รีเซต

เปิดทัศนะ‘ภาคเอกชน-นักวิชาการ’‘7เสือ’กสทช.ชุดใหม่-ที่อยากเห็น

เปิดทัศนะ‘ภาคเอกชน-นักวิชาการ’‘7เสือ’กสทช.ชุดใหม่-ที่อยากเห็น
ข่าวสด
28 พฤศจิกายน 2563 ( 02:34 )
145

ยังอยู่ระหว่างการสรรหา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ชุดใหม่
หลังจากสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ปิดรับสมัครบุคคลผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็น 7 กรรมการกสทช.ใหม่ไปแล้วเมื่อปลายเดือนต.ค.ที่ผ่านมา โดยมีจำนวนผู้สมัครทั้งหมด 80 คน

 

ทำให้ขณะนี้หลายภาคส่วนคาดหวังจะได้เห็นกรรมการใหม่ในเร็ววัน เพราะขณะนี้กรรมการชุดปัจจุบันที่อยู่มาเกือบ 9 ปีแล้วรอวันเปลี่ยนผ่านงานสำคัญต่างๆ ให้กับชุดใหม่มาสานต่อ

 


กสทช.ใหม่ที่จะเกิดขึ้นถือเป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะผลักดันประเทศไทยในยุคที่มีเทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อน
ล่าสุด ‘บมจ.มติชน’ จัดงาน สัมมนา “7 เสือที่อยากเห็น กสทช. ชุดใหม่-เปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจไทย” โดยภาคเอกชนในอุตสาหกรรมต่างๆ และนักวิชาการ มาให้มุมมองและความคาดหวังจาก 7 กสทช.ชุดใหม่ประกอบด้วย นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.), นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ), นายพิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัท หลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด (มหาชน), นายสืบศักดิ์ สืบภักดี กรรมการบริหารและเลขาธิการสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และนายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

 


นายสืบศักดิ์กล่าวว่า การเลือกกรรมการกสทช. ชุดใหม่มีความคาดหวังอย่างมากจากหลายภาคส่วนด้วยกัน โดยต้องมีความคิดกว้างไกลและต้องทำงานในเชิงรุก ที่สำคัญต้องมีวิสัยทัศน์ใหม่ มองภาพไปสู่อนาคตที่ชัดเจน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต้องไม่ได้มาแก้ปัญหา หรือวิ่งตามปัญหาเหมือน กับกสทช.ชุดปัจจุบัน ซึ่งในช่วง 8-9 ปีการทำงานส่วนใหญ่เข้ามาแก้ปัญหาที่เป็นข้อจำกัดของกฎหมาย เพื่อจะเปลี่ยนแปลงตามเทคโนโลยี

 


“ในอดีตเราคาดหวังการทำงานของ กสทช. ชุดปัจจุบัน ซึ่งได้รับการต่ออายุ อยู่ในตำแหน่งมาเกือบ 9 ปี ในบริบทของประเทศ และอุตสาหกรรมโทรคมนาคมเปลี่ยนไปเยอะ แต่ที่ผ่านมา กสทช. อาจไม่มีโอกาสได้ทำในหลายเรื่อง เข้ามาในช่วงที่เราต้องการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีอย่างมาก”

 


นายสืบศักดิ์กล่าวและว่า ในยุค 3G หลายประเทศในโลกเกิดขึ้นแล้ว แต่บ้านเรายังไม่สามารถใช้งานได้ ล่าช้ากว่าประเทศอื่น 10 ปี ทำให้ประเทศเสียโอกาสในหลายเรื่อง เมื่อโครงสร้างพื้นฐานไม่พร้อม ภารกิจสำคัญคือการประมูลคลื่นความถี่โทรคมนาคม ทำให้เราสามารถเข้าสู่ตลาด 3G จากนั้นจึงพัฒนาสู่ระบบ 4G และ 5G การประมูลทีวีดิจิตอล เปลี่ยนผ่านระบบอนาล็อกไปดิจิตอล

 


ด้านภาคอุตสาหกรรม นายสุพันธุ์ ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่าเทคโนโลยีมีบทบาทในภาคอุตสาหกรรม และเศรษฐกิจของประเทศ ปัจจุบันเทคโนโลยีกลายเป็นสิ่งสำคัญของประเทศเสมือนกระดูกสันหลังในเศรษฐกิจยุคใหม่
อย่างไรก็ตามการที่กสทช.ประมูลคลื่นความถี่ต่างๆ ในราคาแพง รัฐได้เงินมหาศาลแล้วประชาชนได้ประโยชน์อะไร ทำไมไม่ทำให้ประชาชนได้ประโยชน์มากที่สุดในราคาที่เหมาะสม จนถึงปัจจุบันประชาชนยังไม่ได้ประโยชน์ที่แท้จริง และยังเห็นความเหลื่อมล้ำ เยอะมาก อย่างประมูล 5G ราคาสูงแต่มีคำถามว่าเมื่อไหร่ได้ใช้ และได้ราคาดีที่สุด ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการสามารถนำมาใช้ ติดอาวุธในการแข่งขันได้

 


การสรรหากรรมการกสทช.ชุดใหม่เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ต้องเลือกให้ดี ถ้าเลือกผิดอาจทำให้ไทยขยับลำบาก ที่ผ่านมาไทยพลาดโอกาสหลายครั้งแล้ว ครั้งนี้อยากให้เทคโนโลยีการสื่อสารที่กสทช.ดูแลถูกนำมาใช้ประโยชน์ให้กับประชาชน และผู้ประกอบการมากที่สุด

 


ส่วนภาคเอกชน นายพิสุทธิ์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บมจ.หลักทรัพย์กสิกรไทย กล่าวว่า จากนี้ไปต้องการให้ กสทช.ชุดใหม่เป็นองค์กรที่มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น เหมือนกับธนาคารแห่งประเทศไทย ( ธปท.) ซึ่งอาจจะต้องใช้ระยะเวลา พร้อมกันนี้เมื่อมองไปข้างหน้าอยากเห็นกสทช.ให้ความสำคัญกับกลไกของตลาด ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ ที่จะทำให้ธุรกิจและประเทศเดินหน้าไปได้ ไม่อยากเห็นการกำกับดูแลที่โน้มเอียง จะทำให้เกิดการผูกขาด ในหลายๆ ธุรกิจที่เริ่มเชื่อในระบบทุนนิยม หากไม่เข้าไปดูแลทุนนิยมจะเอาเปรียบผู้บริโภคเพื่อเติบโต กสทช.จึงมีหน้าที่ดูแลว่าการแข่งขันมีความสมบูรณ์หรือไม่ โดยเฉพาะในพื้นที่หรือตลาดที่ไม่เห็นประโยชน์ อาทิ พื้นที่ห่างไกล คนยากคน ผู้ที่ไม่มีโอกาส กสทช. จึงต้องเข้าไปดูแลมากขึ้น รวมทั้งภาคธุรกิจในส่วนของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี กสทช. จะต้องช่วยเหลือในการอัพเกรดเทคโนโลยี ต้องประเมินว่าเงินทุนจะพอหรือไม่ ความรู้จะเพียงพอหรือไม่ ซึ่งตรงนี้จะต้องได้รับความช่วยเหลือ

 

หากทุนใหญ่ก้าวหน้าอย่างเดียว แต่ทุนกลางและทุนเล็กไม่ก้าวตาม ประเทศจะไม่แข็งแรง เพราะไม่เกิดการแข่งขัน ทำให้สุดท้ายในอนาคตทุนใหญ่จะเข้ามาเอาเปรียบผู้บริโภค โดยหากมองไปข้างหน้า อยากเห็นกลไกตลาดที่ทำงานดีกว่านี้
สำหรับกสทช.ชุดใหม่ ต้องเห็นอย่างเร็วในต้นปี 2564 เพื่อให้หลายๆ เรื่องเดินหน้าต่อ หากมาช้ากว่าที่ควรจะส่งผล กระทบ 2 เรื่อง คือ

1.ประมูลดาวเทียมใหม่ สัญญาสัมปทานดาวเทียมไทยคม ที่จะหมดสัญญาในปี 2564 หากไม่มีกรรมการตัวจริง จะเกิดอะไรขึ้น กรรมการที่รักษาการอยู่จะกล้าดำเนินการหรือไม่ หากไม่มีการให้ใบอนุญาตดาวเทียมดวงใหม่ เพื่อสร้างดาวเทียมขึ้นไปใหม่ และถ่ายโอนลูกค้าจากดาวเทียมเก่าสู่ดาวเทียมใหม่ จะสร้างความเสียหายในเชิงธุรกิจ

 

2.ตลาด 5 G มีผู้เล่นเพียง 2 ราย ได้แก่ เอไอเอส และทรู ที่มีคลื่น 2600 MHz ไม่นับดีแทค เพราะไม่ได้ประมูลคลื่นดังกล่าวไป แต่ดีแทค มีคลื่น 2300 MHz ที่สามารถใช้ทำ 5 G ได้เช่นกัน

 

จึงมองว่ากสทช.น่าจะแก้กฎกติกาเข้าไปช่วยเปิดโอกาสให้ ดีแทคเข้าสู่ตลาด 5 G เพื่อให้มีผู้เล่นเพิ่มขึ้นได้ ต้องทำให้ ผู้บริโภคมีตัวเลือก และผู้ประกอบการสามารถอยู่ได้ โดยหากทุกอย่างไม่เป็นตามที่ประเมินไว้ จะส่งผลกระทบต่อหุ้นโทรคมนาคมให้ปรับราคาลงได้

 


ด้านนายสมเกียรติ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า กสทช.ชุดเดิมต่ออายุยาวเกินไป ทำหน้าที่มา 8-9 ปี ทำให้ความเชื่อมั่นบางส่วนหายไป การสรรหากสทช.ชุดใหม่ครั้งนี้เป็นเสมือนการถอดสลักประเทศ ดังนั้น กสทช.ชุดใหม่ควรจะเข้ามาทำหน้าที่พื้นฐานอย่างตรงไปตรงมา ออกกฎกติกาให้โปร่งใส ยุติธรรม สามารถกำกับดูแลได้จริง ต้องสร้างการแข่งขัน และคุ้มครองผู้บริโภคได้ ที่สำคัญต้องสร้างความเชื่อถือให้องค์กรนี้มากขึ้น

 


นายสุชัชวีร์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง แนะว่า กรรมการ กสทช.ชุดใหม่ต้องเป็นดีไซเนอร์ หมายถึง การออกแบบนโยบาย และกฎหมาย ในอนาคตเทคโนโลยีอะไรที่จะมาเติมให้คนไทยมีคุณภาพมากขึ้น จะใช้กฎหมายใดในการออกแบบประเทศให้มีคุณภาพ และจะทำอย่างไร กสทช.ชุดใหม่ไม่ใช่เป็นเรกกูเลเตอร์ที่การเข้ามาเพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลเท่านั้น

 


“บทบาทของกสทช.ในฐานะนักออกแบบอนาคตประเทศไทย ขอแนะนำว่า 1.กสทช.ต้องมีคนที่เก่งที่สุดในโลกในการสร้างสรรค์กรอบที่มีอยู่ 2.ต้องตั้งเป้า ทำให้ประเทศไทยแข่งขันได้อย่างแท้จริง 3.เป็นเรื่องที่สำคัญมาก กสทช.ชุดนี้ต้องมีกุศโลบาย ต้องมีลีลาในการเจรจาให้เกิดดอกผลใหม่ๆ กับหน่วยงานที่จะเข้ามาสนับสนุนในเรื่องต่างๆ ช่วยสร้างแต้มต่อให้กับภาคเอกชน ที่เข้ามาช่วยทำงาน และ4.ต้องส่งเสียงถึงรัฐบาลและสภา ว่ากฎหมายใดที่มีอยู่ในปัจจุบันมีความล้าหลัง เพื่อให้เกิดการแก้ไข”

 


เป็นความคาดหวังครั้งสำคัญที่อยากเห็น 7 เสือกสทช.ตัวจริงกับบทบาทเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจไทยด้วยเทคโนโลยี
และทำหน้าที่ให้อยู่บนความโปร่งใส และยุติธรรม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง