น้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก "เลโก้" (LEGO) ตัวต่อพลาสติกชิ้นเล็ก ๆ หลากรูปทรงและสีสันที่สามารถนำมาประกอบกันเป็นรูปร่างต่าง ๆ มากมายตามจินตนาการของแต่ละคน เลโก้ไม่เพียงแต่จะเป็นของเล่นยอดนิยมสำหรับเด็กเกือบจะทุกเพศทุกวัย มันยังเป็นของเล่นที่อยู่ในความทรงจำของผู้คนจำนวนไม่น้อยในสมัยที่พวกเขายังเป็นเด็กและต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันอีกด้วย เห็นได้จากมูลค่าของแบรนด์สูงถึงกว่า 6.7 พันล้านเหรียญ (หรือประมาณ 2.15 แสนล้านบาท) ในปี 2019 ที่ผ่านมา ซึ่งนับว่าสูงมากที่สุดในโลกและมากกว่าคู่แข่งชนิดไม่เห็นฝุ่นกันเลยทีเดียวครับ ใครอยากจะรู้ว่าแบรนด์ของเล่นอื่น ๆ ที่มีมูลค่าสูงติดอันดับโลกก็สามารถไปดูได้จากการจัดอันดับของ Statista ครับเลโก้นั้นเป็นของเล่นสัญชาติเดนมาร์ก ที่ประดิษฐ์คิดค้นโดยช่างไม้ที่ชื่อว่า Ole Kirk Christiansen โดยเขาได้เริ่มประดิษฐ์ของเล่นที่ทำจากไม้ตั้งแต่ปี 1932 จนต่อมาในปี 1934 บริษัทของเขาก็มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า LEGO ซึ่งเป็นตัวย่อของคำว่า Leg godt ที่มีความหมายว่า “Play Well” หรือของเล่นที่เล่นแล้วดี หรือเล่นได้ดีประมาณนั้นล่ะครับบริษัทของ Ole ผลิตของเล่นที่ทำจากไม้มาจนกระทั่งในปี 1947 ที่เขาซื้อเครื่องจักรสำหรับขึ้นชิ้นงานใหม่และเริ่มผลิตของเล่นด้วยพลาสติก หลังจากนั้นของเล่นที่ทำจากพลาสติกก็เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่เลโก้เองก็ได้พัฒนาของเล่นให้มีคุณภาพมากขึ้นจนสามารถจดสิทธิบัตรตัวต่อเลโก้อย่างที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบันเมื่อปี 1958และที่ผมกล่าวในตอนต้นว่าเลโก้นั้นถือได้ว่าเป็นของเล่นเปลี่ยนโลกก็เพราะ เลโก้นั้นเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเล่นของเด็กไปอย่างสิ้นเชิง ไม่เพียงแค่เล่นง่ายและสนุกสนานซึ่งนับว่าเป็นคุณสมบัติพื้นฐานที่สำคัญของของเล่นแล้ว เลโก้ยังช่วยให้เกิดพัฒนาการด้านความคิดสร้างสรรค์และสติปัญญา เพราะในระหว่างที่เด็กมีความสุขในโลกแห่งจินตนาการ พวกเขาก็ยังได้พัฒนาทักษะด้านกล้ามเนื้อ (Motor Skills) ที่ช่วยให้สมองของเด็กพัฒนาได้ดีขึ้น นอกจากนี้ เลโก้ยังช่วยเสริมสร้างพัฒนาการทางด้านอารมณ์และจิตใจของผู้เล่นอีกด้วย ดังนั้นเราจึงไม่แปลกใจที่โรงเรียนและสถาบันการศึกษาต่าง ๆ จำนวนมากจะนำเลโก้มาใช้เป็นสื่อในการสอนแม้ว่าเลโก้จะเป็นที่รู้จักในฐานะของเล่นสำหรับเด็กมานาน ปัจจุบันเลโก้ยังเป็นของเล่นสำหรับผู้ใหญ่จำนวนไม่น้อย ดังจะเห็นจากการรวมตัวกัน (ทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์) เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยน เกี่ยวกับความชอบและความหลงใหลในเลโก้ โดยอาจจะมีการพูดถึงความท้าทายในการสร้างผลงานครั้งต่อไป วางแผนและถกเถียงกันเกี่ยวกับวิธีการที่พวกเขาที่จะบรรลุเป้าหมาย รวมถึงการแข่งขันอย่างเอาจริงเอาจังกับกลุ่มอื่น ๆ ที่มีความชอบในแนวเดียวกันเลโก้เองในปัจจุบันมีอิทธิพลต่อแนวคิดในแวดวงต่าง ๆ มากมายครับ ศิลปินหลายคนนำเอาเลโก้มาสร้างสรรค์เป็นผลงานชั้นเยี่ยม สถาปนิกระดับมืออาชีพนำเอาเลโก้มาใช้ในการออกแบบงานทางด้านสถาปัตยกรรม แม้แต่คนทั่วไปที่อาจนำเอาเลโก้มาช่วยในการออกแบบบ้านในฝันของตัวเอง บริษัทบางแห่งใช้เลโก้เป็นเครื่องมือในการประเมินความคิดสร้างสรรค์ การแก้ไขปัญหา รวมถึงการค้นหาความสามารถพิเศษของพนักงาน แม้แต่องค์การนาซ่า (NASA) เองก็มีการใช้เลโก้ในโครงการต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นให้เด็กมีความสนใจเกี่ยวกับอวกาศ ยังไม่นับรวมถึงแวดวงบันเทิง อาทิ หนังสือ เกม และภาพยนตร์ที่นำเลโก้มาเป็นตัวดำเนินเรื่องมาถึงจุดนี้แล้ว หลายคนคงไม่แปลกใจที่จะเห็นการนำเอาเลโก้ไปประยุกต์ใช้ในแวดวงธุรกิจ หรืออุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้อีก ใครจะรู้ว่าในอนาคตเราอาจขับรถ หรืออาศัยในบ้านที่ทำจากเลโก้จริง ๆ ก็ได้ครับ หากเป็นเช่นนี้ บทบาทของเลโก้คงเป็นมากกว่าคำว่า “ของเล่น” และคำจำกัดความของคำว่าของเล่นในอนาคตก็อาจเปลี่ยนไปอ้างอิงWikipediaLegoblockshellNASAขอบคุณภาพจากภาพปก Semevent/Pixabayภาพที่ 1 Wikipediaภาพที่ 2 simonprodl/Pixabayภาพที่ 3 StockSnap/Pixabayภาพที่ 4 Wikipedia