รูปภาพหน้าปกโดยผู้เขียนบทความนี้ต่อจากบทความ รีวิววิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยในบทความนี้จะกล่าวถึงวิชาเอก รัฐศาสตร์ (Political Science) ระดับปริญญาตรีโดยเฉพาะ ซึ่งหากสำเร็จการศึกษาในเอกนี้เราจะได้ปริญญา รัฐศาสตรบัณฑิต (ร.บ.) หรือ Bachelor of Political Science (B.Pol.Sci.) ซึ่งใช้เวลาในการศึกษา 4 ปี ค่าเทอมเป็นแบบเหมาจ่าย เทอมละ 13,000 บาท หรือ 104,000 บาท ตลอดหลักสูตรรัฐศาสตร์ คืออะไร“การเมืองการปกครอง” คือคำนิยามที่ง่ายที่สุดสำหรับศาสตร์นี้ แต่สำหรับความนิยามที่งงขึ้นมาอีกหน่อย คือ ศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับรัฐ สถาบันทางการเมือง กระบวนการทางการเมือง อำนาจอธิปไตย ปรัชญาการเมือง ความสัมพันธ์ของรัฐกับคนในรัฐ รวมไปถึงการเมืองระหว่างประเทศ ทั้งนี้ สำหรับอย่างหลังสุด ผมจะเล่าให้อ่านในอีกบทความหนึ่ง อย่างไรก็ตาม สำหรับรัฐศาสตร์ที่วิทยาลัยการเมืองการปกครองนี้มีจุดเด่นที่แตกต่างจากที่อื่นอยู่สัก 2-3 ประเด็น กล่าวคือ ประเด็นแรกรายวิชาที่แตกต่าง นั่นคือ เราจะได้เรียนวิชา เช่น วิชาทฤษฎีการเมืองว่าด้วยสันติภาพและการไม่ใช้ความรุนแรง วิชารัฐ สังคมกับโลกาภิวัตน์ วิชาการเมืองเรื่องความยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน หรือเฉพาะเจาะจงกว่านั้นอีก เช่น วิชาการเมืองและการจัดการที่ดิน วิชาเพศสภาพ เพศวิถี กับการเมือง หรือวิชาทหารกับการเมือง ประเด็นถัดมาเราจะได้นำความรู้ที่เรียนในห้องไปปฏิบัติจริงในชุมชนอย่างเป็นระบบ หรือการเชื่อมโลกของความรู้กับโลกของการปฏิบัติ โดยเราจะได้ไปศึกษาถึงประเด็นที่เกิดขึ้นจริงในชุมชน ศึกษาความเป็นอยู่ ความร่วมมือ และการเมืองในชุมชน และประเด็นสุดท้าย เราสามารถเลือกเรียนวิชาอื่น ๆ นอกจากวิชาในเอกรัฐศาสตร์ เพื่อให้เราเข้าโลกภายนอกรั้วมหาวิทยาลัยได้ดีขึ้นขอบคุณรูปภาพจาก Bboellinger ใน pixabayรัฐศาสตร์ VS รัฐประศาสนศาสตร์คำถามคลาสสิคที่มีมาทุกยุคทุกสมัย นั่นคือ รัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ต่างกันอย่างไร ผมเห็นว่าหลาย ๆ สำนัก หลาย ๆ แหล่งเผยแพร่ได้ให้ข้อมูลไว้อย่างมากมายหลายประการในมุมมองของตนเอง ซึ่งมันก็ไม่ได้ผิดแต่อย่างใดดอก แต่สำหรับวิทยาลัยการเมืองการปกครอง แม้ศาสตร์ทั้งสองจะเน้นตามการศึกษากระแสหลักที่ถูกกำหนดโดยส่วนกลาง ทว่าก็ได้ผูกโยงกับความเป็นท้องถิ่น/ชุมชนไว้อย่างมากด้วยเช่นกัน กล่าวคือ เราจะได้เห็นวิชาที่ถูกออกแบบมาเพื่อเน้นให้ผู้เรียนเห็นถึงสิทธิของพลเมือง ตลอดจนการเมืองในระดับรากหญ้าที่มีผลกับคนตัวเล็กตัวน้อยในสังคม ในมุมของรัฐศาสตร์ ในขณะที่มุมของรัฐประศาสนศาสตร์ เราจะได้เห็นภูมิปัญญากับการบริหารงานท้องถิ่น การบริหารงานบุคคลท้องถิ่น หรือการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น ดังนั้น สำหรับที่นี่รัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์จึงไม่สามารถแยกขาดออกจากกันได้ เพียงแต่ศาสตร์หนึ่งศึกษาส่วนที่เป็นปรากฏการณ์ อีกศาสตร์หนึ่งศึกษาส่วนที่เป็นวิธีการในการแก้ไขหรือส่งเสริมปรากฏการณ์ดังกล่าว เสมือนหนึ่งกับการย่างก้าวไปข้างหน้า หากก้าวเฉพาะขาขวาทว่าขาซ้ายไม่ก้าวตาม เราจะไปถึงจุดหมายได้อย่างไร ฉันนั้นขอบคุณรูปภาพจาก ashlinbpg ใน pixabayจบมาแล้วทำงานอะไรว่ากันตามตรง สายงานของรัฐศาสตร์แทบจะไม่แตกต่างกันเลยกับสายงานของรัฐประศาสนศาสตร์ นั่นคือ หลัก ๆ แล้วจะทำงานในหน่วยงานของทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจ รวมไปถึงประกอบกิจการส่วนตัว (กว้างไป) ทว่าเมื่อกล่าวอย่างเฉพาะเจาะจง ตำแหน่งเหล่านี้ก็สามารถทำได้ เช่น ตำรวจ ทหาร พนักงานคดีปกครอง ปลัด นักพัฒนาสังคม เจ้าหน้าที่ฝ่ายทะเบียน เจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคล อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมอยากจะแนะนำมาก ๆ สำหรับผู้ที่จะมาเรียนในศาสตร์ทั้งสองนี้ กล่าวคือ แม้โครงสร้างการปฏิบัติงานในภาครัฐของประเทศไทยยังจะไม่เปลี่ยนแปลงอะไรมากมายนักสำหรับศตวรรษนี้ หรือกล่าวง่ายว่านั้นก็คือ ถ้าข้าราชการยังจำเป็นสำหรับประเทศไทยอยู่ การเรียนสองศาสตร์นี้กล่าวได้ว่าไม่ตกงานแน่นอน กระนั้นก็ตาม สิ่งที่ผมกลัวก็คือ คนตั้งแต่ Gen Y ลงไป จะมองว่างานประจำ ที่มีสายการบังคับบัญชาที่เข้มงวด ระเบียบกฎเกณฑ์ที่ไม่ยืดหยุ่น ตลอดจนวัฒนธรรมในองค์กรที่ไม่คงเส้นคงวา จะไม่ใช่สิ่งที่คนเหล่านั้นต้องการสักเท่าไหร่นัก ดังนั้น ไม่เสียหายเลยหากในระหว่างที่เรียน เราจะศึกษาศาสตร์หรือ Skills อื่น ๆ เพิ่มเติมด้วย ซึ่งตรงนี้เองมันจะทำให้เห็นสังคมหรือปรากฏการณ์ทางรัฐศาสตร์ที่ต่างออกไป เนื่องจากรัฐศาสตร์สอนให้ตั้งคำถามอยู่แล้ว ส่วน Skills อื่นนั้นจะเป็นผู้พาเราไปหาคำตอบ นั่นเองขอบคุณรูปภาพจาก Finelightarts ใน pixabayแม้จะไม่ช่วยอะไรมากเท่าไหร่ แต่ผมเชื่อว่าอย่างน้อยบทความนี้มีส่วนทำให้น้อง ๆ หรือพี่ ๆ หลายคนตัดสินใจได้ว่าจะเลือกเรียนปริญญาตรีสาขาหรือวิชาเอกไหน และเรียนไปทำไมในศตวรรษนี้ยังไม่สุดท้าย...แต่ก็ขอบคุณที่อ่านจนจบนะครับขอบคุณข้อมูลจาก : วิทยาลัยการเมืองการปกครอง