รีเซต

สนข.เดินหน้ารับฟังความเห็นโครงการ แลนด์บริดจ์ หนุนเศรษฐกิจไทย สู่ฮับเศรษฐกิจอาเซียน

สนข.เดินหน้ารับฟังความเห็นโครงการ แลนด์บริดจ์ หนุนเศรษฐกิจไทย สู่ฮับเศรษฐกิจอาเซียน
มติชน
21 ธันวาคม 2564 ( 13:12 )
48

ข่าววันนี้ นางวิไลรัตน์ ศิริโสภณศิลป์ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร เป็นประธานเปิดการสัมมนาเพื่อแนะนำโครงการและรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนที่เกี่ยวข้องโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2564 ณ ห้องบอลรูม โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร เพื่อนำเสนอความเป็นมาของโครงการ วัตถุประสงค์โครงการ และขอบเขตการดำเนินงาน โดยมีผู้แทนภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชนและสื่อมวลชน เข้าร่วมงาน

 

นางวิไลรัตน์ ศิริโสภณศิลป์ กล่าวว่า ปัจจุบันการขนส่งสินค้าระหว่างกลุ่มประเทศด้านมหาสมุทรแปซิฟิก รวมทั้งประเทศไทย กับกลุ่มประเทศทางด้านมหาสมุทรอินเดีย ต้องเปลี่ยนถ่ายสินค้าผ่านช่องแคบมะละกา ซึ่งเป็นเส้นทางที่อ้อมและมีการจราจรทางน้ำคับคั่ง จากข้อมูลปี 2561 ช่องแคบมะละกามีปริมาณเรือสูงถึง 85,000 ลำ และในอีก 10 ปีข้างหน้า ปริมาณเรือจะเพิ่มขึ้นกว่า 128,000 ลำ เกินกว่าความจุของช่องแคบมะละกาที่รองรับได้ที่ 122,000 ลำต่อปี ก่อให้เกิดปัญหาการติดขัดและเสียเวลาในการเดินทาง กระทรวงคมนาคม จึงมอบหมายให้ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ดำเนินการศึกษาโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (Land bridge) 

 

โดยมีเป้าหมายในการสนับสนุนการเปิดประตูค้าขายกับประเทศฝั่งทะเลด้านตะวันตกของไทย เช่น กลุ่มประเทศ BIMSTEC กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรป ซึ่งมีกำลังการบริโภคที่เพิ่มมากสูงขึ้นทุกปี เพื่อนำประเทศไทยไปสู่การเป็นโครงข่ายการค้าขายของโลกผ่านการเชื่อมต่อเส้นทางระหว่าง 2 มหาสมุทร พัฒนาโครงการที่เหมาะสมสำหรับการลงทุนจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยรูปแบบโครงการ ประกอบด้วย ระบบการขนส่งร่วมแบบผสมผสาน 

 

โดยก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น ได้แก่ ท่าเรือน้ำลึกทั้ง 2 ฝั่ง เชื่อมต่อด้วยทางด่วน ทางรถไฟ และท่อน้ำมัน เพื่อเพิ่มความได้เปรียบของพื้นที่ในการดึงดูดให้เกิดกิจการต่อเนื่องจากการขนส่งทางทะเล อุตสาหกรรม การค้า ธุรกิจต่างๆ และผันการขนส่งสินค้าจากเส้นทางเดินเรือที่มีอยู่ปัจจุบัน ให้มาผ่านสะพานเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น โดยเน้นการดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอน ริเริ่มพัฒนาฐานอุตสาหกรรมในระดับภูมิภาคและพัฒนาการขนส่งทางบกเชื่อมโยงแหล่งผลิต เพื่อกระตุ้นให้เกิดการขนส่งสินค้าในพื้นที่โครงการและบริเวณใกล้เคียง ให้ขยายตัวจนถึงจุดที่คุ้มค่าสำหรับการพัฒนา “สะพานเศรษฐกิจ” เต็มรูปแบบในระยะต่อไป เพื่อส่งเสริมศักยภาพของประเทศไทยไปสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียน

 

โดยมีขอบเขตการศึกษา ประกอบด้วย 1.ศึกษาความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ การเงิน วิศวกรรม สังคม ของโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ 2.ออกแบบรายละเอียดเบื้องต้นและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ที่เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน 3.จัดทำรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการ ตามพระราชบัญญัติการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ของโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ที่เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน และ 4.วิเคราะห์จัดทำรูปแบบการพัฒนาและการลงทุน (Business Development Model) ของโครงการพัฒนา โครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ ที่เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน และ สร้างความเข้าใจ พร้อมรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้านตลอดระยะเวลาดำเนินงาน โดยมีระยะเวลาศึกษา 30 เดือน ซึ่งคาดว่าจะศึกษาแล้วเสร็จภายในปี 2566

 

 โดยแนวคิดการพัฒนาสร้างท่าเรือชุมพรและท่าเรือระนองให้เป็นท่าเรือน้ำลึกที่ทันสมัย โดยการนำระบบออโตเมชั่นมาใช้เพื่อยกระดับท่าเรือสู่ Smart Port  เพื่อเชื่อมโยงระหว่างท่าเรือกลุ่มประเทศทั้ง 2 ฝั่งมหาสมุทร และได้ศึกษาความเหมาะสมเพื่อบูรณาการการขนส่งทางท่อ ทางบก และทางราง เพื่อให้ท่าเรือเชื่อมต่อกันอย่างไร้รอยต่อ โดยศึกษาความเหมาะสมเพื่อพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (Motorway) และรถไฟทางคู่ และการขนส่งทางท่อ โดยจะก่อสร้างบนเส้นทางเดียวกัน เพื่อลดผลกระทบจากการเวนคืนที่ดินของภาคประชาชน 

 

ทั้งนี้ นางวิไลรัตน์ ศิริโสภณศิลป์ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายหลังจากที่ สนข.ได้จัดการสัมมนาฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ จ.ชุมพร และ จ.ระนอง เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างหลากหลาย โดยส่วนใหญ่แสดงความเป็นห่วงในประเด็นเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และรูปแบบวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่จะเปลี่ยนแปลง ซึ่ง สนข. ได้ตระหนักถึงความสำคัญของข้อกังวลต่างๆ ของประชาชน จึงมอบหมายให้ที่ปรึกษาโครงการฯ รวบรวมข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะต่างๆ จากประชาชนในพื้นที่ทั้งหมด และเตรียมลงพื้นที่เข้าสัมภาษณ์เชิงลึก และจัดประชุมกลุ่มย่อย เพื่อชี้แจงรายละเอียดข้อมูลโครงการเพิ่มเติมที่ถูกต้องให้กับประชาชนเพื่อให้คลายข้อกังวลใจ พร้อมทั้งจะรวบรวมข้อมูลความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนมาพัฒนาโครงการให้มีความสมบูรณ์ และเป็นประโยชน์ทั้งในภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศและในภาพการพัฒนาท้องถิ่นทุกระดับเพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์มากที่สุด

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง