รีเซต

ใครเป็นใคร? ในโผ 4 รองผู้ว่าฯ ที่ 'ชัชชาติ' จ่อประกาศ 1 มิ.ย.

ใครเป็นใคร? ในโผ 4 รองผู้ว่าฯ ที่ 'ชัชชาติ' จ่อประกาศ 1 มิ.ย.
มติชน
31 พฤษภาคม 2565 ( 22:44 )
90

ในที่สุด กกต. ก็ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ให้ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ นั่งเก้าอี้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คนที่ 17 จากคะแนนเสียงเฉียด 1.4 ล้าน

 

เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม ผู้ว่าฯ กทม. ให้สัมภาษณ์ครั้งแรกหลังไฟเขียวของกกต. ว่าจะเปิดตัว 3 ทีมงานในวันที่ 1 มิถุนายนนี้ โดยจะเดินทางเข้าไปยังสำนักงาน กกต. และศาลาว่าการกทม. เสาชิงช้าตามลำดับ

 

สำหรับ 4 รองผู้ว่าฯ ตามโผ ในส่วนที่มีความชัดเจนแล้ว คือ นายจักกพันธุ์ ผิวงาม อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. ยุคพลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง ถือเป็น “ลูกหม้อ” คนหนึ่งของกทม.

 

เริ่มรับราชการจากการเป็นนักสถิติ 3-5 งานวิจัยทางผังเมือง ไต่ระดับเรื่อยมา ได้เป็นหัวหน้าสำนักงานเลขานุการผู้ว่าฯ กทม. เป็นผอ.เขตบางกอกใหญ่ เขตจอมทอง จตุจักร ทวีวัฒนา และเกษียณ อายุราชการในตำแหน่งรองปลัด

 

เหตุที่ นายจักกพันธุ์ ยังมีประวัติเป็น “รองผู้ว่าฯกทม.” ด้วย เพราะหลังจากเกษียณอายุได้ 19 วัน ถูก “พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง” ผู้ว่าฯกทม. จาก ม.44 ทาบทามให้มาดำรงตำแหน่งนี้ได้รับมอบหมายจาก “ผู้ว่าอัศวิน” รับผิดชอบ 6 หน่วยงาน

 

ประกอบด้วย 1.สำนักงบประมาณกรุงเทพมหานคร 2. สำนักการโยธา 3. สำนักการระบายน้ำ 4. สำนักสิ่งแวดล้อม 5. สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว และ 6. สำนักงานเขตในส่วนที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายโยธา ฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ

 

แต่ทำงานได้ระยะหนึ่ง มีเหตุต้องลาออก เพราะไม่ยอมเซ็นอนุมัติ โครงการ “เตาเผาขยะหมื่นล้าน” เป็นโครงการเตาเผาขยะ จำนวน 2 โรง ที่หนองแขม และอ่อนนุช ที่มีครหาว่า เอื้อประโยชน์ให้เอกชนบางราย จนวันนี้ยังมีเรื่องร้องเรียน และกำลังถูกตรวจสอบ จากทั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) อยู่ด้วย

 

เมื่อเวลาถามพนักงานกทม. นายจักกพันธุ์ มักได้รับชื่นชม และได้การรับรอง 100%

สำหรับรองผู้ว่าฯ กทม. อีก 3 ตำแหน่งที่เหลือ ตามโผ ได้แก่

 

1.นายวิศณุ ทรัพย์สมพล ผู้อำนวยการ สถาบันทรัพย์สินทางปัญญาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เคยดำรงตำแหน่งผู้ช่วยอธิการบดีด้านบริหารระบบกายภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ผู้ช่วยอธิการบดีด้านพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบริหาร คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

นอกจากนี้ยังดำรงตำแหน่งกรรมการ บริษัท ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจามจุรี จำกัด, กรรมการอิสระ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)และกรรมการอิสระ บริษัท แลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) อีกด้วย

 

2.นางสาวทวิดา กมลเวชช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ซึ่งถือเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการภัยพิบัติ รวมถึงการวิเคราะห์และออกแบบนโยบายสาธารณะ การจัดการความเสี่ยงต่างๆ ที่มีชื่อคนหนึ่งในแวดวง

 

จบการศึกษาปริญญาตรีและโท จากคณะรัฐศาสตร์ เอกบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาโท Graduate Certificate in Public Management (GCPM) School of Social Sciences, University of South Florida, USA และ ปริญญาเอก Doctor of Philosophy in Public Administration and Public Policy School of Public and International Affairs, University of Pittsburgh, USA

 

เข้าเป็นอาจารย์ประจำสาขาบริหารรัฐกิจ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาตั้งแต่ พ.ศ.2541
เป็นที่ปรึกษาด้านการจัดการความเสี่ยง รวมถึงการจัดการภัยพิบัติ ทั้งไทยและองค์กรระหว่างประเทศทั่วโลก อาทิ ที่ปรึกษาทางด้านการจัดการภัยพิบัติและภาวะฉุกเฉิน ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ประเทศไทย, ที่ปรึกษาอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ด้านการจัดการสาธารณภัยและการลดความเสี่ยงภัยพิบัติกระทรวงมหาดไทย และ Risk Lighthouse International Pte สิงคโปร์

 

มีผลงานวิจัยด้านการจัดการนโยบายสาธารณะไม่น้อย ล่าสุด ในปี 2565 กับผลงาน “การออกแบบและจัดทำยุทธศาสตร์การต่างประเทศของกรุงเทพมหานคร สำนักงานการต่างประเทศ กรุงเทพมหานคร”

 

ปี 2563 คณะรัฐมนตรีเคาะชื่อเป็น กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (กปภ.ช.) ชุดเดียวกับ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์

 

ก่อนมีชื่อเข้าร่วมทีมเป็นรองผู้ว่าฯของ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผศ.ดร.ทวิดาเรียกว่าไม่ขาดงาน กทม. เข้าไปเป็นคณะทำงานที่ปรึกษาในหลายชุด อย่างคณะอนุกรรมการสำนักงานข้าราชการกรุงเทพมหานคร ก็ได้เข้าไปดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี พ.ศ.2562-ปัจจุบัน ทั้งยังเคยเข้าไปเป็นคณะอนุกรรมการการระบายน้ำ คณะกรรมการการระบายน้ำและการจราจร กรุงเทพมหานคร สภากรุงเทพมหานคร ในช่วงปี พ.ศ.2558-2559

 

ข้อได้เปรียบที่ ผศ.ดร.ทวิดา เข้าใจพื้นที่ “กรุงเทพฯ” เป็นอย่างดี นั่นเพราะ “นายทวีศักดิ์ กมลเวชช” บิดาของ ผศ.ดร.ทวิดา เคยเป็นผู้อำนวยการเขตพญาไท ทั้งยังเป็น ส.ก.เขตบางพลัด จากการเลือกตั้งในปี พ.ศ.2544 ล่าสุดเป็นที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

 

3.นายศานนท์ หวังสร้างบุญ เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง SATARANA (สาธารณะ) เครือข่ายภาคประชาสังคมที่ทำงานเรื่องการพัฒนาเมือง และเป็นหนึ่งในทีมกลุ่มเมล์เดย์ (Mayday) ผู้ออกแบบปรับปรุงป้ายหยุดรถเมล์รูปแบบใหม่ ทั้งยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม Trawell และเจ้าของกิจการ Once Again Hostel ย่านประตูผี และ Luk Hostel ย่านเยาวราช และ Locall.bkk แพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ร้านอาหารบริเวณ 3 ย่านเสาชิงช้า-ประตูผี ย่านเยาวราช ย่านนางลิ้นจี่

 

จบการศึกษาจากภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

เคยเป็นอดีตนายกสโมสรนิสิต พ.ศ.2553 เคยเป็นวิศวกรประจำภายในโรงงานประมาณ 5 ปี เพื่อเก็บเงินก้อนหนึ่งเพื่อลงทุน

 

ทั้งนี้ Once Again Hostel เกิดจากความสนใจเรื่องการท่องเที่ยวชุมชน มาสู่การชนะเลิศ One Young World ปี 2558

 

หลังจากเริ่มก่อตั้ง Once again Hostel ได้ประมาณ 6 เดือน เริ่มมีประเด็นการไล่รื้อป้อมมหากาฬ ในฐานะที่เป็นหนึ่งใน Stakeholder จึงเริ่มทำงานขับเคลื่อนทางสังคมมากขึ้น

 

ปี 2562 ได้รับรางวัล JUMC STAR 2019 Excellence โดยสมาคมนิสิตเก่าเอ็มบีเอ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ร่วมกับคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นโครงการด้านวิชาการเพื่อมอบรางวัลให้แก่ผู้ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและธุรกิจประเทศในด้านต่างๆ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง