เลี้ยงเต่าญี่ปุ่นยังไง ให้แข็งแรง และมีความสุข ก่อนคิดจะเลี้ยงเต่าญี่ปุ่น มาทำความรู้จักกับเต่าชนิดนี้กันค่ะ เต่าญี่ปุ่น หรือ เต่าแก้มแดง มีต้นกำเนิดจากประเทศอเมริกา ไม่ได้มาจากญี่ปุ่นเหมือนชื่อ แต่ที่เรียกว่าเต่าญี่ปุ่น เพราะประเทศญี่ปุ่นได้นำมาเพาะพันธ์ุและขยายมายังทวีปเอเชียจนเข้ามาถึงบ้านเรา “เต่าญี่ปุ่นเป็นเต่าน้ำ” ที่ชอบนอนพักผ่อน ยืดเหยียดแขนขา ตากแดด หรือนอนเล่นอยู่บนบก สามารถว่ายน้ำได้ เนื่องจากมันมีมือที่มีพังผืดเชื่อมระหว่างนิ้ว ช่วยในการพยุงตัวในน้ำ แต่น้ำต้องไม่ลึกมากนะคะ ต้องมีส่วนบกให้ขึ้นมาพัก ต่างจากเต่าบก ที่ไม่มีพังผืดเชื่อมที่นิ้วมือ ถ้าเรานำเต่าบกปล่อยลงน้ำ เต่าจะจมน้ำตายในที่สุดเพราะว่ายน้ำไม่เป็นเต่าญี่ปุ่น จะกินอาหารในน้ำ อาหารของเต่าญี่ปุ่นจะเป็นอาหารสำเร็จรูปของเต่าน้ำเป็นเม็ดสีเขียว มีส่วนผสมของแคลเซียม เพื่อเสริมสร้างกระดองให้แข็งแรง หรือจะให้เนื้อสัตว์ หรือผัก บ้างเป็นบางครั้งเต่าญี่ปุ่น จะต้องได้รับแสงแดดอ่อนๆยามเช้า วันละ 1 ชั่วโมง เพื่อรับวิตามินดีจากแสงแดด สำหรับนำไปสร้างกระดองที่แข็งแรง ไม่ผิดรูป เพราะฉะนั้นที่อยู่ของเต่าชนิดนี้ จะต้องมีส่วนของบนบกและในน้ำ มาทำความรู้จักกับเต่าญี่ปุ่น อายุ 15 ปีทั้ง2ตัวของผู้เขียนกันค่ะเจ้าเต่า2ตัวนี้ ชื่อ พี่ยักษ์ และพี่เต่า เป็นตัวเมียทั้งคู่ เลี้ยงมาตั้งแต่เล็กๆ ผู้เขียนซื้อมาจากตลาดนัดจตุจักร เมื่อ 15 ปีที่แล้ว ในราคาตัวละ 50 บาท ตอนเด็กๆ เลี้ยงในกะละมัง ตัวเล็กๆน่ารัก ขนาดประมาณ 4-5 ซม เจ้าเต่า 2 ตัวนี้ มีนิสัยชอบหนีออกจากกะละมังเป็นที่สุด หนีทุกวัน จนต้องหากะละมังที่ใหญ่ขึ้นไปเรื่อยๆ พอเริ่มโตจนรู้สึกว่าต้องหาที่อยู่ให้ใหญ่ขึ้นไปอีก จึงเริ่มเปลี่ยนจากกะละมัง มาเป็นอ่างผสมปูน และล่าสุดเป็นกระชังบก เพื่อไม่ให้ปีนหนีออกมาได้ ตามวัยที่เขาโตขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้มีขนาด 23x16 cm ขนาดเท่านี้มาหลายปีแล้ว ไม่น่าจะโตไปกว่านี้แล้วค่ะ“บ้านใหม่” บ้านล่าสุดของเต่าทั้งสองเป็นกระชังบก ขนาด 1x1.5x0.4 เมตร รู้สึกว่าเหมาะมากๆที่จะเอามาให้เจ้า 2 ตัวนี้ เลยได้บ้านใหม่ที่ใหญ่และลงตัวที่สุด และใช้อยู่มาจนทุกวันนี้ ซึ่งเหมาะกับขนาดบ้านทาวน์เฮ้าส์เล็กๆของผู้เขียน พี่ยักษ์ และพี่เต่า ชอบบ้านใหม่ หลังใหญ่กว่าบ้านเดิมที่เป็นอ่างผสมปูนมาก เพราะมีที่ให้ว่ายน้ำเล่นมากกว่าเดิม ลงไปครั้งแรก ว่ายน้ำวนไปมาหลายรอบ เห็นแล้วมีความสุขไปกับมันทั้งสองด้วย จัดบ้านให้เจ้า 2 ตัวนี้หลายรอบมาก จนรู้ว่าพี่เต่าชอบให้มีที่หลบซ่อน ชอบมีมุมมืดๆ ชอบอยู่ในน้ำ ส่วนพี่ยักษ์ ชอบอยู่บนบกมากกว่าลงน้ำ ชอบนอนยืดเหยียดขาบนบก พอรู้ใจแล้วก็จัดพื้นที่อยู่ให้ทั้งสองได้ลงตัว“ตากแดดยามเช้า”ทุกๆเช้า ประมาณ 7.30-8.30 น. ผู้เขียนจะพาพี่ยักษ์ และพี่เต่า จับใส่รถเข็น หรือไม่ก็ลังพลาสติก ออกไปรับแดดหน้าบ้าน ประมาณ 1 ชั่วโมง เนื่องจากบ้านของพี่เต่า อยู่ใต้หลังคา ไม่มีแสงแดดส่องลงมาถึง ตอนพาออกไปตากแดด ต้องคอยดูแดดอย่าให้แรงไปด้วยนะคะ เวลานี้กำลังดีค่ะพออาบแดดครบเวลา ก็จะพาปล่อยลงเดินเล่นอีกสักพัก เพื่อนๆสัตว์เลี้ยงในบ้านก็จะช่วยนั่งเฝ้าสลับกันไป หลังจากเดินเล่น ก็จับลงน้ำเพื่อกินอาหารเช้า “กินอาหาร”อาหารที่ให้ เป็นอาหารเต่าน้ำ เปลี่ยนยี่ห้อไปเรื่อยๆ จนมาเจอยี่ห้อนี้ ราคาประหยัดดี กระปุกนี้ ขนาด 420 กรัม ราคา 140 บาท กินวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ได้ประมาณ เกือบ 1 เดือน ใน1อาทิตย์ จะให้กุ้ง หรือเนื้อไก่ ต้ม 1 มื้อ เนื้อสัตว์ทั้ง 2 อย่างนี้ เป็นที่โปรดปรานของเจ้า2ตัวนี้มาก โยนลงไป รีบว่ายมาหากันมาอย่างว่องไว :) “ออกไข่” ถ้าวันไหน ออกมาเจอพี่ยักษ์อาละวาด ปีนป่ายไปมา ดูงุ่นง่านแปลกๆ ปีนขึ้นปีนลง ทำท่านั่นนี่จนเป็นที่สังเกตุ พอหาที่ทาง ได้ท่าที่ต้องการแล้ว จะทำขาหลังถูกันไปมาดุกดิกๆ สักพักออกมาดูอีกที ก็จะเจอไข่เต่าในน้ำ จำนวน 9 ฟอง ทุกครั้ง ไข่ที่ออกมาเป็นไข่ลม ไม่สามารถฟักออกมาเป็นตัวได้ ทิ้งไว้สักพัก พี่ยักษ์ก็จะจัดการกัดจนไข่แตก แล้วกินจนหมด พี่ยักษ์จะออกไข่บ่อยมาก ประมาณ 2-3 เดือนครั้ง ส่วนพี่เต่า ผู้เขียนยังไม่เคยเห็นออกไข่เลย “เจ็บป่วย” ตั้งแต่เลี้ยงมา พี่เต่าและพี่ยักษ์ เคยไม่สบายจนเข้าโรงพยาบาลเพียงครั้งเดียวเท่านั้น สืบเนื่องมาจากผู้เขียนเห็นว่าเต่าทั้ง2 ชอบกินเนื้อกุ้ง เนื้อไก่มาก และได้ให้กินเนื้อสัตว์ทั้ง2ชนิดนี้ สลับกันไปมาทุกวัน โดยไม่ได้ให้อาหารเม็ดสำหรับเต่าเลย จนกระทั่งพี่ยักษ์และพี่เต่าป่วย ไม่กินอาหาร มีเนื้อส่วนเกินออกจากกระดองและเป็นแผล ต้องพาไปรักษาที่รพ.สัตว์เกษตร อยู่หลายสัปดาห์ เพื่อรักษาและฉีดวิตามินคุณหมอแจ้งว่า สาเหตุมาจากอาหารไม่สมดุล ได้รับโปรตีนมากเกินไปหลังจากนั้น จึงให้อาหารเม็ดของเต่าน้ำเป็นหลัก ส่วนกุ้งและไก่ต้ม ให้กินแค่อาทิตย์ละครั้งเท่านั้นถ้าถามว่า ผักล่ะกินไหม เจ้า2ตัวนี้ให้ผักสดๆมีกินบ้าง กัดเล่นบ้าง แต่มักจะกัดเล่นเสียมากกว่า“การหงายท้องเต่าแบบนี้ เต่าจะหายใจไม่ออก ไม่ควรทำนะคะ ในภาพนี้หงายเพื่อถ่ายแผลแค่ไม่กี่วินาทีเท่านั้นค่ะ”“เปลี่ยนน้ำ”สิ่งที่สำคัญของการเลี้ยงเต่าญี่ปุ่น นอกจากการให้อาหารที่สมดุล พาไปอาบแดดเช้า ก็คือ การเปลี่ยนน้ำสะอาดให้ทุกวัน หรือเมื่อน้ำไม่สะอาด เพราะเต่าจะกินและขับถ่ายในน้ำ เมื่อเต่าเริ่มใหญ่ขึ้น น้ำจะสกปรกไวมาก ถ้าน้ำสกปรก เต่าจะไม่สบาย ผู้เขียนจึงเปลี่ยนน้ำให้พี่ยักษ์ และพี่เต่าทุก 1-2 วัน โดยต้องวิดน้ำทั้งหมดออกจากกระชัง แล้วเติมน้ำสะอาดลงไปใหม่ ก็ถือเป็นการออกกำลังกายของผู้เขียนไปในตัว อายุขัยของเต่าญี่ปุ่นโดยเฉลี่ย อยู่ที่ 30 ปี ดังนั้น ใครที่สนใจจะเลี้ยง ต้องสามารถดูแลเขาได้ตามข้างต้นที่เล่ามา ไม่นำไปปล่อยตามบ่อน้ำในวัดหรือบ่อในสวนสาธารณะ เพราะที่ผู้เขียนเห็น เต่าที่โดนไปปล่อยอยู่กันอย่างอดอยาก อาหารไม่มี หิวโซ อยู่ในน้ำเน่า น่าสงสาร น่าเวทนามากค่ะ ดังนั้นถ้าคิดจะเลี้ยงสัตว์ (ทุกชนิด) ต้องเลี้ยงเขาให้มีความสุข และจนหมดอายุขัยของเขานะคะ