ถล่มธปท.จี้ลดดบ. กูรูยก“จีน”ต้นแบบ

#ดอกเบี้ย #ทันหุ้น – “รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวนิช” เเนะไทยเอาแบบอย่างจีน จัดแพ็กปาซูก้ากระตุ้นเศรษฐกิจแนะ ธปท.ลดดอกเบี้ย ผ่อนเกณฑ์ LTV เชื่อจีนกระตุ้นเศรษฐกิจได้ส่งผลดีไทย แต่หวั่นค่าเงินบาทแข็งค่ากดรายได้ส่งออกหาย 2 แสนล้านบาท ด้านรมว.คลังจ่อคุยธปท.สัปดาห์หน้า ยกข้อมูลบาทแข็งค่า-เงินเฟ้อต่ำคุย ลั่นต้องกำหนดนโยบายให้ถูก ขณะที่ ธปท. พร้อมแทรกแซงบาท
รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวนิช นักวิชาการอิสระแลผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เปิดเผยใน “รายการทันหุ้น-ทันเกม” ว่า ต้องการให้รัฐบาลไทยและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดำเนินการตามแบบกระตุ้นเศรษฐกิจเหมือนประเทศจีน ที่ธนาคารกลางออกแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ อสังหาริมทรัพย์ และตลาดหุ้นครั้งใหญ่
โดยเฉพาะมาตรการทางการเงินที่ ธปท. ควรลดอัตราดอกเบี้ยปีนี้ 0.25% เพื่อป้องกันค่าภาวะเงินบาทแข็งค่า และควรลดเพดานสินเชื่อ หรือ LTV ที่ ธปท. กำหนดไว้สำหรับการกู้บ้านหลังที่ 2ไม่เกิน 80-90% ของมูลค่า หรือต้องวางเงินดาวน์ 10-20% ส่วนกู้บ้านหลังที่ 3ขึ้นไปจะมีเพดานสินเชื่อไม่เกิน 70% หรือต้องวางเงินดาวน์ 30%เหล่านี้ควรผ่อนคลายเหมือนที่จีนดำเนินการลดเงินดาวน์ขั้นต่ำบ้านหลังที่ 2 จาก 25% เหลือ 15% ซึ่งจะช่วยกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ได้
“ทั้ง ธปท. และรัฐบาล ควรมองการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน ไม่ใช่คิดนโยบายแจกเงินเพียงอย่างเดียว อย่างที่แจกล่าสุด 1.4 แสนล้านบาท มองว่าจะกระตุ้นจีดีพีได้ไม่ถึง 0.3% อาจจะได้เพียง 0.1% เนื่องจากกลุ่มคนเปราะบางอาจจะนำเงินดิจิทัลวอลเล็ตที่ได้ไปจ่ายหนี้สิน จึงไม่สามารถหมุนได้หลายรอบ ควรจะลดอัตราดอกเบี้ยตามเฟดเพื่อให้เศรษฐกิจกลับมาดีขึ้นและลดการเเข็งค่าของเงินบาท”
@ มั่นศก.จีนช่วยศก.ไทย
รศ.ดร.อัทธ์ เชื่อว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนจะได้ผล เนื่องจากมาตรการลดสำรองเงินสด (RRR)จากเดิม 7% ลดเหลือ 6.5%ทำให้ธนาคารในจีนสามารถปล่อยเงินกู้ได้ถึง 140,000ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1 ล้านล้านหยวน จะทำให้ประชาชนจีนมีเงินนำไปใช้จ่าย และเศรษฐกิจจะคล่องตัวมากขึ้น ซึ่งตอบโจทย์การปัญหาเศรษฐกิจจีนที่เกิดการชะลอตัว ประชาชนไม่ใช้จ่าย และจะเกิดสภาวะเงินฝืด สาเหตุหลักมาจากการว่างงานสำหรับผู้ที่อายุไม่เกิน 30 ปีและปัญหาอสังหาริมทรัพย์ที่มีซัพพลายเกิน โดยมองว่านอกจากเม็ดเงินที่ใส่เข้าไปในระบบดันเศรษฐกิจแล้ว การที่มีการกระตุ้นตลาดหุ้นจีนก็จะช่วยทำให้ประชาชนเกิดความมั่งคั่งและมีดีมานด์เข้าซื้ออสังหาริมทรัพย์จีนได้
“คล้ายกับการใส่กระสุนขนาดใหญ่ให้เศรษฐกิจ (Bazooka Simulate Packet) เมื่อมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ จะทำให้หุ้นในประเทศดีดขึ้นและประชาชนมีการใช้สอยและคลายสภาวะเงินฝืดสามารถลดปัญหาด้านอสังหาริมทรัพย์เพื่อให้กลับไปสู่สภาพคล่องที่ดีได้”
ทั้งนี้การกระตุ้นเศรษฐกิจจีนจะส่งผลดีกับเศรษฐกิจไทย เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีการส่งออกไปที่จีน 15%ทั้งการค้าส่งค้าปลีก, โรงแรมและร้านอาหารและการท่องเที่ยวที่ในช่วงสิ้นปีนี้จะมีนักท่องเทียวจีนเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มขึ้น แต่ก็ต้องระวังค่าเงินบาทที่แข็งค่าทำให้สินค้าไทยเเพงขึ้น โดยสัดส่วนรายได้ของประเทศไทยกว่า 60% มากจากการส่งออก ถ้าค่าเงินบาทแข็งตัวถึงมูลค่า 32 บาท ต่อ 1ดอลลาร์ จะทำให้ประเทศไทยสูญเสียรายได้ส่งออกกว่า 200,000ล้านบาท และคาดการณ์ว่าค่าเงินบาทอาจจะลงไปต่ำสุดที่ 31.50 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ จึงจำเป็นต้องมีนโยบายแทรกแซงการลดดอกเบี้ยเพื่อเเก้ปัญหาเงินบาทแข็งตัว ตลอดจนรัฐบาลควรมีนโยบายการเงินแก้ปัญหาเศรษฐกิจด้านอื่นๆที่ชัดเจนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นๆ
@ยกข้อมูลคุยลดดอกเบี้ย
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในการหารือกับ ธปท. สัปดาห์หน้าว่าจะพูดคุยเรื่องสถานการณ์เงินบาทแข็งค่าสุดในรอบ 19 เดือน และเมื่อเปรียบเทียบค่าเงินบาทกับเงินสกุลอื่น เช่น จีน เวียดนาม ญี่ปุ่น ปรากฏว่าค่าเงินบาทของไทยแข็งค่ามากกว่าประเทศอื่นๆ ส่งผลกระทบกับความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออก และจะหารือ กรอบเงินเฟ้อ ซึ่ง 8 เดือนแรกของปีนี้ อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ที่ 0.15% หลุดกรอบล่างเป้าหมายเงินเฟ้อไว้ที่ 1-3% แสดงว่าเศรษฐกิจมันไม่ขึ้น ก็ต้องดูว่าอัตราดอกเบี้ยเราสูงเกินไปหรือไม่ ซึ่งก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่ทำให้คนเกิดความมั่นใจในฟากของผู้ผลิตมากขึ้น แต่ถ้ากลัวว่าดอกเบี้ยต่ำแล้วคนจะใช้จ่ายเงินมาก และจะทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงนั้น ในปัจจุบันก็เห็นชัดแล้วว่า อัตราเงินเฟ้อเราอยู่ในระดับที่ต่ำ โดยในช่วงเกือบ 8 ปีนี้หลุดกรอบล่างไปแล้วถึง 6 ครั้ง
@ธปท. พร้อมดูแลบาท
นางสาวพิมพ์พันธ์ เจริญขวัญ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธปท. ยอมรับว่า เงินบาทแข็งค่าขึ้น 3.8% ตั้งแต่ต้นปี และแข็งค่ากลุ่มนำสกุลภูมิภาคในไตรมาส 3 จากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ หลังสหรัฐมีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมากกว่าการคาดการณ์ของตลาด ประกอบกับการประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีน ที่ส่งผลเชิงบวกต่อทิศทางเงินสกุลภูมิภาค และยังมีแรงกดดันด้านแข็งค่าเพิ่มเติมจากปัจจัยในประเทศ ทั้งเงินลงทุนต่างชาติที่เริ่มไหลกลับเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์ไทย ทั้งนี้ ธปท. ติดตามสถานการณ์การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด และพร้อมเข้าดูแลเมื่อเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนมากผิดปกติเพื่อลดผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของภาคเศรษฐกิจจริง