ด่วน!! พณ.สั่งตรึงราคาไก่เนื้อ 6 เดือน จูงใจซื้อแทนเนื้อหมูแพง
ด่วน!! พณ.สั่งตรึงราคาไก่เนื้อ 6 เดือน จูงใจซื้อทดแทนเนื้อหมูแพง ต่อไปถึงคิวไข่ไก่-จานด่วน เตรียมเสริมมาตรการลงดาบหากฝ่าฝืน
นายวัฒนศักดิ์ เสื่อเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการลดภาระประชาชนและลดปัญหาค่าใช้จ่ายจากเนื้อหมูราคาสูง และให้ประชาชนมีทางเลือกในการซื้อเนื้อสัตว์อื่นทดแทนในการบริโภคเนื้อหมู กรมจึงได้หารือกับสมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อและไก่ไข่ ขอให้ตรึงราคาในปัจจุบันต่อเนื่อง 6 เดือน(กลางเดือนมกราคม-กลางเดือนมิถุนายน 2565 )
โดยราคาจำหน่ายไก่มีชีวิตอยู่ที่ 33.50 บาท/กก. ไก่สด(รวม/ไม่รวมเครื่องใน) 60-65 บาท/กก. น่องติดสะโพก/น่อง/สะโพก 60-65 บาท/กก. เนื้ออก 65-70 บาท /กก. โดยในช่วงเวลานี้ทางกรมปศุสัตว์และเกษตรกรเร่งเพิ่มผลผลิตซึ่งระยะเวลาเลี้ยงไก่ใช้เวลา 45 วัน ทั้งนี้ ปัจจุบันคนไทยบริโภคไก่ 1.32 ล้านตัน/ปี ผลผลิตไก่รวม 2.9 ล้านตัน/ปี และส่งออก 1 ล้านตัน/ปี
สำหรับไข่ไก่ ช่วงบ่ายของวันที่ 11 มกราคม จะหารือสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่และกรมปศุสัตว์ เพื่อหารือโครงสร้างต้นทุนการเลี้ยง ผลผลิต และการประกาศปรับราคาไข่คละเป็น 3 บาท/ฟองนั้นสมเหตุสมผลหรือไม่ ซึ่งจากข้อมูลต้นทุนเลี้ยงไข่ไก่อยู่ที่ 2.85 บาท/ฟอง ซึ่งก็จะขอความร่วมมือตรึงราคาเช่นกัน
“ทั้งไก่เนื้อ ไข่ไก่ ไม่ได้ขาดตลาด ผลผลิตยังสูงเพียงพอกับบริโภคและการค้าปกติ ตอนนี้มีเพียงเนื้อหมูที่มีผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยจากปกติกว่า 30% แต่ความต้องการยังสูงจึงทำให้ราคาเนื้อหมูแพงขึ้น โดยวันนี้ราคาซื้อขายจริงของสุกรมีชีวิตอยู่ที่ 108 บาท/กก. ต่ำกว่าราคาที่สมาคมผู้เลี้ยงสุกรประกาศที่ 110 บาท/กก. โดยกระทรวงพาณิชย์ได้จัดหมูราคา 150 บาท/กก. จำหน่าย 667 จุดถึงสิ้นเดือนมกราคมนี้
จากนี้ต้องจับตาสถานการณ์จากนี้ เพราะมีเรื่องการแพร่ระบาดของโอมิครอนแรงขึ้น อาจทำให้การบริโภคนอกบ้านได้รับผลกระทบและมีผลต่อความต้องการลดลงอีกครั้งหรือไม่ ก็จะเป็นผลต่อความต้องการและราคาที่อ่อนตัวลง
นายวัฒนศักดิ์ กล่าวว่า หากผู้ประกอบการรายใด ฝ่าฝืนจำหน่ายสินค้าเกินราคาที่ตรึงไว้ ถือว่าขายเกินราคาเหมาะสม และเป็นความผิดตามกฎหมายมีโทษปรับไม่เกิน 1.4 แสนบาท และจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือทั้งปรับทั้งจำ ส่วนความคืบหน้าตรวจสอบสต็อกเนื้อหมูทั้งระบบรอบแรกได้ในวันที่ 10 มกราคมที่ผ่านมา ก็อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูล หากพบว่ามีการกักตุนหรือบิดเบือนราคาก็จะดำเนินการความกฎหมายเช่นกัน
นายวัฒนศักดิ์ กล่าวว่า ขณะเดียวกันกระทรวงพาณิชย์ จะทำมาตรการอื่นๆ ด้วย ได้แก่ 1.การเปิดจุดจำหน่ายเนื้อหมู ไก่เนื้อ ไข่ไก่ และสินค้าจำเป็นต่อชีวิตประจำวัน โดยจะของบกลางรัฐบาลในการเพิ่มจุดจำหน่ายไม่น้อยกว่า 1,500 จุดทั่วประเทศ กำลังหารือเปิดจุดขายตามสถานีน้ำมันที่มีรวม 1,000 แห่ง เป็นต้น
2. ร่วมกับผู้ผลิตสินค้าจัดทำสินค้าราคาประหยัดในโครงการธงฟ้า 3. จับคู่วัตถุดิบอาหารสัตว์กับเกษตกรผู้เลี้ยง จากเคยจับคู่ข้าวเปลือกกับผู้เลี้ยงสุกร และจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้เกษตรกร เป็นต้น
ทั้งนี้ ราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้นส่วนหนึ่งจากต้นทุนอาหารสัตว์ที่สูงขึ้น อาทิ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เป็นวัตถุดิบหลักในอาหารสัตว์ ราคาขึ้นต่อเนื่อง จากเฉลี่ย 8.87 บาท/กก. ในปลายปี 2563 เป็น 9.95 บาท/กก. ปลายปี 2564 และ 10.66 บาทในต้นปี 2565 และหากรวมกับวัตถุดิบอาหารสัตว์ทุกชนิดเพิ่มขึ้นรวม 7.14% แต่ราคาขยับได้ไม่เกิน 2% เป็นต้น
นายวัฒนศักดิ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้กรมได้มีการติดตามสถานการณ์ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคและอาหารปรุงสำเร็จ ว่ามีการฉวยโอกาสปรับราคาเกินสมควร และอาจเพิ่มมาตรการในการดูแลต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม จากที่ตรวจสอบต้นทุนโครงสร้างสินค้า เช่น แก๊สหุงต้ม เนื้อหมูบางชนิดที่ขึ้นราคา ก็ยังเป็นสัดส่วนที่ไม่สูงจนกระทบต่อภาพรวมการปรับราคาอาหารปรุงสำเร็จต้องขึ้นราคาเกินจริง
ส่วนราคาน้ำมันปาล์มที่มีราคาขยับขึ้น เพราะเป็นปลายฤดูผลิต แต่เดือนกุมภาพันธ์ผลผลิตใหม่จะออกสู่ตลาด ราคาก็จะอ่อนตัวลง ไม่น่ากังวลต่อราคาปาล์มเพื่อบริโภค