รีเซต

ย้อนเส้นทาง ‘ชัชชาติ’ วิ่งมาราธอน 2 ปี คว้าชัย (ว่าที่) ผู้ว่าฯ กทม.จากการ ‘เลือกตั้ง’ คนแรกหลังรัฐประหาร

ย้อนเส้นทาง ‘ชัชชาติ’ วิ่งมาราธอน 2 ปี คว้าชัย (ว่าที่) ผู้ว่าฯ กทม.จากการ ‘เลือกตั้ง’ คนแรกหลังรัฐประหาร
มติชน
22 พฤษภาคม 2565 ( 19:41 )
78
ย้อนเส้นทาง ‘ชัชชาติ’ วิ่งมาราธอน 2 ปี คว้าชัย (ว่าที่) ผู้ว่าฯ กทม.จากการ ‘เลือกตั้ง’ คนแรกหลังรัฐประหาร

“ผมวิ่งมาราธอน ไม่ใช่วิ่ง 1,000 เมตร อาศัยยืนระยะ ทำต่อเนื่อง พลุไม่ได้ระยะยาว เราทำแต่ละพื้นที่ดีกว่า”

 

เป็นคำกล่าวของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เมื่อ ‘มติชน’ ถามถึงการเดินทางสู่เก้าอี้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ 8 มกราคม 2565 ครั้งเดินทางมาร่วมงานวันคล้ายวันก่อตั้งหนังสือพิมพ์มติชนรายวันสู่ปีที่ 45

 

ขณะนั้น ยังไม่มีการเปิดรับสมัคร ยังไม่ได้เป็นเจ้าของเบอร์ 8 ยังไม่มีวันเวลาแน่ชัดว่าจะได้เลือกตั้งกันวันไหน

ทว่า ชัชชาติ ออกตัว เตรียมตัว และลงพื้นที่สุดตัวมานานนับปี

แม้มีผู้สมัครรายอื่นๆ ทยอย ‘เปิดหน้า’ ท้าชิงตำแหน่ง

ชัชชาติ บอกในขณะนั้นว่า ‘ยิ่งเปิดยิ่งดี หลายตัวเลือกยิ่งดี ยิ่งทำให้บรรยากาศเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบ’

เมื่อถามถึงจุดแข็ง (อดีต) รัฐมนตรีที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี ตอบว่า

 

1.ความสม่ำเสมอ

“เราลงพื้นที่ต่อเนื่อง เห็นปัญหาชัดเจน เป็นความจริง (Realistic) คงจะตอบปัญหาจริงๆ คืดว่านี่คือจุดแข็งแรง”

 

2.การยืนเป็นอิสระ

“2 ปีมานี้ มีคนมาช่วยจำนวนมาก ที่บางทีเขาอาจจะเบื่อการเมืองใหญ่ เบื่อความขัดแย้งระหว่างพรรค ซึ่งบางทีท้องถิ่นไม่จำเป็นต้องคิดถึงเรื่องใหญ่มาก มันคือการรับใช้ประชาชนในพื้นที่ ความขัดแย้งในการเมืองใหญ่ไม่จำเป็นต้องลงมาถึงการเมืองระดับท้องถิ่น” นักวิ่งมาราธอนนามชัชชาติกล่าวในขณะนั้น

 

ส่วนนโยบายคือ ‘กรุงเทพต้องเป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน’

 

“เราต้องมีคำตอบสำหรับทุกเจน คนถามเสมอว่าอะไรคือปัญหาของ กทม. กทม.มีปัญหาเป็น 100 เรื่อง แต่ละกลุ่มก็มมีปัญหาต่างกันไป เราต้องออกนโยบายที่สนองทุกกลุ่มได้”

 

ชัชชาติ ยังย้ำด้วยว่า เชื่อมั่นว่าจะเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆได้ แค่เปลี่ยนทัศนคติ  เป้าหมาย และ ‘โฟกัสคนตัวเล็กตัวน้อย’ ให้มากขึ้น

ตัดภาพมาในวันที่ 31 มีนาคม 2565 เวลาประมาณ 09.50 น. ชัชชาติ ผู้สมัครรับเลือกตั้งในนามอิสระ ชิงเก้าอี้ผู้ว่ากทม. จับสลากได้เบอร์ 8 โดยเจ้าตัวเผยว่า

“เบอร์ 8 ก็ดี เป็นรูปอินฟินิตี้พลังไม่หยุดหย่อน ทุกเลขเป็นเลขดีทั้งหมด ก็ลุยครับ ไม่มีปัญหา วินาทีที่จับไม่ได้มีเลขในใจเพราะตัวเลขไม่ได้มีผลอะไรมาก ขอให้ประชาชนจำได้ก็พอ แล้วเดี๋ยวประชาชนก็ไปเลือกเอง เบอร์เป็นเพียงตัวแทนสื่อเท่านั้น”

จากนั้น ยังย้ำว่า หากได้เป็นผู้ว่ากทมฯ จะเลือกนโยบายหลักๆ ให้ชัดเจนขึ้นมา ซึ่งมีหลายอย่างไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณ เพียงแค่เปลี่ยนแนวคิดก็สามารถทำได้ ซึ่งเป็นการตอบโจทย์ของคนทุกคน ถ้าได้เป็นสิ่งแรกที่จะได้เห็นเลย คือการบริการประชาชนแบบโปร่งใส ไม่ส่วย ไม่เส้น ปรับให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง เอาเทคโนโลยีมาใช้ เปิดเผยข้อมูลของกรุงเทพ ให้บริการออนไลน์ ใช้แอพพลิเคชั่นในการแจ้งเหตุและสื่อสารกับประชาชน ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถทำได้ทันที

นับแต่นั้น ชัชชาติ ใช้เวลา 52 วันที่เหลือ ลงพื้นที่หาเสียง พูดคุย หารือ รับฟังปัญหา เช่นเคย โดยมีการทำ ‘ป้ายหาเสียง’ แบบ ‘ไดเอท’ ลดขนาดป้ายให้เหลือขนาด 60 เหลือขนาดเท่าเสาไฟฟ้า เพราะ ‘ไม่อยากเปลืองทรัพยากร’

“กระดาษ ใบปลิวที่ใช้ก็เป็นกระดาษแบบรีไซเคิล รถที่ใช้ก็ใช้รถ EV ให้มากที่สุด เพราะไม่อยากให้รถหาเสียงไปเพิ่ม P.M 2.5 ก๊าซพิษ ซึ่งเป็นแนวคิดที่เริ่มด้วยการรักเมือง” ชัชชาติระบุ

นอกจากนี้ ยังสามารถรียูส รีไซเคิล ถึงขนาดทำเป็น ‘แบบกระเป๋า’ ให้นำไปตัดเย็บใช้งานได้จริง กระทั่ง ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นร้อง กกต. กรณีป้ายหาเสียงดังกล่าวว่าอาจเข้าข่าย ‘สัญญาว่าจะให้’ ก่อนทีมงานจะออกมาชี้แจงว่าเป็นไปตามกฎหมาย และนโยบายรักษาสิ่งแวดล้อม

สำหรับนโยบาย ชู “กรุงเทพฯ 9 ดี” หรือ นโยบาย 9 มิติ  ได้แก่ ปลอดภัยดี สุขภาพดี สร้างสรรคืดี สิ่งแวดล้อมดี บริหารจัดการดี เรียนดี โครงสร้างดี เศรษฐกิจดี เดินทางดี

หันไปดูกระแสตอบรับและโพลต่างๆ ล้วนสอดคล้องกันว่า ชัชชาติ เบอร์ 8 นำโด่งทุกโพล จนหลายฝ่ายใช้คำว่า ‘นอนมา’ กระทั่งเจ้าตัวออกมาย้ำว่า ขอให้ทุกคนที่มีสิทธิร่วมกันออกมาเลือกตั้ง หากพากันคิดว่าตนนอนมา แล้วไม่เข้าคูหา คราวนี้ ตนคงนอนมาจริงๆ ‘แต่มีพระนำ’

22 พฤษภาคม หลังปิดหีบเลือกตั้ง ชัชชาติ คะแนนนำทิ้งห่างมาตั้งแต่เริ่มนับ เสียงขาน ‘บัตรดี เบอร์ 8’ ดังขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าแบบไม่ต้องลุ้น

ในที่สุด ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ คือ (ว่าที่) ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่ และคนแรกที่มาจากการเลือกตั้ง หลังรัฐประหารโดย คสช.  

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง