เมื่อสถานการณ์โรคระบาดเริ่มเข้าสู่ระยะที่ควบคุมได้ หากดูจากข่าวสารบ้านเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงสองสามวันที่ผ่านมา การจราจรที่กลับมาติดขัด รถไฟฟ้าที่เนืองแน่นไปด้วยผู้คน เป็นสัญญาณที่บอกว่าบริษัทหลายแห่งเริ่มเรียกตัวพนักงานกลับเข้าสู่ออฟฟิศเป็นที่เรียบร้อย แต่อีกหลายคนรวมทั้งผู้เขียนเองที่ยังต้องหยุดอยู่ที่บ้าน คงมีกิจวัตรที่คล้ายคลึงกัน หนึ่งในนั้นคือการหาอะไรดูเพื่อความบันเทิง วันนี้ผู้เขียนได้ดูการประกวดนางงามคือ Miss USA เป็นการประกวดหานางงามสหรัฐอเมริกาเพื่อเข้าชิงมงกุฎนางงามจักรวาล และบังเอิญว่า Miss USA จะชอบจัดประกวดในช่วงเดือนพฤษภาคม จึงมีกิจกรรมที่ให้นางงามพูดถึงเรื่องราวของพวกเธอกับแม่ ตอนแรกฟังไปก็ไม่เข้าใจแต่พิธีกรก็มาเฉลยตรงตอนท้ายว่า เดือนพฤษภาคมของทุกปี สหรัฐอเมริกาจะมีวันสำคัญวันหนึ่งนั่นคือวันแม่ (Mother's Day)เชื่อว่าน้อยคนนักที่จะรู้ว่า วันแม่ที่หลายประเทศทั่วโลกยึดถือกันแบบสากลจะอยู่ในเดือนพฤษภาคม สหรัฐอเมริกายึดเอาวันที่ 12 พฤษภาคม ส่วนประเทศอื่น ๆ มักจะกำหนดวันแม่ให้เป็นวันอาทิตย์ของสัปดาห์ที่ 2 ในเดือนพฤษภาคม ไม่แปลกที่เราจะไม่ค่อยรู้กัน เพราะประเทศไทยมีวันแม่แห่งชาติตรงกับวันที่ 12 สิงหาคมของทุกปี วันนี้ผู้เขียนจึงอยากเปิดโลกให้ได้รู้ว่า วันแม่สากลมีที่มาที่ไปอย่างไร คนฟากนั้นเขาทำอะไรกันในวันแม่ และกิจกรรมทั้งหลายแหล่จะแตกต่างกับของบ้านเราอย่างไรบ้างก่อนอื่นต้องเล่าถึงที่มาที่ไปกันสักเล็กน้อย เรื่องมีอยู่ว่า ในปี 1907 หญิงอเมริกันคนหนึ่งชื่อ แอนนา จาร์วิส (Anna Jarvis) อยู่ดี ๆ ก็เกิดคิดถึงแม่ที่เสียชีวิตไปเมื่อสองปีก่อนหน้านั้นขึ้นมา เธอจึงรับบทเป็นนักกิจกรรมสาว ริเริ่มแคมเปญรณรงค์ให้เกิดวันแม่ขึ้นมาในวันที่ 12 พฤษภาคมปีเดียวกัน เธอเริ่มเคาะประตูทุกบ้านเพื่ออธิบายถึงความสำคัญที่สหรัฐอเมริกาจะต้องกำหนดให้มีวันแม่ขึ้น เพื่อให้บรรดาลูก ๆ ได้ระลึกถึงความผูกพันที่มีต่อแม่ ไม่ว่าแม่จะยังอยู่หรือจากไปแล้ว โดยเธอเสนอกิจกรรมง่าย ๆ ที่ทุกบ้านสามารถทำได้นั่นคือ การเขียนการ์ดวันแม่ ไม่น่าเชื่อว่าชาวอเมริกันจะสนใจกับสิ่งที่แอนนาได้บอกกล่าว แต่ไม่ใช่ว่าเธอไปเคาะประตูเพียงวันสองวันแล้วคนจะเห็นด้วยกับเธอ แต่กว่าที่วันแม่ในสหรัฐอเมริกาจะเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ แอนนา จาร์วิสได้อธิบายและบอกกล่าวอยู่เช่นนี้ติดต่อกันถึง 7 ปีวันแม่ที่สหรัฐอเมริกายึดถือเป็นสากลเกิดขึ้นครั้งแรกในวันที่ 12 พฤษภาคม ปี 1914 ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อคือ โรงพิมพ์ในสหรัฐอเมริกาได้พิมพ์การ์ดวันแม่จำหน่ายทั่วทุกรัฐ ร้านรวงต่าง ๆ ทำชุดของขวัญเพื่อให้ลูกได้ซื้อหาไปฝากบรรดาแม่ ๆ สมาคมในชุมชนให้ลูกกับแม่ได้มารวมตัวกันเพื่อรับประทานอาหารและทำกิจกรรมร่วมกัน และสิ่งที่เปลี่ยนไปอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญนั่นคือ แอนนา จาร์วิสได้รณรงค์ให้ลูก ๆ ทุกคนทำการ์ดอวยพรวันแม่ด้วยตัวเอง เพื่อจะได้เป็นของขวัญที่ล้ำค่าให้กับคุณแม่ของพวกเขา จนวันแม่สากลได้แพร่หลายไปยังหลายประเทศ โดยแต่ละชาติก็จะมีการกำหนดวันที่แตกต่างกันออกไป แต่ส่วนใหญ่ก็จะยึดเอาวันที่ 12 พฤษภาคมตามสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก เน้นกิจกรรมที่ทำให้ลูกได้ทำร่วมกับแม่ แม้แต่ประเทศไทยเองก็มีความพยายามกำหนดวันแม่ด้วยเช่นเดียวกันมาที่บ้านเรากันบ้าง วันแม่แห่งชาติของเราตรงกับวันที่ 12 สิงหาคม ด้วยเป็นวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระองค์ถือเป็นแม่ของปวงชนชาวไทย แต่หลายคนอาจไม่เคยรู้ว่า ก่อนที่วันแม่ของไทยจะตรงกับวันที่ 12 สิงหาคมอย่างทุกวันนี้ รัฐบาลไทยได้มีความคิดกำหนดวันแม่มาแล้วถึงหลายครั้ง ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2486 กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้วันแม่ตรงกับวันที่ 10 มีนาคม แต่อย่างที่รู้กันว่าช่วงนั้นตรงกับสงครามโลกครั้งที่สองพอดี ศึกสงครามที่มีรอบด้านและภาวะข้าวยากหมากแพงทำให้ไม่มีการจัดงานวันแม่ จนกระทั่งครั้งที่สองเมื่อ พ.ศ. 2493 กระทรวงวัฒนธรรมภายใต้รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามกำหนดให้วันที่ 15 เมษายนเป็นวันแม่แห่งชาติ แต่จัดได้ครั้งเดียวกระทรวงวัฒนธรรมก็ถูกยุบไป จนกระทั่งมีความพยายามกำหนดวันแม่อีกเป็นครั้งที่สามโดยสมาคมครูคาธอลิกแห่งประเทศเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2515 แต่ก็จัดได้ครั้งเดียวอีกเช่นกัน จนในที่สุดวันแม่แห่งชาติของไทยก็ได้กำหนดให้ตรงกับวันที่ 12 สิงหาคม เมื่อ พ.ศ. 2519 เป็นครั้งแรก และได้ยึดถือมาจนถึงปัจจุบันผู้เขียนมองว่าจุดประสงค์สำคัญที่แต่ละชาติกำหนดให้มีวันแม่ขึ้นนั้น เพื่อให้ลูกได้ระลึกถึงพระคุณของแม่ ได้ใช้เวลาร่วมกับแม่เป็นพิเศษ ในแต่ละปีแม่กับลูกอาจจะมีทั้งเรื่องราวที่เป็นความสุข ความทุกข์ การมีวันสำคัญของครอบครัวจึงเป็นโอกาสที่ทั้งสองคนจะได้แบ่งปันเรื่องราวที่พบเจอมา มีโอกาสได้กล่าวขอบคุณและขอโทษ แต่อย่างไรก็ตามก็คงเป็นเหมือนที่หลายคนพูด การทำดีกับแม่ การดูแลแม่ และการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อแม่เป็นสิ่งที่เราสามารถทำได้ทุกวัน ไม่ต้องรอให้ถึงวันแม่ ดังนั้นเมื่ออ่านบทความนี้จบก็อย่าลืมไปบอกรักแม่กันด้วยนะครับรูปภาพหน้าปก โดย Les Anderson : Unsplashภาพประกอบที่ 1 โดย Randy Rooibaatji : Unsplashภาพประกอบที่ 2 โดย Joshua Ness : Unsplashภาพประกอบที่ 3 โดย Jurien Huggins : Unsplashภาพประกอบที่ 4 โดย Jordan Rowland : Unsplash