รีเซต

‘หนุน-ค้าน’ รีดภาษีขายหุ้น

‘หนุน-ค้าน’ รีดภาษีขายหุ้น
มติชน
23 ธันวาคม 2564 ( 06:58 )
45

เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) มาตลอดเกือบ 2 ปี ส่วนใหญ่รายได้ลดลง แบกรับภาระค่าใช้จ่าย และขาดสภาพคล่องทางการเงิน ทำให้ตัวเลขทางบัญชีไม่สวยงามซึ่งมีผลโดยตรงต่อการเก็บภาษีต่างๆ ของภาครัฐไปด้วย ขณะที่รัฐบาลมีรายจ่าย เมื่อรายได้ลดลงแต่รายจ่ายพุ่ง สำรองเงินเพื่อใช้จ่ายรัฐก็ถดถอย แม้รัฐใช้การกู้ยืมโปะแต่ผลกระทบจากโควิดระลอกใหม่เกิดขึ้นต่อเนื่องและไม่รู้ทิศทางว่าจะจบลงเมื่อใด

 

จะใช้การกู้ยืมอย่างเดียวก็คงไม่ได้ง่ายนัก!!

ดังนั้น อีกทางหนึ่งที่รัฐบาลต้องหาทางออก คือ หาช่องทางเพิ่มรายได้จากการเก็บภาษี แต่ภาษีเดิมๆ ที่จัดเก็บก็ได้รายได้ต่ำกว่าเป้าหมายค่อนข้างมาก จึงต้องแยกไลน์ภาษีชนิดใหม่ๆ หวังมีรายได้เพิ่มเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจให้สามารถฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง แม้วิกฤตโควิด-19 ผ่อนคลายลงจริงๆ

 

กระทรวงการคลัง ในฐานะหน่วยงานดูคลังการเงินประเทศ จึงศึกษาและส่องหาการจัดหาจัดเก็บรายได้ภาษีประเภทอื่นๆ เพิ่มเติม อาทิ ก่อนหน้านี้ จัดเก็บออกกฎหมายเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ประกอบการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ หรือเรียกว่า ภาษีอี-เซอร์วิส ปรากฏว่าดำเนินการเป็นไปได้ดี สามารถเพิ่มรายได้ให้กับประเทศได้จริง จึงได้มีแนวคิดขยายไปยังภาษีตัวอื่นๆ ตามมา กลุ่มที่ไม่ว่าการแพร่ระบาดของโควิดจะเป็นอย่างไร ตลาดหุ้นก็ยังคึกคัก จึงเป็นกระแสที่ว่ารัฐเตรียมเก็บภาษีขายหุ้น

 

เรื่องนี้วงในกรมสรรพากร ออกมาเปรยแล้วว่า กระทรวงการคลังมีแผนเรียกเก็บภาษีจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ หรือภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายหุ้น ภาษีดังกล่าวได้รับการยกเว้นมากกว่า 30 ปีแล้ว โดยกรมสรรพากรและกระทรวงการคลัง อยู่ระหว่างพิจารณาการเรียกเก็บ แต่จะต้องดูหลายปัจจัยประกอบ โดยเฉพาะเงื่อนไขเวลาที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า การเรียกเก็บภาษีดังกล่าวนั้น ประชาชน 85% หรือนักลงทุนรายย่อยจะไม่ได้รับผลกระทบแน่นอน

 

สำหรับการศึกษาการเรียกเก็บภาษีการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ประกอบด้วย 3 แนวทาง คือ 1.การขายหุ้นในตลาดฯ 1 ล้านบาทต่อเดือน 2.การขายหุ้นในตลาดฯ 1.5 ล้านบาทต่อเดือน และ 3.การขายหุ้นในตลาดตั้งแต่ 2 ล้านบาทต่อเดือนขึ้นไป โดยในตรากฎหมายเดิมนั้น กำหนดไว้ว่าการขายหุ้นในตลาด 1 ล้านบาทขึ้นไปจะต้องเสียภาษีในอัตรา 0.1% ของมูลค่าขาย แต่ปัจจุบันยังได้รับการยกเว้น

 

ทั้งนี้ กรมสรรพากร ได้ศึกษาภาษีทั้ง 2 ส่วน คือ ภาษีกำไรจากการขายหลักทรัพย์ (แคปิตอล เกน) หากจะเรียกเก็บจากส่วนนี้จะต้องตรากฎหมายขึ้นมาใหม่ หรือแก้ไขกฎหมายเพิ่มเติม แต่สำหรับการเก็บภาษีการขายหุ้นนั้น มีประมวลรัษฎากรกฎหมายภาษีของกรมสรรพากรอยู่แล้ว แต่ได้รับการยกเว้นมาตั้งแต่ปี 34 ซึ่งสามารถเก็บได้เลย โดยการหยิบยกกฎหมายนี้ขึ้นมาก็เป็นไปตามแผนการปฏิรูปภาษี ซึ่งปัจจุบันหลายประเทศมีการเรียกเก็บทั้ง 2 ส่วน หรือบางประเทศก็เรียกเก็บเพียงอย่างเดียว ตัวอย่างในต่างประเทศ อย่างเช่น ฮ่องกง ที่เก็บภาษีลักษณะนี้อยู่ สำหรับไทยคาดว่าจะจัดเก็บรายได้ 1-2 หมื่นล้านบาทต่อปี

 

ไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดเรื่องที่กระทรวงการคลังเตรียมจัดเก็บภาษีจากการขายหุ้น เพราะการขึ้นภาษีอาจส่งผลเสียมากกว่าได้ประโยชน์ ปัจจุบันอาจเห็นปริมาณการซื้อขาย (วอลลุ่ม) ในตลาดหุ้นที่ค่อนข้างสูง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากนักลงทุนต่างชาติที่ใช้โปรแกรมการซื้อขายหุ้นหรือเข้ามาเทรดกันเองเป็นจำนวนมาก ซึ่งหากมีการจัดเก็บภาษีต้นทุนจะสูงขึ้นเป็นเท่าตัวและจะทำให้เกิดการซื้อขายน้อยลง รวมถึงอาจกระทบต่อสภาพคล่องโดยรวมของตลาดหุ้นไทยให้ลดลงตามไปด้วย ซึ่งการขึ้นภาษีดังกล่าว อาจทำให้นักลงทุนต่างชาติอาจตัดสินใจเลือกไปลงทุนในตลาดหุ้นอื่นแทน หรือแม้แต่นักลงทุนไทยอาจจะมองว่าการลงทุนในตลาดหุ้นไทยไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน อาจเลือกไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น จากปัจจุบันที่เริ่มมีความคุ้นเคยกับการลงทุนในต่างประเทศมากขึ้นแล้ว

 

ต้องเข้าใจว่าตลาดหุ้นมีไว้เพื่อให้ธุรกิจเข้ามาระดมทุน เพื่อนำเงินที่ได้ไปผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเติบโต ดังนั้นตลาดหุ้นจะมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ อะไรก็ตามการที่ทำให้ต้นทุนนักลงทุนสูงขึ้นในช่วงที่เรายังต้องการพัฒนาตลาดทุน และต้องการจะดึงดูดเม็ดเงินลงทุนต่างชาติตามที่รัฐบาลอยากเห็น อาจจะได้ไม่คุ้มเสีย แม้ว่าภาษีจะเก็บได้เพิ่ม แต่จะเสียหายด้านการพัฒนาตลาดทุนได้ เพราะวันนี้คนออมเงินในตลาดหุ้นมีแค่ 2 ล้านบัญชีเท่านั้น ถือว่ายังน้อย การจะทำอะไรกับตลาดหุ้น ต้องคิดหน้าคิดหลังให้มาก

 

อีกมุมมองจาก ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัท หลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด กล่าวว่า ส่วนตัวคาดว่ามีความเป็นไปได้ที่จะไม่มีการเก็บ แต่ถ้าเก็บภาษีจริง นักลงทุนที่หมุนหุ้นบ่อย เกินจำนวนที่กำหนดไว้ 1 ล้านบาท หรือกลุ่มสถาบัน รีเทล และกลุ่มนักเก็งกำไร จะมีต้นทุนในการลงทุนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้การเก็งกำไรมีความน่าสนใจลดลง ส่วนการลงทุนแบบนี้จะเป็นหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือตราสารที่มักเก็งกำไร จะมีปริมาณการซื้อขายลดลงไป มีผลกระทบให้รายได้ของโบรกเกอร์ลดลงตามไปด้วย

 

อีกส่วนที่ได้รับผลกระทบ คือ กลุ่มการซื้อขายความถี่สูง (High Frequency Trading) หรือเอชเอฟที อาจจมีการซื้อขายลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เป็น 1 ใน 3 ของการลงทุนหุ้นทั้งหมด และสุดท้ายกลุ่มที่ได้รับผลกระทบคือ ตลาดและบริษัทหลักทรัพย์ต่างๆ ที่จะได้รับผลจากการซื้อขายที่ลดลง ทำให้การออกผลิตภัณฑ์อาจจะได้รับกระแสตอบรับเชิงบวกน้อยลง

 

ผลกระทบค่อนข้างเยอะ แต่ในส่วนผลเชิงบวกคงหนีไม่พ้นเรื่องของการลดความเหลื่อมล้ำ ถ้าจะลดได้จริงต้องประเมินได้ว่าภาษีที่ได้จะต้องมาจากคนมีรายได้สูงทั้งหมด ซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่เช่นนั้น เพราะยังมีกลุ่มเก็งกำไรหมุนหุ้นเร็ว หรือเดย์ เทรด มีตั้งแต่นักลงทุนที่เป็นนักศึกษา ประชาชนทั่วไป

 

ผู้สื่อข่าวยังได้สอบถามไปยังนักลงทุนรายย่อย หลายเสียงสะท้อนว่า เป็นเรื่องที่รัฐบาลพยายามจะเก็บภาษีหุ้นมานานหลายปีแล้ว แต่ไม่สำเร็จ และล้มเลิกไปก่อนนี้ อดสงสัยไม่ได้ว่าการที่รัฐบาลปัดฝุ่นแนวคิดเดิมในช่วงเวลาที่รัฐบาลต้องกู้เงินขนานใหญ่เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และโควิดยังไม่จบ ยังกลายพันธุ์อยู่ รัฐบาลอาจจำเป็นต้องตุนเงินเพิ่ม ขณะเดียวกันก็โดนกระแสข่าวว่ากำลังถังแตก คาดว่าอาจเกี่ยวข้องกับการเก็บภาษีหุ้นเพื่อพยุงสถานะการเงินของรัฐหรือไม่

 

อีกความเห็นระบุอีกว่า ประเด็นจะเก็บภาษีหุ้นที่มีมูลค่าเกิน 1 ล้านบาทนั้น รัฐบาลระบุว่าจะไม่เดือดร้อนนักลงทุนรายย่อยนั้น ในฐานะเป็นนักลงทุนรายย่อยเหมือนกัน ไม่คิดเช่นนั้น เพราะหากเป็นการคิดภาษีจากมูลค่าฐานการลงทุนรวมกับส่วนต่างกำไรราคาหุ้น ไม่ใช่การคิดภาษีเฉพาะกำไรจากการขายหุ้นอย่างเดียว เท่ากับว่ามีการคิดภาษีส่วนต้นทุนหุ้นด้วย หากนักลงทุนซื้อหุ้นที่มีต้นทุนแพงมาก อาทิ ต้นทุนต่อหุ้นหลัก 100 บาท แต่มีส่วนต่างกำไรต่อหุ้นเพียงหลักสิบบาท ก็จะกำไรส่วนต่างราคาหุ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่โดนหักภาษีอีก แทนที่ผู้ลงทุนจะได้กำไรการลงทุนหุ้น อาจจะขาดทุนจากที่โดนหักภาษีได้ จึงอยากให้รัฐบาลออกเกณฑ์ที่รอบคอบชัดเจนก่อนจะแจ้งให้ประชาชนรับทราบ ไม่เช่นนั้นอาจจะเกิดความตื่นตระหนกได้

เสียงข้างต้นนั้นหากเข้ากระบวนการเชื่อว่าคงใช้เวลาอีกระยะ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง