รีเซต

รมว.สุชาติ ปลุกเอสเอ็มอีต้องเดินต่อ ลั่น! เร่งเยียวยาผู้ประกอบการรักษาการจ้างงานหัวละ 3 พัน 3 เดือน

รมว.สุชาติ ปลุกเอสเอ็มอีต้องเดินต่อ ลั่น! เร่งเยียวยาผู้ประกอบการรักษาการจ้างงานหัวละ 3 พัน 3 เดือน
มติชน
30 ตุลาคม 2564 ( 13:33 )
73
รมว.สุชาติ ปลุกเอสเอ็มอีต้องเดินต่อ ลั่น! เร่งเยียวยาผู้ประกอบการรักษาการจ้างงานหัวละ 3 พัน 3 เดือน

ข่าววันนี้ 30 ตุลาคม นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวในงานสัมมนาออนไลน์ “รู้แล้วรวย ฮีโร่ SMEs กู้วิกฤต ไปต่อแบบไม่มีร่วง” ในหัวข้อ ปลุกพลัง สร้างทางรอด SMEs ว่า  ขอขอบคุณคณะผู้จัดงานในนามบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ที่ได้จัดงานนี้ขึ้น โดยตนและผู้บริหารกระทรวงแรงงาน ได้เข้าร่วมในการสัมมนาในครั้งนี้ เป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์กับประชาชน เพื่อสร้างพลังใจให้ธุรกิจ SMEs ได้เดินต่อ เป็นธุรกิจที่มีคุณค่าต่อฐานรากของประเทศไทยอย่างยิ่ง รวมถึงนานาประเทศด้วย เพราะธุรกิจรายใหญ่ หรือธุรกิจสตาร์ทอัพ(Start Up) ทั่วโลก จะเติบโตได้จะต้องโตมาจาก SMEs ทั้งนี้ นโยบายของรัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ให้ความสำคัญกับธุรกิจ SMEs อย่างมาก ซึ่งนโยบายการแก้ไขปัญหานำไปสู่การผลักดันธุรกิจ SMEs จะต้องมาจากข้อมูลที่จับต้องได้ และเสถียรที่สุด

 

นายสุชาติ กล่าวว่า เข้ามารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 12 ส.ค.63 ได้นำข้อมูลทั้งหมดผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม กว่า 11 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นชาวต่างด้าว 1 ล้านคน พบว่าอยู่ในธุรกิจ SMEs ประมาณ 5.6 ล้านคนหรือครึ่งหนึ่ง ขณะที่ บริษัทผู้ประกอบการในม.33 กว่า 4.9 แสนกิจการ เป็นธุรกิจ SMEs กว่า 3.9 แสนกิจการ ดังนั้น การจ้างงานในประเทศกว่า 80% มาจากธุรกิจ SMEs และลูกจ้างอีกครึ่งหนึ่งก็อยู่ในธุรกิจดังกล่าว

 

 

“ภาวะโควิด-19 ที่ผ่านมา เราพบว่าธุรกิจที่มีความอ่อนไหวที่สุด คือ SMEs ช่วงที่คนออกจากงานเดือนละ 1-2 แสนคน ส่วนมากก็มาจากธุรกิจนี้ เพราะ ความแข็งแรงทางการเงิน ระบบเงินทุนที่สะสมไว้ ยังไม่เพียงพอต่อการรักษาหรือรับพายุที่โหมกระหน่ำในปี 2563 ได้ แต่หลังจากรัฐบาลแก้ปัญหาควบคุมการระบาดได้ ก็ปลอดเชื้ออยู่ช่วงหนึ่ง ออกมาตรการเยียวยา อาทิ เราชนะ คนละครึ่ง ก็มีการจ้างงาน SMEs เป็นกราฟขึ้นสูงอีกครั้ง ดังนั้น ธุรกิจนี้จะสวิงตามนโยบายของรัฐบาลและอุปสรรคของเศรษฐกิจโลก” นายสุชาติกล่าว

 

นายสุชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมาพบว่า ธุรกิจ SMEs ประเภทการท่องเที่ยว ธุรกิจบริการ ร้านอาหาร มีความอ่อนไหวที่สุด ช่วงโควิด-19 ที่มีมาตรการต่างๆ ส่งผลต่อการเลิกจ้างและปิดตัวลง เนื่องจากความแข็งแรงธุรกิจ เงินทุนไม่เพียงพอต่อการหล่อเลี้ยงธุรกิจ ตนจึงนำเสนอโครงการเยียวยาให้กับผู้ประกอบและลูกจ้างในธุรกิจ SMEs เพื่อประคองให้ผ่านวิกฤตในช่วงสั้นๆ นี้เพื่อให้ตั้งหลักเดินต่อได้ เราคำนึงเสมอว่า “SMEs ล้มไม่ได้ หากล้มจะทำให้มีคนออกจากงานเป็นหลักล้านได้” เป็นที่ของนโยบายประคับประคองธุรกิจ SMEs ให้อยู่รอด ปลอดภัยในเวลา 3 เดือน เพื่อการบริหารงานคราวละ 1 ไตรมาส หากยังไม่ดีขึ้น ก็สามารถดำเนินการต่อได้ อย่างไรก็ตาม ตามระบบประกันสังคม ธุรกิจ SMEs ที่มีลูกจ้าง 1-200 คน โดยนับจากลูกจ้างคนไทยเท่านั้น เพราะเงินอุดหนุนนี้มาจากงบเงินกู้ของประเทศ มีประมาณ 5 ล้านกว่าคน โดยการหารือร่วมกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ทำให้เรารู้ว่า ธุรกิจนี้จะอยู่รอดหรือไม่ ขึ้นอยู่กับรายจ่ายที่ถูกำหนดไว้แล้ว(Fixed cost) เช่น ค่าเช่า เงินเดือน จึงมีนโยบายการช่วยเหลือหัวละ 3 พันบาท โดยมีเงื่อนไขว่าธุรกิจจะต้องรักษาการจ้างงาน

 

“แม้เราจะช่วยเหลือนายจ้าง แต่ผลลัพธ์ที่ได้ก็จะอ้อมไปถึงลูกจ้าง เพราะการเยียวยา SMEs ครั้งนี้ ต้องรักษาการจ้างงาน เช่น 100 คนรายหัว บริษัทนั้นห้ามเอาคนออกเกิน 5 คน หรือ 5% ดังนั้น ระบบลูกจ้าง SMEs ของประเทศที่มีกว่า 5 ล้านคน คิด 5% ก็จะอยู่ที่ 2 แสนกว่าคน ดังนั้น เราต้องรักษาการจ้างงานให้ได้” นายสุชาติ กล่าวและว่า นี่จึงเป็นนโยบายล่าสุดในการเยียวยาผู้ประกอบการ และกำลังเปิดให้ลงทะบียนอยู่

 

นายสุชาติ กล่าวว่า ย้อนกลับไปเมื่อครั้งที่ตนเริ่มธุรกิจ SMEs ร่วมกับครอบครัว เป็นธุรกิจก่อสร้างเล็ก ๆ มีการจ้างโฟร์แมน 1-2 คน แต่เมื่อเริ่มลงมือศึกษา ธุรกิจก็เริ่มแข็งแรง ดังนั้น ธุรกิจ SMEs เหมือนการปลูกต้นมะม่วงที่เราปลูกจากเมล็ด แต่ใช้เวลาเติบโตเพื่อแข็งแรง ซึ่งต่างจากธุรกิจอื่น ที่เหมือนการตอนกิ่งไม้มา โตเร็ว แต่เมื่อเจอลมพายุ ก็อาจสู้ต้นไม้ที่เติบโตมาจากเมล็ดไม่ได้ ขณะที่ วิกฤตที่เกิดขึ้นทั่วโลกตอนนี้ ธุรกิจ SMEs ล้มหายไปแน่นอน เพราะเป็นธุรกิจค่อย ๆ เติบโต แต่หากผ่านวิกฤตไปได้ ก็ไม่ต้องอะไรแล้ว ถือว่าเราได้สู้กับวิกฤตระดับโลกมาได้ จะมีความแข็งแรง เข้มแข็ง ไม่กลัวต่ออุปสรรคอะไรอีกแล้ว

 

รมว.แรงงาน กล่าวต่อว่า ให้ความสำคัญต่อธุรกิจขนาดเล็กอย่างมาก โดยมอบหมายให้อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ลงไปช่วยธุรกิจการขายออนไลน์ เปิดอบรมหลักสูตรการขาย เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงระบบแพลตฟอร์ม มีองค์ความรู้ด้านธุรกิจ ทั้ง การขาย การออกแบบผลิตภัณฑ์ การแพ็คสินค้าอย่างทันสมัย นอกจากนั้น เราได้สนับสนุนการจัดหางานให้แรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศอย่างถูกกฎหมาย เช่น ภาคธุรกิจเกษตรที่ประเทศอิสราเอล มีแรงงานคนไทยไปทำงานปีละกว่า 5-6 พันคน เมื่อกลับมาไทย ก็มาบูรณาการ จัดการไร่นาของตัวเอง สร้างธุรกิจของตัวเองได้

 

“ผมให้นโยบายกับท่านปลัดกระทรวงฯ เพื่อช่วยเหลือธุรกิจ SMEs ในทุกมิติ เช่น แหล่งเงินทุน แม้เราไม่มีให้กู้แต่ก็ประสานไปยังสถาบันการเงิน สอนทำบัญชีถูกต้องต่อการยื่นกับธนาคาร ทางกรมพัฒน์ฯ ก็ลงพื้นที่สำรวจแหล่งทรัพยากรในจังหวัด ให้เกิดการพัฒนาเป็นสินค้า แปรรูปให้เกิดเป็นวิสาหกิจชุมชน เติบโตเป็นธุรกิจใหญ่ได้” นายสุชาติ กล่าว

 

นายสุชาติ กล่าวด้วยว่า ได้เน้นย้ำกับหน่วยงานในกำกับอยู่เสมอถึงการประสานความช่วยเหลือธุรกิจเพื่อสินเชื่อ SMEs เพื่อสร้างความแข็งแรงให้ธุรกิจ ตนได้เรียนกับท่านนายกฯ อยู่ตลอดว่า หากธุรกิจนี้หากมีความแข็งแรง ก็จะเกิดการจ้างงานมากขึ้น จาก 5 ล้านคนก็เป็น 7-8 ล้านคนได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล ความใส่ใจของภาคราชการด้วย ความสำคัญของการลงทุนธุรกิจขนาดเล็กที่มีเครื่องมือน้อยกว่าธุรกิจรายใหญ่ ทั้งด้านสถาบันการเงิน สินเชื่อที่ถูกกว่า จะเห็นได้ว่าธุรกิจขนาดเล็กดอกเบี้ยแพงกว่า ทั้งทีการลงทุนครั้งแรกดอกเบี้ยควรจะต่ำกว่า แต่ด้วยธนาคารมองถึงความอ่อนไหวในธุรกิจ SMEs นี่คือตรรกะหนึ่งที่ต้องคิดมุมกลับบ้าง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง