รีเซต

จุดสว่างประหลาดบนดาวเคราะห์แคระ "ซีรีส" ชี้ร่องรอยมหาสมุทรใต้พิภพ

จุดสว่างประหลาดบนดาวเคราะห์แคระ "ซีรีส" ชี้ร่องรอยมหาสมุทรใต้พิภพ
ข่าวสด
15 สิงหาคม 2563 ( 14:27 )
151
จุดสว่างประหลาดบนดาวเคราะห์แคระ "ซีรีส" ชี้ร่องรอยมหาสมุทรใต้พิภพ

 

จุดสว่างประหลาดบนดาวเคราะห์แคระ "ซีรีส" ชี้ร่องรอยมหาสมุทรใต้พิภพ - BBCไทย

ดาวเคราะห์แคระซีรีส (Ceres) หรือเซียรีส ซึ่งเป็นวัตถุอวกาศขนาดใหญ่ที่สุดในแถบดาวเคราะห์น้อยระหว่างดาวอังคารและดาวพฤหัสบดี อาจมีแหล่งกักเก็บน้ำเค็มขนาดใหญ่หรือมหาสมุทรใต้พิภพ โดยนักดาราศาสตร์ทราบได้จากจุดสว่างประหลาดที่เกิดจากคราบผลึกเกลือ ซึ่งยังคงหลงเหลืออยู่หลังน้ำเค็มใต้ดินผุดขึ้นมา

 

 

จุดสว่างตรงหลุมอุกกาบาต Occator เกิดจากคราบผลึกเกลือที่หลงเหลืออยู่หลังน้ำเค็มใต้ดินผุดขึ้นมา / NASA / JPL-CALTECH / UCLA / MPS / DLR / IDA

ทีมนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์จากองค์การนาซาของสหรัฐฯ และจากหลายสถาบันวิจัยของยุโรป เผยแพร่ผลการศึกษาข้างต้นในวารสาร Nature Astronomy, Nature Geoscience และ Nature Communications โดยเป็นการวิเคราะห์ภาพถ่ายล่าสุดที่บันทึกไว้โดยยานสำรวจดอว์น (Dawn) ขณะเข้าใกล้ซีรีสในระยะห่างเพียง 35 กิโลเมตร

 

 

ยานสำรวจดอว์นซึ่งเชื้อเพลิงหมดลงแล้วและอยู่ในช่วงสุดท้ายของการปฏิบัติภารกิจ กำลังพุ่งตัวเข้าเฉียดใกล้ดาวเคราะห์แคระประหลาดดวงนี้ ทำให้สามารถบันทึกภาพพื้นผิวดาวได้อย่างคมชัดและมีความละเอียดสูงสุดเท่าที่เคยมีมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพของพื้นผิวภายในหลุมอุกกาบาตออกเคเทอร์ (Occator) ซึ่งเป็นจุดสว่างไสวที่สุดในบรรดาจุดสว่างกว่าร้อยแห่งที่กระจายตัวอยู่ทั่วดาว

 

 

ดาวเคราะห์แคระซีรีสและจุดสว่างที่สุดตรงหลุมอุกกาบาต Occator (ภาพถ่ายแต่งสีไม่ตรงกับความเป็นจริง) / NASA / JPL-CALTECH / UCLA / MPS / DLR / IDA

ภาพจากกล้องอินฟราเรดชี้ว่า พื้นผิวของหลุมอุกกาบาตอายุเก่าแก่ 20 ล้านปีแห่งนี้ มีคราบเกลือชนิดหนึ่งซึ่งเป็นผลึกของสารประกอบไฮโดรแฮไลต์ (hydrohalite) แร่ธาตุหายากซึ่งมักพบในก้อนน้ำแข็งที่ลอยอยู่ในมหาสมุทรบนโลก

นับเป็นครั้งแรกที่มีการค้นพบแร่ธาตุดังกล่าวนอกโลก ซึ่งถือเป็นหลักฐานบ่งชี้ว่าดาวเคราะห์แคระซีรีสอาจเคยมีน้ำเค็มปกคลุมพื้นผิวดาวในอดีต และยังมีแร่ธาตุต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการให้กำเนิดสิ่งมีชีวิต

ปัจจุบันแหล่งกักเก็บน้ำเค็มปริมาณมหาศาลนี้น่าจะยังคงซ่อนตัวอยู่ที่ใต้ดิน โดยน้ำเค็มอาจผุดขึ้นมาเป็นครั้งคราวจากแรงดันและกลไกทางธรณีวิทยาในบริเวณที่ถูกอุกกาบาตพุ่งชน

ทีมผู้วิจัยระบุว่า คราบของผลึกเกลือดังกล่าวน่าจะเกิดขึ้นเมื่อราว 2 ล้านปีก่อน ซึ่งในทางดาราศาสตร์แล้วถือว่ายังมีอายุไม่เก่าแก่มากนัก แสดงว่ามีความเคลื่อนไหวของน้ำที่เป็นของเหลวบนพื้นผิวดาวเมื่อไม่นานมานี้

 

 

ภาพโมเสกซึ่งประกอบขึ้นจากภาพถ่ายขนาดเล็กหลายภาพ แสดงให้เห็นคราบผลึกเกลือบนพื้นผิวในหลุมอุกกาบาต / NASA

ชื่อของดาวเคราะห์แคระซีรีส มาจากชื่อของเทพีแห่งความอุดมสมบูรณ์ เกษตรกรรม และธัญพืช ตามเทพปกรณัมกรีกและโรมันโบราณ ส่วนชื่อของหลุมอุกกาบาตออกเคเทอร์ มาจากชื่อของเทพบริวารผู้ช่วยเหลือซีรีสในการไถคราด

ซีรีสถูกจัดประเภทให้เป็นดาวเคราะห์แคระ (dwarf planet) เพราะมีขนาดใหญ่กว่าดาวเคราะห์น้อย (asteroid) โดยทั่วไป และมีแรงโน้มถ่วงมากพอจนทำให้คงรูปเป็นทรงกลมได้ อย่างไรก็ตาม มันยังมีขนาดไม่ใหญ่พอจะจัดว่าเป็นดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ ทั้งยังไม่ได้เป็นดวงจันทร์บริวารของดาวเคราะห์ดวงใดด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง