การที่ผู้คนได้กินอาหารอย่างมีความสุข โลกทั้งใบก็พลอยจะมีความสุขตามกันไปด้วยนั่นเอง อาหารไทยเป็นอาหารที่ขึ้นชื่อในอันดับต้น ๆ ของโลก เป็นที่นิยมและรู้จักกันอย่างกว้างขวางของชาวต่างประเทศ จากเดิมที่เราเป็นประเทศเกษตรกรรม ปลูกพืช ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ จนปัจจุบันนี้เราค่อย ๆ พัฒนาขึ้นมาเป็นประเทศอุตสาหกรรมด้านอาหาร ด้วยความพร้อมทางด้านต่าง ๆ จากการที่ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบชั้นดี นโยบายภาครัฐที่มุ่งให้ครัวไทยไปเป็นครัวของโลก จึงไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย หากทุกภาคส่วนควรจะช่วยกันผลักดันให้เดินหน้าอย่างเต็มกำลังขอบคุณภาพประกอบจาก pxhere แม้อาหารไทยจะเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง เป็นที่ชื่นชอบอย่างมากทั้งในยุโรปและอเมริกาก็จริง แต่การก้าวสู่การเป็นครัวโลกแบบยั่งยืน ก็ยังมีอีกหลายปัจจัยเป็นตัวกำหนด ปัจจัยหลักอย่างหนึ่งก็คือสภาพภูมิอากาศของโลกที่เปลี่ยนไปจากเมื่อก่อนมากมาย ปรากฎการณ์ธรรมชาติที่มาในรูปแบบต่าง ๆ จนทำให้ฤดูกาลแปรผันไปจากที่เราคุ้นชิน ยังรวมไปถึงปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ ด้วย เช่น การพัฒนาเทคโนโลยี พัฒนากระบวนการทางวิทยาศาสตร์อาหาร กระบวนการผลิต ซึ่งทุกเรื่องที่ว่ามามีส่วนที่ทำให้วัตถุดิบแปรเปลี่ยนไปได้ขอบคุณภาพประกอบจาก pxhere การรวมตัวกันอย่างเข้มแข็งของประเทศที่เป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบ ก็เป็นส่วนสำคัญอีกส่วนหนึ่ง หากเกิดการรวมตัวของประเทศในภูมิภาคเดียวกันเพื่อสร้างอำนาจต่อรองทางการตลาดกับนานาประเทศได้จริง การส่งเสริมธุรกิจก็ไปได้ไกล อุตสาหกรรมอาหารก็ต้องการความมั่นคงไม่แพ้ธุรกิจแขนงอื่นเช่นกัน อุตสาหกรรมอาหารของไทย หรือที่เรียกว่าในภาษาที่เข้าใจง่าย ๆ ว่า ครัวโลก จำเป็นต้องมีการเชื่อมร้อยความร่วมมือระหว่างภาครัฐบาล กับภาคเอกชน รวมถึงหน่วยงานที่ทำหน้าที่ศึกษาหาความรู้ พัฒนานวัตกรรมด้านต่าง ๆ เพื่อรองรับฐานการผลิตในอนาคต เราปฏิเสธไม่ได้แล้วล่ะว่าการทำเกษตรกรรมสมัยใหม่ จำเป็นต้องพึ่งวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีที่ทันสมัยให้เข้ามามีส่วนช่วยในการพัฒนา มาสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ เพื่อป้อนวัตถุดิบชั้นดีให้กับอุตสาหกรรมอาหารขอบคุณภาพประกอบจาก pxhere ประเทศไทยและประเทศเพื่อนร่วมภูมิภาคอื่น ๆ กุมความได้เปรียบเรื่องดินน้ำอากาศเป็นทุนตั้งต้น แต่คนที่ประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรมในภูมิภาคนี้กลับเป็นคนที่ยากจนที่สุดเมื่อเทียบกับฐานอาชีพอื่น นั่นเพราะคนส่วนใหญ่ทำนา ทำไร่ ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ตามความรู้เดิม ๆ จากแหล่งเรียนรู้ต้นทางที่ถ่ายทอดต่อ ๆ กันมา ภาครัฐทำได้แค่เข้าไปช่วยเหลืออย่างหลวม ๆหรือเป็นได้เพียงผู้ดูแลปลายทางในเรื่องของการซื้อ-ขาย และส่งออก ยังขาดการส่งเสริมการวิจัยการผลิตที่สอดคล้องกับสังคม ทั้งในระดับท้องถิ่น และวัฒนธรรมอย่างจริงจัง และก็กลายเป็นว่าประเทศเกษตรกรรมหลักหลาย ๆ ประเทศกลับต้องมาแข่งขันกันเองเพื่อแย่งพื้นที่ทำมาค้าขาย ลองคิดดูสิว่า ถ้า ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา ฯลฯ รวมตัวกันผลิตข้าว หรือสินค้าเกษตรอื่น ๆ เพื่อร่วมกันต่อรองกับประเทศมหาอำนาจทางการค้าอย่างยุโรป หรืออเมริกาได้ จะดีมากแค่ไหน แต่ก็นั่นล่ะ การเปลี่ยนแปลงวิธีคิดก็ใช่ว่าจะทำได้ง่าย ๆ ซะเมื่อไหร่ขอบคุณภาพประกอบจาก pxhere ยกตัวอย่างในประเทศไม่ใกล้ไม่ไกลจากเรา ไม่ต้องไปถึงยุโรป อย่างประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้เอง เขามีการจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะทางเพื่อสร้างเสริมนวัตกรรม สนับสนุนงานวิจัย สร้างศูนย์รวบรวมความคิดที่ส่งเสริมให้เกษตรกรในประเทศของเขาสามารถศึกษาเรียนรู้ หรือนำเอกสารข้อมูลกลับไปใช้งานได้และยังได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างจริงจัง จึงไม่แปลกที่เกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา ของประเทศญี่ปุ่นจึงเป็นอาชีพที่มีฐานะมั่งคั่งร่ำรวย เพราะได้รับการพัฒนาองค์ความรู้ และสายการผลิตอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐมีกรอบ มีระเบียบ มีนวัตกรรม ให้เกษตรกรใช้ศักยภาพอย่างได้ประโยชน์สูงสุดนั่นเอง หันมองกลับมาที่นโยบายครัวไทยสู่ครัวโลกของเรา การกำหนดให้ไทยเราเป็นประเทศอุตสาหกรรมอาหารอย่างจริงจัง ไม่ใช่เรื่องไกลเกินฝัน ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทั้งทางบก ทางทะเล สภาพแวดล้อม ภูมิอากาศ ทำให้เราได้เปรียบประเทศผู้ผลิตอาหารอื่น ๆ อาหารไทย ผลไม้ไทย ข้าวไทย เป็นที่นิยมจากทั่วโลกเพราะมีรสชาติที่ดี มีแหล่งที่มาที่มีคุณภาพ และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว อุตสาหกรรมด้านอาหาร และผลิตภัณฑ์การเกษตร อาจทำให้เราเป็นบ้านหลังใหญ่ในการส่งออก การเป็นครัวของโลกจึงผูกพันกับหลาย ๆ เรื่องที่กล่าวมาข้างต้น เพราะปัจจุบันนี้เทคโนโลยีในด้านการแปรรูปอาหารพัฒนาไปไกลมากแล้ว การบรรจุภัณฑ์สินค้าให้ดูสวย สะอาด ปลอดภัย ก็เป็นสิ่งจำเป็น นั่นก็เพราะโลกใบนี้ต้องการอาหารควบคู่ไปกับคุณภาพที่ดีอย่างต่อเนื่องโลกของเราต้องต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพดินฟ้าอากาศ และภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นไม่คาดคิด ความมั่นคงทางอาหารจึงนับเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งของมนุษยชาติ เราคงเคยได้ยินคำพูดที่ว่า "กองทัพต้องเดินด้วยท้อง" กันใช่ไหมขอบคุณภาพประกอบจาก pxhere ครัวไทยครัวโลกไม่ได้มีความสำคัญแค่การผลิตวัตถุดิบป้อนตลาดโลก หรือผลิตอาหารตามความต้องการของลูกค้าเท่านั้น แต่อาหารในโลกยุคใหม่ ต้องมีคุณภาพ มีความปลอดภัย มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เอาใจใส่ดูแลโลก และผู้คนบนโลกด้วย ทุกสิ่งทุกอย่างร้อยเป็นห่วงโซ่เกื้อหนุนกัน วัตถุดิบ การผลิต การพัฒนาอุตสาหกรรม เทคโนโลยีกับธรรมชาติจึงต้องพึ่งพาอาศัยกัน หากมีการส่งเสริมสนับสนุนอย่างจริงจังจากทุกภาคส่วนแล้วล่ะก็ ประเทศไทยของเราก็จะก้าวไปเป็นครัวโลกที่สมบูรณ์แบบ เป็นฐานการสร้างงานสร้างคนที่มีความเชี่ยวชาญ ผลิตวัตถุดิบที่มีคุณภาพ เพื่อสร้างอาหารที่มีคุณภาพป้อนเข้าสู่ตลาดโลก เพราะการที่ผู้คนได้กินอาหารอย่างมีความสุข โลกทั้งใบก็พลอยจะมีความสุขตามกันไปด้วยนั่นเองiSSANDYขอบคุณภาพประกอบจาก pxhereขอบคุณภาพปกจาก pxhere1 pxhere2 pxhere3 pxhere4 pxhere5