รีเซต

นายกฯ ตั้ง คณะกรรมการบูรณาการการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย-ลาว-จีน

นายกฯ ตั้ง คณะกรรมการบูรณาการการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย-ลาว-จีน
มติชน
23 มกราคม 2565 ( 10:19 )
23
นายกฯ ตั้ง คณะกรรมการบูรณาการการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย-ลาว-จีน

เมื่อวันที่ 23 มกราคม นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เดินหน้าเชื่อมต่อรถไฟไทย ลาว และจีน อย่างไร้รอยต่อ ทั้งการเดินทางและขนส่งสินค้า ในระหว่างการพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูง เพื่อเพิ่มประโยชน์สูงสุดจากการพัฒนาโครงข่าย มั่นใจโครงสร้างพื้นฐานของไทยมีความพร้อมรองรับปริมาณสินค้าที่ต้องการขนส่งข้ามแม่น้ำโขง เชื่อมต่อการขนส่งสินค้าไทย ลาว และจีน โดยนายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการบูรณาการการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย ลาว และจีน ซึ่งมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นรองประธาน ในลักษณะทีมประเทศไทย (Team Thailand) เพื่อบริหารจัดการสมดุลระหว่างปริมาณสินค้าที่ต้องการขนส่งกับความสามารถรองรับของโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ ระหว่าง demand และ supply เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศไทย โดยหน่วยงานฝั่ง demand คือ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ขณะที่ฝั่ง supply ประกอบด้วย กระทรวงคมนาคม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการคลังและกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อร่วมวางแผนกำหนดนโยบายการเชื่อมต่อทางรถไฟระหว่างไทย ลาว และจีน พร้อมจัดทำแผนการขนส่งสินค้า เพื่อกำกับ ติดตามเร่งขับเคลื่อนการเชื่อมโยงทางรถไฟ พร้อมขับเคลื่อนสู่การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน

 

ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบูรณาการการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย ลาว และจีน ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 13 มกราคม ที่ผ่านมา มีมติ ดังนี้ 1.รับทราบสถานะการค้าการขนส่งชายแดนจังหวัดหนองคายหลังจากรถไฟลาว- จีน เปิดให้บริการปัจจุบันมีการเพิ่มรถไฟจาก 4 ขบวนต่อวันเป็น 14 ขบวนต่อวันและจากการขนส่งขบวนละ 12 แคร่ เป็น 25 แคร่ มีศักยภาพเพิ่มขึ้นประมาณ 8 เท่า แต่ยังมีปริมาณการขนส่งทางรถไฟไม่มากนักเนื่องจากสถานการณ์ระบาดของโรค Covid -19

2.รับทราบผลการประชุม 3 ฝ่ายระหว่างไทย ลาวและจีน (วันที่ 19 พ.ย. 64) เห็นชอบการลงทุนร่วมกันในสะพานแห่งใหม่ระหว่างไทยและลาวในอาณาเขตของตนเอง รวมถึงการจัดตั้งคณะทำงานพิจารณาร่วมกันต่อไป

3.เห็นชอบแผนการดำเนินงานการเชื่อมโยง เช่น 1. โครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพ นครราชสีมาและหนองคาย 2. โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น หนองคาย 3. การพัฒนาสถานีหนองคาย โดยจะติดตั้ง MOBILE X-RAY สำหรับตรวจปล่อยสินค้าทางรถไฟในระยะเร่งด่วน ย่านเปลี่ยนถ่ายสินค้าระหว่างประเทศที่สถานีนาทาที่จะเสนอให้เอกชนร่วมทุนภายในปี 65 นี้ โดยรฟท. จะของบกลางเพื่อเร่งรัดการออกแบบรายละเอียดของสะพานมิตรภาพแห่งใหม่และก่อสร้างที่เกิดการเชื่อมโยงต่อไป

4.เห็นชอบหลักการการจัดทำ Framework Agreement การขนส่งทางรถไฟระหว่างไทย ลาวและจีน

5.มอบหมาย Team Thailand ลงพื้นที่เพื่อสำรวจรวบรวมข้อมูลโครงการรถไฟความเร็วสูง ลาว -จีน เพื่อศึกษาศักยภาพพื้นฐาน ระบบโลจิสติกส์ในแต่ละสถานี และสร้างการรับรู้ให้แก่ภาคเอกชนและภาคประชาชนต่อไป

นายธนกร กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีมุ่งมั่นในการพัฒนาระบบรางของไทยในการเชื่อมต่อระหว่างภูมิภาค และประเทศไทยกับระหว่างประเทศ เพื่อทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของอาเซียน และประชาชนได้ประโยชน์ทั้งการเดินทางและเศรษฐกิจ ตามวิสัยทัศน์ในการพัฒนาประเทศอย่าง มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง