รีเซต

เปิดไทม์ไลน์ดับจากโอมิครอนรายที่ 2 ของไทย ป่วยมะเร็งปอด รักษาที่บ้าน 6 วัน ก่อนสิ้นใจ

เปิดไทม์ไลน์ดับจากโอมิครอนรายที่ 2 ของไทย ป่วยมะเร็งปอด รักษาที่บ้าน 6 วัน ก่อนสิ้นใจ
มติชน
17 มกราคม 2565 ( 14:02 )
37
เปิดไทม์ไลน์ดับจากโอมิครอนรายที่ 2 ของไทย ป่วยมะเร็งปอด รักษาที่บ้าน 6 วัน ก่อนสิ้นใจ

เมื่อวันที่ 17 มกราคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค แถลงรายงานสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทย ว่า วันนี้มีรายงานผู้ติดเชื้อใหม่ 6,929 ราย เสียชีวิต 13 คน ผู้ป่วยปอดอักเสบที่ยังรักษา 533 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจสะสม 108 ราย ทั้งนี้ ผู้เสียชีวิตที่ยืนยันสายพันธุ์เป็นโอมิครอน 2 ราย โดยรายที่ 1 จ.สงขลา เป็นหญิงไทย อายุ 86 ปี เป็นผู้ป่วยติดเตียงและอัลไซเมอร์ ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม ประวัติเสี่ยง หลานชายที่เดินทางกลับมาจาก จ.ภูเก็ต เป็นผู้ป่วยยืนยันโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน แพร่เชื้อให้แก่คนในครอบครัว

 

นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า ต่อมาเมื่อวันที่ 6 มกราคม ผู้ป่วยมีไข้ มีเสมหะ ทราบข่าวลูกสาวตรวจพบโควิด-19 หลานสาวตรวจหาเชื้อด้วย ATK ผลบวกจึงส่งต่อเข้ารับรักษาที่โรงพยาบาล (รพ.) หาดใหญ่ เมื่อวันที่ 7 มกราคม เข้ารับรักษาเป็นผู้ป่วยในที่ รพ.หาดใหญ่ แพทย์เก็บตัวอย่าง ส่งตรวจยืนยันที่ห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ผลพบเชื้อมีอาการไข้ 38.5 องศาเซลเซียส ไอ หายใจลำบาก แพทย์รับไว้ที่แผนก เอกซเรย์ปอด ผล infltration both lungs, on ETT แพทย์จ่ายยา Dexamethasone 10mg., Remdesivir และเมื่อวันที่ 12 มกราคม ผู้ป่วยเสียชีวิต เวลา 09.20 น. ส่งตัวอย่างตรวจยืนยันสายพันธุ์ที่ ศวก.12 สงขลา ผลพบเชื้อ SAR-COV-2 สายพันธุ์ โอมิครอน

นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า รายที่ 2 จ.อุดรธานี เพศหญิง อายุ 84 ปี ภูมิลำเนา อ.กุดจับ จ.อุดรธานี โรคประจำตัว มะเร็งที่ปอดระยะสุดท้าย รักษาแบบประคับประคอง ใส่ออกซิเจน ไม่มีประวัติการได้รับวัคซีน ความเสี่ยง เนื่องจากเป็นผู้ป่วยติดเตียง ครอบครัวเป็นผู้ติดเชื้อโควิด เมื่อวันที่ 9 มกราคม ตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR เนื่องจากเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ของลูกชาย ต่อมาวันที่ 10 มกราคม ตรวจพบเชื้อ รพ.ประสานเพื่อเข้ารับรักษา ผู้ป่วยและญาติปฏิเสธการเข้ารักษาใน รพ. แพทย์อนุญาตให้เข้าสู่ระบบรักษาที่บ้าน (Home Isolation) ตามความประสงค์ของผู้ป่วยและญาติ แพทย์ให้ยาฟาวิพิราเวียร์ตามแผนการรักษา และจัดเครื่องวัดอุณหภูมิร่างกายและออกซิเจนปลายนิ้ว โดยออกซิเจนปลายนิ้วอยู่ระหว่าง ร้อยละ 86-90 ไม่มีไข้ ซึ่งก่อนติดเชื้อโควิด-19 ลูกชายที่ดูแลแจ้งว่าค่าออกซิเจนปลายนิ้วก็อยู่ระหว่างช่วงดังกล่าว ผู้ป่วยไม่มีเหนื่อย หายใจไม่หอบ

 

“เมื่อวันที่ 11-12 มกราคม ออกซิเจนปลายนิ้วอยู่ระหว่างร้อยละ 86-90 ไม่มีไข้ โดยวันที่ 13-14 มกราคม ผู้ป่วยรับประทานได้น้อยลง ไม่มีหายใจหอบ ไม่มีไข้ ออกซิเจนปลายนิ้ว ร้อยละ 86-87 ต่อมาวันที่ 15 มกราคม ผู้ป่วยมีอาการเหนื่อย หายใจหอบ คำออกซิเจนปลายนิ้วน้อยกว่า ร้อยละ 76 เปลี่ยนออกซิเจนจาก cannular เป็น mask c bag ให้ออกซิเจนปลายนิ้ว ร้อยละ 90 ประสานผู้ป่วยนำส่งโรงพยาบาล แต่ญาติปฏิเสธการเข้ารับการรักษาใน รพ. แพทย์ให้เพิ่มฟาวิพิราเวียร์ จาก 5 วัน เป็น 10 วัน และเพิ่มมอร์ฟีน ให้เนื่องจากยาเดิมหมด เวลา 16.00 น. ผู้ป่วยตอบสนองได้น้อยลง หายใจหอบลึก และคลำชีพจรไมได้ หัวใจหยุดเต้น เสียชีวิตเวลา 19.45 น. รวมระยะเวลารักษาที่บ้าน (Home Isolation) 6 วัน” นพ.เฉวตสรร กล่าว

 

นพ. เฉวตสรร กล่าวว่า การเสียชีวิตของ 2 ผู้ป่วยนี้ จะเห็นว่า มีการติดเชื้อมาจากคนในครอบครัว และปัจจัยสำคัญของการเจ็บป่วยและเสียชีวิต คือ สูงอายุ มีโรคประจำตัว ดังนั้น ขอให้ทุกครอบครัวระมัดระวัง อย่าใกล้กลุ่มคนเปราะบาง ขอให้เคร่งครัดมาตรการส่วนบุคคล และพากลุ่มคนเปราะบางเหล่านี้มารับวัคซีน เข็มกระตุ้น หรือ เข็มที่ 3 เพื่อให้มีระดับภูมิคุ้มกันที่สูงขึ้น เพราะอาจเป็นไปได้ว่า ธรรมชาติของคนสูงอายุระดับภูมิคุ้มกันไม่ได้สูงอยู่แล้ว พร้อมีแนวคิดปรับร่นระยะเวลาการรับวัคซีน ชนิด mRNA ทั้ง ไฟเซอร์ และ โมเดอร์นา จากเดิม การรับเข็มกระตุ้น หรือ เข็มที่ 3 ต้องห่าง 6 เดือน เหลือแค่ 3 เดือน เท่านั้น เพื่อให้ได้รับวัคซีนเร็วขึ้น เพื่อภูมิคุ้มกันต่อโอมิครอน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง