หากเอ่ยถึงริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาย่านกุฎีจีน ฝั่งธนบุรี ของกรุงเทพมหานครแล้วละก็ ภาพบรรยากาศอาคารบ้านเรือนสถาปัตกรรมแบบจีนคงจะผุดขึ้นมา เพราะชุมชนแถบนี้มีชาวจีนอาศัยอยู่มาก แม้กระทั่งวัดไทยอย่างวัดกัลยาณมิตร ก็ยังมีสถาปัตยกรรมแบบจีน ครั้งนี้ผมไม่ได้ชวนผู้อ่านไปเที่ยวชมวัดไทย หรือศาลเจ้าจีน แต่จะพามาชมสถาปัตกรรมความงามแบบยุปโรป กับ “วัดซางตาครู้ส” ที่ถือว่ามีส่วนเกี่ยวข้องที่โดดเด่นในประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน แห่งความสัมพันธ์ไทย – โปรตุเกส เลยทีเดียววัดซางตาครู้ส ได้รับพระราชทานที่ดินจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งได้ร่วมมือกับพระองค์ในการศึกต้านกองทัพพม่า (พ.ศ. 2310) โดยพระเจ้าตากสินมหาราชทรงพระราชทานที่ดินให้กับคุณพ่อ (บาทหลวง) กอร์ (Corre) ได้ลงมือสร้างโบสถ์หลังแรกใน พ.ศ. 2312 (ค.ศ.1769) เป็นโรงไม้ได้ถุนสูง แล้วเสร็จใน พ.ศ. 2313 แต่เมื่อถึง พ.ศ. 2376 ชุมชนแห่งนี้ถูกเพลิงไหม้ วัดซางตาครู้สก็โดนด้วย จึงได้สร้างอาคารใหม่เป็นหลังที่สอง สร้างแบบถือปูน นอกจากนี้การก่อสร้างยังเป็นศิลปะแบบจีนอีกด้วย เพราะเหตุนี้วาดซางตาครู้สจึงถูกชาวบ้านเรียกว่า “กุฎีจีน” กลายเป็นอีกชื่อหนึ่งที่ชาวบ้านคุ้นเคยไปเลย ต่อมา ใน พ.ศ. 2459 ก็ได้บูรณะใหม่ให้เป็นสถาปัตยกรรมอีตาเลียนเกือบทั้งหมด ดังปรากฏในภาพ น่าเสียดายนะครับ หากไฟไม่ไหม้จนวอดวายละก็ เราคงได้เห็นโบสถ์คริสต์อาคารไม้เก่าๆ คงสวยงามน่าชมวัดซางตาครู้ส สร้างโบสถ์ครั้งแรก วันที่ 14 กันยายน ซึ่งตรงกับวันมหากางเขน จึงมีชื่อว่าวัดซางตาครู้ส เนื่องจาก ซางตาครู้ส หมายถึง ไม้กางเขนศักดิ์สิทธิ์ เป็นคริสต์นิกายคาทอลิก บรรยากาศโดยรอบผู้อ่านจะพบกับยอดโดมสูงที่สวยงามคล้ายมหาวิหารฟลอเรนซ์ ที่แคว้นทัสคานา ซึ่งถือเป็นจุดที่โดดเด่นของที่นี่ นอกจากนี้มีรูปปั้นพระเยซูและองค์พระแม่มารีตั้งอยู่หลายจุดด้วย ภายในอาคาร เมื่อเข้าไปจะพบกับความโอ่อ่า หรูหรา แต่เรียบง่าย เมื่อแหงนขึ้นมองด้านบน จะพบกับกระจกที่มีภาพบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับศาสนาคริสต์ไว้มากมาย ล้วนสวยงามหมายเหตุทราบว่าทางวัดไม่ได้เปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอย่างเต็มตัว หากท่านใดต้องการไปเยี่ยมชมลักษณะท่องเที่ยว สอบถามทางเจ้าหน้าที่ก่อนนะครับ เพื่อเป็นการให้เกียรติและเคารพสถานที่แห่งศรัทธา วัดซางตาครู้สตั้งอยู่เลขที่ 112 ซ.กุฎีจีน ถ.เทศบาล สาย1 แขวง วัดกัลยาณ์ เขต ธนบุรี กทม. 10600โทร. 02-4720153-4