20 Startup จากโครงการ Growth Program 2024 อนาคตของนวัตกรรมไทยสู่เวทีโลก
สำเร็จไปอย่างงดงามกับโครงการยกระดับวิสาหกิจนวัตกรรมให้สามารถแข่งขันเชิงพาณิชย์ และเติบโตอย่างก้าวกระโดดและต่อยอดการลงทุน (Growth Program for Startups) โครงการเพื่อการยกระดับวิสาหกิจนวัตกรรมให้สามารถแข่งขันเชิงพาณิชย์และเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด โดยฝ่ายนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงาน Demo Day ในครั้งนี้ ตลอดระยะเวลาการดำเนินโครงการ จนเข้าสู่กระบวนการคัดเลือก และนำเสนอนวัตกรรม สู่งาน Demo Day นำเสนอธุรกิจจาก 18 Startup ที่ได้รับการคัดเลือกจากโครงการ Growth Program 2024 ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าชม องค์กรธุรกิจ นักลงทุนและสื่อมวลชน เป็นอย่างมาก
ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า “โครงการ Growth Program 2024 ครั้งนี้ถือเป็นรุ่นที่ 5 ซึ่งที่ผ่านมาเรามีการเก็บรวบรวมข้อมูลว่า สตาร์ทอัพ แต่ละรุ่นว่ามีการเติบโตไปทางด้านใดบ้าง ซึ่งเราหวังว่าการจัดกิจกรรมเช่นนี้จะเป็นการส่งเสริมนวัตกรรม และในทุกๆปีจะเห็นได้ว่ากิจกรรมต่างๆมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น และได้รับความสนใจจากนักลงทุนซึ่งไม่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น ยังได้รับความสนใจไกลไปยังต่างประเทศ ครั้งนี้เราจึงได้ตัดสินใจถ่ายทอดทาง Facebook Live เพื่อให้นักลงทุนในต่างประเทศที่สนใจได้รับชมการนำเสนอธุรกิจและผลิตภัณฑ์ของสตาร์ทอัพไทยในโครงการ พิจารณาให้การสนับสนุนธุรกิจต่อไปตาม Valuation ที่มากกว่า 1000 ล้าน ซึ่งตอนนี้ได้ระดมทุนแล้ว 80 ล้านบาทและอยู่ระหว่างระดมทุนอีก 50 ล้านบาท
โครงการนี้เรามีการเชื่อมโอกาสทั้งในเรื่องของพาร์ทเนอร์การจัดงาน และ ผู้สนใจสนับสนุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเรามองว่า สตาร์ทอัพกลุ่มนี้ควรได้รับการสนับสนุนที่มากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันนี้เราพยายามขยายตลาดไปยังตลาดต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น เกาหลี ญี่ปุ่น แม้กระทั่งโซนยุโรป ซึ่งนอกจากจะเป็นการขยายโอกาสของนักลงทุนแล้ว ยังเป็นการขยายตลาดไปยังต่างประเทศด้วย
การเก็บข้อมูล ทำให้เราเห็นว่ามีแนวโน้มที่ดีสำหรับเม็ดเงินในการลงทุนที่จะตามมา และบริษัทที่มาร่วมโครงการนี้จะเติบโตก้าวหน้าไป ยกตัวอย่างในวันนี้ เรามองว่าในอีก 3 ปีข้างหน้า กลุ่มสตาร์ทอัพในโครงการ เกินกว่า 50% เราจะสามารถผลักดันให้เติบโตเกินไปกว่าการเป็นสตาร์ทอัพ อาจก้าวไปสู่ซีรีย์ A ซึ่งจะมีเม็ดเงินลงทุนเกิน 1,000 ล้านได้ในที่สุด
ในแง่ของเม็ดเงินลงทุน เมื่อเราพูดว่า 1,000 ล้านบาท ในบ้านเราอาจจะมองว่าเป็นเม็ดเงินจำนวนมาก แต่เมื่อไปสู่ตลาดต่างประเทศ 1,000 ล้าน เป็นตัวเลขที่ไม่ได้มาก สตาร์ทอัพในต่างประเทศมูลค่าการลงทุนมี การกล่าวถึงในระดับพันล้านบาทเป็นเรื่องปกติ และในประเทศไทยเรายังมีสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นไม่มาก ซึ่งนั่นคือสิ่งที่เรากำลังพยายามให้มีสตาร์ทอัพที่โตมากจากรั้วมหาวิทยาลัยบ้าง จากบริษัทขนาดเล็กๆบ้าง เราจึงอยากจะผลักดันให้น้องๆที่ร่วมโครงการนี้ ในอีก 5-6 ปีข้างหน้า ให้เค้าเติบโตขึ้นไป อาจจะไม่ถึงขั้นยูนิคอร์น แต่มีการลงทุนหรือมีเม็ดเงินในระดับซีรีย์ A B C ให้เติบโตได้ ใน 4-5 ปีที่ผ่านมา สตาร์ทอัพ ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรขนาดใหญ่ ที่คาดหวังการลงทุนเพื่อการสร้างการเติบโตในแง่ของภาคธุรกิจซึ่งคาดหวังการเติบโตในอนาคต ดังนั้นพาร์ทเนอร์เหล่านี้ก็มีความสำคัญสำหรับการสร้างการเติบโตให้กับสตาร์ทอัพไทย ซึ่งเป็นการสร้าง Ecosystem วงจรการสร้างการเติบโตสำหรับกลุ่มสตาร์ทอัพได้ ในแง่ของการสร้าง Ecosystem เราเปรียบเสมือนโซ่กลางในการร้อยเรียงเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นตัวสตาร์ทอัพจากมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นตัวเม็ดเงินจากสถาบันการเงินในมิติด้านการลงทุนรวมถึงการเชื่อมโยงตลาด ซึ่งนับว่าเวลานี้ทั้งเรื่องการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property Management) และเราคุยตรงกับ IDTP (กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์) เรื่องการส่งเสริมการตลาด และประสานกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม. Department of Climate Change and Environment. เป็นตัวเชื่อมให้กับกลุ่มสตาร์ทอัพ และมีการพูดคุยกับบริษัทใหญ่ในการที่จะลงทุนกับบริษัทสตาร์ทอัพเหล่านี้ สถานการณ์การเติบโตของสตาร์ทอัพ ได้ผ่านจุดที่ตกต่ำที่สุดในช่วงโควิดที่ผ่านมาและจากนี้คือ ยุคที่กำลังเติบโตมีเม็ดเงินจากการสนับสนุนทำให้ภาพรวมของสตาร์ทอัพดีขึ้น”
การนำเสนองานในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนการจัดกิจกรรมจาก จุฬาลงกกรณ์มหาวิทยาลัย รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริเดช สุชีวะ รองอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “ในแง่สถาบันการศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีความเห็นว่า นอกจากเราจะเป็นสถาบันการศึกษา เรายังพร้อมที่จะส่งต่อผู้สำเร็จการศึกษาจากหลากหลายแขนง ซึ่งทุกวันนี้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเราใช้หลักสูตรที่เป็นบูรณาการที่ทำให้บัณฑิตเรานั้นรู้กว้างนอกจากศาสตร์ด้านองค์ความรู้ เรายังต้องรู้ศาสตร์ด้านการทำ R&D (การวิจัยและพัฒนา) และการตลาด ทำให้บัณฑิตเรามีความรอบรู้มากยิ่งขึ้น ซึ่งนอกจากจะผลิตบัณฑิตเพื่อออกมาช่วยพัฒนาประเทศแล้วยังพร้อมที่จะเป็นสตาร์ทอัพให้กับสังคมไทย ดังนั้นเราก็ส่งต่อไปยังสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ช่วยบ่มเพาะต่อเพื่อทำให้เข้มแข็งขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นสตาร์ทอัพแนวหน้าของประเทศไทย”
ผศ.ดร.ดวงกมล บางชวด หัวหน้าโครงการฯ กล่าวเสริมว่า “ในฐานะหัวหน้าโครงการ ขอขยายความต่อว่าในฐานะที่เราเป็นสถาบันการศึกษาเราพยายามบ่มเพาะให้กลุ่มสตาร์ทอัพเติบโตขึ้นและพยายามหาทางส่งเสริม ซึ่งในครั้งนี้ผู้ที่เข้าอบรม 20 ทีม ก็จะมีความหลากหลายของเทคโนโลยี ซึ่งผู้ร่วมอบรมต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมี Mentor หรือที่ปรึกษาที่จะช่วยให้สตาร์ทอัพให้เติบโตขึ้น ในทุกวันนี้เทรนด์การเรียนรู้ของคนเราจะ เน้นการเป็นพื้นที่การเรียนรู้ของคนทุกช่วงวัย ซึ่งทางจุฬาฯ ให้ความสำคัญกับเทรนด์การเรียนรู้ในอนาคต โครงการนี้เป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ ของน้อง ๆ นิสิตเพราะได้เห็นว่าเป็นกลุ่มการทำงานผสมกันหลายช่วงอายุ ทั้งเด็กจบใหม่ ทั้งมีผู้ที่เรียนจบไปนานแล้วต่างมาร่วมทำงานด้วยกัน ทำให้เกิดการเรียนรู้อย่างกว้างและเกิดแรงบันดาลใจที่ดี ที่จะเติบโตไปในอนาคต”
โครงการ Growth program คือโครงการที่มุ่งเน้นการพัฒนาเพื่อต่อยอดศักยภาพของผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมไทยที่เป็นวิสาหกิจเริ่มต้น (startup) ในด้านการจัดการธุรกิจ การขยายธุรกิจ การนำเสนอธุรกิจ รวมถึงการระดมทุน การต่อยอดสู่แหล่งทุนอื่นและกลไกสนับสนุนด้านการเงินที่เกี่ยวข้อง ผ่านการถ่ายทอดองค์ความรู้ และแลกเปลี่ยนแนวคิดและประสบการณ์จากผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อเพิ่มโอกาสให้ Startup ได้หารือ หรือนำเสนอธุรกิจต่อนักลงทุน แหล่งทุน คู่ค้า ทางธุรกิจ ซึ่งจะเพิ่มโอกาสการเติบโตให้ธุรกิจ และเพื่อพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือและความสัมพันธ์ระหว่าง startup และภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องในระบบนิเวศธุรกิจ
สำหรับผู้สนใจสามารถเข้าชมพิธีปิดโครงการ Growth Program 2024 และงาน Demo Day ย้อนหลังได้ที่ Facebook Fanpage : Growth Program 2024