Cover Photo by bongkarn thanyakij from Pexelsฉันเคยนั่งในรถเงียบ ๆ ฟังคนคุยไม่เก่ง พยายามชวนคนคุยไม่เก่งคุย บอกเลยว่ามันเป็นสภาวะที่ฟังแล้วน่ากระอักกระอ่วนใจ คนชวนคุยก็ดูวิตกกังวลว่าจะชวนคุยเรื่องอะไร คนตอบก็เหมือนจะสงวนคำพูดไว้ ถามอะไรไปก็ตอบมาคำเดียวเหมือนกลัวดอกพิกุลจะร่วงสมัยฉันยังวัยรุ่นก็มีปัญหาเรื่องชวนคนคุย ในสมองนั้นมีเรื่องคุยมากมาย แต่ความเป็นวัยรุ่นก็มักมีความวิตกกังวลใจ อีโก้ยังมากเกินไป จนกลัวจะพูดออกไปแล้วดูไม่ดีความกลัวว่าตัวเองจะถามอะไรที่น่าเบื่อ หรือชวนคุยเรื่องที่คนอื่นไม่สนใจ ทำให้คิดมากเกินไปจนไม่กล้าคุยสักเรื่อง เมื่อโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ การชวนคุยกลายเป็นส่วนหนึ่งของหน้าที่การงาน ทุกวันต้องพบปะคนหมู่มาก ชีวิตข้องเกี่ยวกับผู้คนหลากหลาย การเปิดบทสนทนากับคนแปลกหน้าเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้อีกแล้วหากคุณเคยเป็นคนขี้อาย หรือห่วงภาพพจน์เกินไปว่าจะต้องคุยอะไรให้ดูดี ลองมาดูเทคนิคชวนคุย 7 ข้อนี้กันไหม เผื่อจะช่วยให้คุณรู้สึกว่าการชวนคุยมันง่ายขึ้นเยอะเลยPhoto by fauxels from Pexels1. ขว้างความกังวลทิ้งไป ฉันมั่นใจว่าคนส่วนใหญ่ที่ชวนคุยไม่เก่งเพราะมีความกังวลสูง คนขี้อายบางคนถึงกับหลบไปซ่อนอยู่ในห้องน้ำแค่จะเลี่ยงการพูดคุยกับผู้คน เชื่อไหมแค่โยนความกังวลลงชักโครกไป การพูดคุยจะเป็นอะไรที่ง่ายขึ้นมาก ก่อนคุยกับคนอื่นให้คุณฝึกคุยกับตัวเองก่อน “เรากลัวเพราะเรากังวลมากไป เอาจริง ๆ ไม่เห็นมีใครน่ากลัวอย่างที่มโนเลย”“ต่อให้แย่ที่สุดก็ไม่น่ามีอะไร อย่างมากก็แค่คุยไปแล้วเขาเงียบ”“เขาจะชอบไม่ชอบเราแล้วไง ไม่เห็นตายสักหน่อยนี่นา”“แค่เพราะเคยชวนคนคุยแล้วหน้าแตกครั้งนั้น ใช่ว่ามันจะต้องเกิดขึ้นอีกเมื่อไหร่ล่ะ”"ใครจะเคยวิจารณ์เรายังไงอย่าไปแคร์ แค่ความเห็นของคนเดียวทำอะไรเราไม่ได้”“เราเป็นคนน่ารักออกจะตาย เราพูดจาน่าฟัง ความคิดเราก็น่าสนใจ”Photo by fauxels from Pexels2. คิดถึงวัตถุประสงค์ไว้คุณเชื่ออะไรผลลัพธ์ก็เป็นอย่างนั้น ถ้าคุณชวนคนคุยด้วยความเชื่อว่า คุณคุยไม่เก่ง คุณไม่น่าสนใจ ทักษะเข้าหาคนของคุณไม่เอาไหน บทสนทนาของคุณจะออกมาเป็นแบบที่คุณเชื่อ ดังนั้นโยนความเชื่อลบ ๆ ทิ้งไป เลิกขาดไปเลยที่ชอบตีตราตัวเองว่า “ฉันพูดจาไม่เอาอ่าว” “ฉันชวนคุยไม่เก่ง” “ฉันน่าเบื่อ” เลิกคิดเสียทีว่าการชวนคุยทุกครั้งต้องพยายามเอาชนะใจเพื่อให้ใคร ๆ ชอบคุณ คิดถึงวัตถุประสงค์จริง ๆ ของการชวนคุยเข้าไว้ การชวนคุยเป็นแค่การทำความรู้จักกันเบื้องต้น เพื่อนำไปสู่ความสัมพันธ์ ไปสู่การทำความรู้จักกันต่อในภายหลัง หรือการร่วมงานกันในอนาคต3. ใช้ความสงสัยให้เป็นประโยชน์ตัดความกังวลออกไป แล้วใช้ความสงสัยอยากรู้อยากเห็นของคุณให้ประโยชน์แทน ความสนใจใคร่รู้จักคนอื่นให้ดีขึ้นนั้นเป็นเสน่ห์ เมื่อคุณแสดงความใส่ใจ ทำให้ผู้คนอยากพูดคุยกับคุณ อย่าทักทายว่า “สวัสดีค่ะ” “สบายดีหรือคะ” อย่างเป็นหน้าที่ ถามไปแล้วให้ฟังคำตอบจริงจัง และคอยตั้งคำถามต่อไปอย่างสนใจจริง ๆ คู่สนทนาของคุณจะสัมผัสได้ บรรยากาศของความรู้สึกสบายใจจะเกิดขึ้นPhoto by mentatdgt from Pexels4. ถามคำถามจนกว่าจะรู้สึกสบายใจธรรมดาคนขี้อายจะไม่ชอบเปิดเผยตัวเอง ถ้าคุณไม่ชอบเล่าเรื่องตัวเองกับคนแปลกหน้าเท่าไหร่ ก็อย่าสร้างความอึดอัดด้วยการถามคำตอบคำ อาจเล่าเรื่องตัวเองนิดหน่อย แล้วตั้งคำถามใหม่ ให้อีกฝ่ายเล่าเรื่องตัวเองสลับไปเรื่อย ๆ ทำตัวเป็นผู้ฟังที่ดีจนคุณพอจะจับทางอีกฝ่ายได้ และรู้สึกปลอดภัยพอที่จะเล่าเรื่องคุณเองแบบละเอียดขึ้นบ้าง5. เลี่ยงการตอบคำถามแบบปลายปิดระวังอย่าถามมากเกินไปจนทำให้อีกฝ่ายรู้สึกเหมือนถูกสอบสวน คุณต้องปล่อยข้อมูลตัวเองออกไปบ้าง และระวังอย่าตอบคำถามแบบปลายปิด เช่น ค่ะ ใช่ ครับ ไม่ครับ เป็นอันขาด เพราะจะเกิดความเงียบที่น่าอึดอัดขึ้นมา ให้ตอบคำถามแบบปลายเปิดไว้จะน่าสนใจกว่ามากสมมติคุณถูกถามระหว่างสัมมนาว่า “สวัสดีค่ะ สบายดีหรือคะ” แทนที่จะตอบว่า “สบายดีครับ” แล้วนิ่งเงียบ คุณอาจตอบอะไรที่ปลายเปิด เช่น “สบายดีครับ นอกเสียจากอิ่มไปหน่อย ขนมที่นี่อร่อยเกินไปคุณว่าไหมครับ“สมมติถูกถามระหว่างท่องเที่ยวว่า “มาจากไหนครับ” แทนที่จะตอบว่า “เมืองไทยค่ะ” แล้วนิ่งเงียบ คุณอาจตอบอะไรที่ปลายเปิดกว่า เช่น “มาจากประเทศที่ร้อนที่สุด ทะเลสวยที่สุด และอาหารอร่อยสุด ๆ ค่ะ ทายออกไหมคะ”Photo by Andrea Piacquadio from Pexels6. อย่าเอาแต่นิ่ง จะถูกตีความว่าหยิ่งหรือไม่สนใจถ้าคุณเป็นคนขี้เขินขี้อาย เปิดเผยตัวเองน้อยไป หลบตาคนไปมองอะไรอื่นเสมอ ระวังคนจะมองว่าคุณหยิ่ง ถ้าไม่รู้จะพูดอะไรจริง ๆ อย่าปล่อยหน้าตัวเองให้นิ่งเฉย อย่าแก้เขินด้วยการก้มหน้าทำอะไร หรือเสหันไปมองทางอื่น เมื่อนึกคำพูดไม่ออกให้ยิ้มเข้าไว้ แสดงสีหน้าสนใจและกระตือรือล้นที่จะฟัง ป้องกันคู่สนทนาคิดว่าคุณไม่ชอบหรือกำลังเบื่อหน่ายบ่อยครั้งที่ฉันเจอคนที่ยิ้มให้แล้วเขาไม่หืออืออะไร จนอดตีความไม่ได้ว่าเขาหยิ่ง มารู้ทีหลังว่าเขาทำตัวไม่ถูกเพราะอาย ไม่รู้จะตอบว่าอะไรเลยทำเป็นไม่เห็นเสียอย่างนั้น7. จับสัญญาณเปลี่ยนเรื่องคุย ถ้าเผลอคุยยาวไปหรือลึกไป จนคู่สนทนามีท่าทีไม่สนใจเรื่องที่คุณคุย จับสังเกตสัญญาณนั้นแล้วเปลี่ยนเรื่องคุยทันที อาจโยนคำถามน่าสนใจกลับไปที่เขา เช่น “เดี๋ยวนี้ข่าวออนไลน์เยอะจนแทบไม่ค่อยได้อ่านหนังสือเลย คุณอ่านเล่มสุดท้ายเมื่อไหร่ครับ” “ช่วงกักตัวจากโควิดทำให้ออกกำลังกายน้อยลง คุณเป็นเหมือนกันไหมคะ” “เห็นเขาว่าซีรี่ส์ในเน็ตฟลิกซ์สนุกมาก มีเรื่องไหนแนะนำไหมครับ”Photo by nappy from Pexelsไม่ว่าบทสนทนาของคุณจะเวิร์คหรือไม่ อย่าเก็บไปคิดมากกังวล คิดทางบวกว่ายิ่งเจอประสบการณ์มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งได้บทเรียนกลับมาปรับปรุงเท่านั้นการชวนคุยเป็นศิลปะที่ฝึกฝนได้ ยิ่งคุยบ่อยขึ้นจะยิ่งเพิ่มความมั่นใจ ต่อไปคุณจะเริ่มเปิดบทสนทนากับคนง่าย หาเรื่องมาคุยได้อย่างสบาย และคุยได้อย่างเป็นธรรมชาติมากขึ้นไปเอง