จากมิสแกรนด์ถึงมิสยูนิเวิร์ส 2สาวงามย้ำสารสู่โลก ช่วยเมียนมาด้วย
จากมิสแกรนด์ถึงมิสยูนิเวิร์ส - การรณรงค์ต่อต้านรัฐประหารเมียนมา ปรากฏบนเวทีการประกวดนางงามระดับอินเตอร์อีกครั้ง
ล่าสุด เมื่อวันที่ 17 พ.ค. บนเวทีการประกวดมิสยูนิเวิร์ส ครั้งที่ 69 ประจำปี 2020/21 จัดที่เมืองฮอลลีวูด รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา
"แคนดี้" น.ส.ตูส่า วิ้น ลวิน มิสยูนิเวิร์ส เมียนมา 2020 สร้างความสนใจในประเด็นนี้ ตั้งแต่รอบการแสดงชุดประจำชาติ เมื่อวันที่ 14 พ.ค.
สาวงามแต่งชุดพื้นเมืองของชาวรัฐชีน ตัดเย็บอย่างประณีต ไม่ได้ดูเว่อร์วังอลังการแบบชุดแฟนซีของชาติอื่นๆ แต่จุดเด่นที่สร้างความฮือฮาคือตอนที่หญิงสาวคลี่ม้วนกระดาษที่มีข้อความ Pray for Myanmar สโลแกนที่ทำให้คนทั่วโลกรับรู้ว่า ชาวเมียนมากำลังตกอยู่ในสถานการณ์อันตรายและยากลำบาก
นับตั้งแต่กองทัพก่อรัฐประหาร ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนของนางออง ซาน ซู จี ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. ชาวพม่าจำนวนมากออกมาชุมนุมต่อต้านบนท้องถนนทั่วประเทศ และประท้วงในรูปแบบอารยะขัดขืน จนถูกคณะรัฐประหารปราบปราม
ถึงวันนี้มีผู้เสียชีวิตกว่า 780 ราย ผู้ถูกจับกุมกว่า 5,000 คน ในจำนวนนี้ 4,000 คนยังอยู่ในการคุมขัง รวมถึงนางซู จี แกนนำพรรคเอ็นแอลดี และบรรดาคนดังในสังคมทุกวงการที่ออกมาส่งเสียงด้วย
แม้ถูกปราบปรามอย่างหนัก แต่พลเมืองเมียนมายังคงต่อต้านการรัฐประหารอยู่อย่างไม่ย่อท้อ รวมถึงสาวงามที่มีโอกาสเปิดตัวบนเวทีระหว่างประเทศ
สำหรับแคนดี้ หลังจากได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางในรอบชุดประจำชาติ ในรอบตัดสิน ช่วงที่หญิงสาวผ่านเข้ารอบการประกวดรอบ 21 คนสุดท้าย และมีคลิปแนะนำตัวนางงามแต่ละคน เธอได้โอกาสสื่อสารกับโลกอีก
สำนักข่าว รอยเตอร์ รายงานว่า คลิปวิดีโอวิดีโอของสาวแคนดี้ เป็นภาพบอกเล่าถึงการต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยคืนมา และยุติการใช้ความรุนแรงต่อประชาชน
"ผู้คนของเรากำลังล้มตายและถูกยิงโดยกองทัพทุกๆ วัน ดิฉันอยากเรียกร้องให้ทุกคนพูดถึงเมียนมา ในฐานะมิสยูนิเวิร์สเมียนมา นับตั้งแต่การก่อรัฐประหาร ดิฉันบอกเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นมากที่สุดเท่าที่ดิฉันจะทำได้"
แม้แคนดี้จะไม่ได้ผ่านเข้ารอบลึกกว่านั้น แต่ชุดชนพื้นเมืองรัฐชีน ได้รับรางวัลชุดประจำชาติยอดเยี่ยมไปครอง แม้ว่าชุดๆ นี้จะไม่ใช่ชุดตุ๊กตาล้มลุกของเล่นพื้นบ้านของเมียนมาที่ตั้งใจไว้ แต่กลับสวยลงตัว
ยิ่งเมื่อมีข้อความ Pray for Myanmar ในยามที่กองทัพพม่าจู่โจมกองกำลังนักรบท้องถิ่นในรัฐชีน อย่างหนัก ความหมายของชุดนี้ยิ่งทรงพลังและคู่ควรแก่รางวัล
แคนดี้ ตูส่า (Candy Thuzar) วัย 21 ปี เป็นนักศึกษาสาว วิชาภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยอีสต์ ย่างกุ้ง ทำงานเป็นนางแบบอาชีพ และบิวตี้บล็อกเกอร์ เป็นตัวแทนเมืองฮ่าก่า (Hakha) รัฐชีน เข้าประกวดมิสเมียนมา 2020 เมื่อเดือนธันวาคม และพิชิตมงกุฎได้
จากมิสแกรนด์ถึงมิสยูนิเวิร์ส
การประกวดครั้งนั้น สาวงามที่ได้รับตำแหน่งรองอันดับ 1 คือ ฮาน เลย์ สาวเมืองมะละแหม่ง หรือเมาะลำไย รัฐมอญ เป็นตัวแทนจากเมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ต่อมาเธอได้เป็นตัวแทนประเทศมาประกวดมิสแกรนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล 2020 ที่กรุงเทพฯ และสร้างความฮือฮาไปทั่วโลกเช่นกัน
ฮาน เลย์ ได้รับโอกาสจากกองประกวดให้กล่าวสุนทรพจน์บนเวที ตรงกับวันกองทัพของเมียนมา วันที่ 24 มีนาคม มีการปราบปรามผู้ชุมนุมอย่างรุนแรง หญิงสาวกล่าวด้วยน้ำเสียงสะเทือนใจและน้ำตาไหล ระหว่างกล่าวถึงเพื่อนร่วมชาติที่เสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก เพียงเพราะต้องการร้องขอประชาธิปไตยคืนมา
ตอนท้ายของการกล่าวสุนทรพจน์ ฮาน เลย์ ยังร้องเพลง Heal the World ของไมเคิล แจ๊กสัน ที่เรียกเสียงปรบมือจากผู้ชมในวันนั้นอย่างกึกก้อง
หลังการประกวดดังกล่าว ฮาน เลย์ ยังไม่สามารถกลับเมียนมาได้ หญิงสาวยังคงพักอยู่ที่กรุงเทพฯ และแสดงออกถึงจุดยืนเดิมอยู่เป็นระยะ รวมถึงการเดินทางไปยื่นหนังสือถึงสถานทูตเมียนมาในกรุงเทพฯ เรียกร้องให้ยุติความรุนแรงต่อประชาชนด้วย
เส้นทางของฮาน เลย์ และแคนดี้ แม้จะเริ่มต้นด้วยการประกวดความสวยความงาม แต่เวทีนางงามได้ช่วยสะท้อนเสียงของสองสาวที่เป็นตัวแทนชาวเมียนมาอีกมากมาย ว่าอย่าได้ลืมมียนมา ซึ่งยังคงตกอยู่ในสถานการณ์ที่ประชาชนยังไม่ได้ความสงบสุข และไม่ได้ประชาธิปไตยคืนมา