 หัวข้อย่อย ได้แก่ เครื่องมือ (Tools) ข้อมูล (Data) และระบบนิเวศ (Ecosystem) ทั้งนี้ ผลการประเมินที่องค์กรจะได้รับเป็นข้อมูลเบื้องต้น คือ ระดับการเติบโตของนวัตกรรมองค์กร คะแนนรวมพร้อมรายละเอียดเกี่ยวกับระดับของปัจจัยทั้ง 6 หัวข้อย่อยดังกล่าว และความถนัดทางนวัตกรรมขององค์กร

 

“เมื่อองค์กรรู้ว่านวัตกรรมองค์กรอยู่ในระดับใด องค์กรจะสามารถปรับแผนนำทาง หรือ Roadmap ในการสร้างนวัตกรรมองค์กรได้เหมาะสมและประสบความสำเร็จในการเร่งสร้างนวัตกรรม เช่น องค์กรอยู่ในระดับท้าทาย (Challenger) มีการวางแผนด้านนวัตกรรมองค์กรอย่างชัดเจน รวมถึงมีการเตรียมความพร้อมให้กับพนักงานด้วยทักษะพื้นฐานด้านนวัตกรรมไว้แล้ว ควรเริ่มที่จะหาแนวทางในการดึงศักยภาพด้านนวัตกรรมองค์กรมาใช้ในการเปลี่ยนไอเดียนวัตกรรมใหม่ๆ ให้สามารถสร้างมูลค่าทางธุรกิจให้แก่องค์กรได้ โดยผ่านโปรแกรมอย่าง Venture Building หรือเริ่มมองหาสตาร์ตอัพที่มีเทคโนโลยีสามารถเข้ามาช่วยต่อยอดไอเดียนวัตกรรมให้เกิดขึ้นจริงในระยะเวลาที่รวดเร็ว อย่างการเข้าร่วมโปรแกรม Corporate Accelerator” นพ.ศุภชัยอธิบาย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง