รีเซต

โจ ไบเดน: จะเกิดอะไรขึ้นหากทรัมป์ไม่ยอมเปิดทางให้ผู้นำใหม่เข้าทำเนียบขาว

โจ ไบเดน: จะเกิดอะไรขึ้นหากทรัมป์ไม่ยอมเปิดทางให้ผู้นำใหม่เข้าทำเนียบขาว
ข่าวสด
11 พฤศจิกายน 2563 ( 10:11 )
67
โจ ไบเดน: จะเกิดอะไรขึ้นหากทรัมป์ไม่ยอมเปิดทางให้ผู้นำใหม่เข้าทำเนียบขาว

ตลอดประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาที่ยาวนาน 244 ปี ไม่เคยมีประธานาธิบดีคนไหนไม่ยอมออกจากทำเนียบขาวหลังแพ้การเลือกตั้ง

 

การเปลี่ยนผ่านอำนาจอย่างสันติและเป็นระเบียบเป็นหนึ่งในจุดเด่นของประชาธิปไตยของสหรัฐฯ

สหรัฐฯ กำลังอยู่ในสภาวะกระอักกระอ่วนหลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ และนักวิเคราะห์หลายคนบอกว่านี่อาจทำให้เกิดสถานการณ์ที่คาดไม่ถึง

 

ยังไม่จบ

 

ทรัมป์กำลังเล่นกอล์ฟอยู่นอกกรุงวอชิงตันดีซีตอนที่สื่อยักษ์ใหญ่หลายสำนึกรายงานว่าโจ ไบเดน ได้รับชัยชนะเมื่อวันที่ 7 พ.ย. ไม่นานหลังจากนั้น ทีมหาเสียงของทรัมป์ออกแถลงการณ์ย้ำว่า "การเลือกตั้งยังห่างไกลจากจุดจบ"

 

"เราทุกคนต่างรู้ว่าทำไมโจ ไบเดน ถึงรีบออกตัวอย่างจอมปลอมว่าเป็นผู้ชนะ และทำไมสื่อที่เป็นพันธมิตรของเขาถึงพยายามช่วยเขานัก พวกเขาไม่อยากถูกเปิดโปง ...ข้อเท็จจริงง่าย ๆ คือการเลือกตั้งครั้งนี้ยังห่างไกลจากจุดจบ"

 

ทีมหาเสียงทรัมป์บอกว่า ทรัมป์จะต่อต้านผลการเลือกตั้งต่อไปด้วยการฟ้องร้องในศาล กล่าวหาว่ามีการโกงเลือกตั้งเกิดขึ้น

รัฐธรรมนูญสหรัฐฯ กำหนดชัดเจนว่าวาระของประธานาธิบดีคนปัจจุบันสิ้นสุดตอน "เที่ยงตรงวันที่ 20 ม.ค."

 

Getty Images
ทรัมป์กำลังเล่นกอล์ฟอยู่นอกกรุงวอชิงตันดีซีตอนที่สื่อพากันรายงานว่าโจ ไบเดน ได้รับชัยชนะ

 

หากกระบวนการในศาลไม่สามารถช่วยพลิกสถานการณ์ให้ทรัมป์ได้เร็ววัน 20 ม.ค. จะเป็นวันที่ไบเดนเข้ารับตำแหน่ง และทรัมป์ต้องลงจากอำนาจไป

 

ทรัมป์เคยเตือนอย่างชัดเจนมาตลอดการหาเสียงว่าเขาจะไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ จะอยู่ตำแหน่งต่อไปไม่ว่าหน่วยงานด้านการเลือกตั้งจะว่าอย่างไร และบอกว่าหนทางเดียวที่เขาจะแพ้คือการถูกโกง

 

ย้อนไปเมื่อ 11 มิ.ย. ไบเดนให้สัมภาษณ์เทรเวอร์ โนอาห์ พิธีกรตลกว่า เขาเคยคิดว่าเป็นไปได้ที่ทรัมป์จะไม่ยอมย้ายออกจากทำเนียบขาวหากพ่ายแพ้

 

แถลงการณ์ของทีมหาเสียงไบเดนเมื่อวันที่ 6 พ.ย. ระบุว่า "ชาวอเมริกันจะเป็นผู้ตัดสินการเลือกตั้งครั้งนี้ และรัฐบาลสหรัฐฯ มีความสามารถที่จะพาตัวผู้บุกรุกออกจากทำเนียบขาว"

 

กระบวนการดังกล่าวอาจเป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานบังคับคดีสังกัดกระทรวงยุติธรรม (US Marshals) หรือ หน่วยอารักขาบุคคลสำคัญ (US Secret Service) ที่ต้องพาทรัมป์ออกจากทำเนียบประธานาธิบดี

 

หน่วยอารักขาบุคคลสำคัญเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านความปลอดภัยของประธานาธิบดีอยู่แล้ว และก็มีหน้าที่ดูแลอดีตประธานาธิบดีทุกคน รวมถึงทรัมป์ด้วยเมื่อพ้นวันที่ 20 ม.ค. ไป

 

พอเริ่มมีเค้าลางว่าไบเดนจะได้เป็นประธานาธิบดีคนต่อไป หน่วยอารักขาบุคคลสำคัญก็เพิ่มมาตรการการดูแลเขามากขึ้น เท่ากับว่าตอนนี้เขาได้รับการคุ้มครองในระดับประธานาธิบดีแล้วแม้ว่าทรัมป์จะยืนยันว่าพรรคเดโมแครตพ่ายแพ้ก็ตาม

 

สถานการณ์ที่คาดไม่ถึง

 

Getty Images
จะเกิดอะไรขึ้นหากทรัมป์ไม่ยอมออกจากทำเนียบขาว

 

บีบีซีถามผู้เชี่ยวชาญหลายคนว่าเป็นไปได้ไหมที่ทรัมป์จะยืนกรานไม่ออกจากตำแหน่งแม้จะผิดกฎหมาย

ศาสตราจารย์ดาโกตา รูดซิล ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายความมั่นคงและกฎหมายแห่งชาติ แห่งมหาวิทยาลัยรัฐโอไฮโอ บอกบีบีซีว่า หากเกิดขึ้นจริง ๆ "...จะทำลายธรรมเนียมปฏิบัติสำคัญ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้"

"มันจะสร้างความเสียหายให้ประเทศชาติ ต่อหลักความสัมพันธ์ด้านพลเรือนและการทหารที่สำคัญ และก็อนาคตของหลักการประชาธิปไตยในระดับโลกด้วย"

อย่างไรก็ตาม ศ.รูดซิล บอกว่า มันไม่น่าจะเกิดขึ้น "กำลังพลของกองทัพต่างสาบานตนว่าจะจงรักภักดีต่อรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่นักการเมืองที่กำลังดำรงตำแหน่งอยู่"

และทหารที่มีตำแหน่งสูงที่สุดของประเทศในขณะนี้อย่างพลเอก มาร์ก มิลลีย์ ประธานคณะเสนาธิการทหารร่วมสหรัฐฯ ก็ออกมาพูดหลายครั้งว่ากองทัพจะไม่มีบทบาทใด ๆ ในการเลือกตั้งครั้งนี้

 

Getty Images

 

เคชา เบลน ผู้เชี่ยวชาญด้านการเคลื่อนไหวประท้วงจากมหาวิทยาลัยพิตต์สเบิร์ก บอกว่า การที่ต้องมานั่งคิดว่ากองทัพจะเข้ามาแทรกแซงการเลือกตั้งหรือไม่ สะท้อนให้เห็นสภาวะที่น่าเศร้าของสหรัฐฯ

"สี่ปีที่แล้ว ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ไม่คิดเรื่องนี้กัน แต่เมื่อเห็นทรัมป์สั่งให้เจ้าหน้าที่รัฐบาลกลาง (กองกำลังพิทักษ์ชาติ) ไปที่วอชิงตัน พอร์ตแลนด์ และเมืองในสหรัฐฯ อื่น ๆ (ระหว่างเหตุจลาจล) ทำให้เกิดความรู้สึกวิตกกังวลจริง ๆ ฉันไม่คิดว่ามันน่าจะเกิดขึ้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นไปไม่ได้เลย เมื่อเราลองนั่งนึกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในปีนี้"

 

Getty Images
หน่วยสืบราชการลับเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านความปลอดภัยของประธานาธิบดีอยู่แล้ว และก็มีหน้าที่ดูแลอดีตประธานาธิบดีทุกคนด้วย รวมถึงทรัมป์ด้วยเมื่อพ้นวันที่ 20 ม.ค. ไป

เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. นสพ.นิวยอร์กไทมส์ อ้างว่า พลเอก มิลลีย์ พยายามเจรจาไม่ให้ทรัมป์ประกาศ พ.ร.บ.ปราบการจลาจล ปี 1807 เพื่อนำกองกำลังทหารทั่วประเทศไปรับมือกับผู้ประท้วง นสพ.นิวยอร์กไทมส์ บอกว่า "นั่นเป็นเส้นที่ทหารอเมริกันหลายคนจะไม่ล่วงล้ำแม้ว่าประธานาธิบดีจะออกคำสั่งก็ตาม"

 

และแล้วในที่สุด ทรัมป์ก็ส่งกองกำลังพิทักษ์ชาติไปแทน

 

ความรุนแรง

 

ศ.รูดซิลบอกว่า มีความเป็นไปได้ที่ทรัมป์จะใช้คำสั่งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาหรือ Executive Order หรือให้กระทรวงยุติธรรม ซึ่งควบคุมโดยพันธมิตรทางการเมืองของเขาอยู่ ออกคำสั่งให้ฝ่ายบริหารพิจารณาว่าทรัมป์เป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง แต่นี่จะเป็นสิ่งที่ "ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง และเป็นที่ยอมรับไม่ได้"

 

ด้าน เคชา เบลน บอกว่า การปฏิเสธไม่รับผลเลือกตั้งของทรัมป์อาจจะนำไปสู่ความวุ่นวายอย่างหนักได้

 

เธอบอกว่า คำพูดของทรัมป์ "เพิ่มความเป็นไปได้ที่จะเกิดการประท้วงหรือแม้กระทั่งความรุนแรง" ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา มีตัวอย่างให้เห็นแล้วว่าบางเมืองในสหรัฐฯ มีทั้งผู้สนับสนุนของทรัมป์พกอาวุธ และกลุ่มต่อต้านที่มีความคิดสุดโต่งออกมาเช่นกัน และบางคนก็พกอาวุธด้วย

 

นี่เป็นเครื่องเตือนสติอย่างดีว่าสถานการณ์ทางการเมืองที่คุกรุ่นในตอนนี้อาจทำให้เกิดความรุนแรงได้