รีเซต

รัฐสภาถก 4 ฉบับ ร่างแก้รธน. 'ฝ่ายค้าน-ภาคประชาชน' ชงรื้อทิ้งอำนาจส.ว.-ที่มานายกฯ

รัฐสภาถก 4 ฉบับ ร่างแก้รธน. 'ฝ่ายค้าน-ภาคประชาชน' ชงรื้อทิ้งอำนาจส.ว.-ที่มานายกฯ
มติชน
6 กันยายน 2565 ( 14:09 )
63

เมื่อเวลา 11.30 น.วันที่ 6 กันยายน ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา มี นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพิ่มเติมจำนวน 5 ฉบับ โดยได้มีการถอนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 120 ของ นายวิรัช พันธุมะผล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) เรื่องกำหนดองค์ประชุมในวาระรับทราบรายงานต่างๆ ออกจากระเบียบวาระ ทำให้เหลือร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จำนวน 4 ฉบับคือ 1.ร่างแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 43 โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรค พท. กับคณะ เป็นผู้เสนอ เกี่ยวกับเรื่องสิทธิของบุคคล และชุมชน

 

2.ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 25 วรรคห้า แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 29 เพิ่มมาตรา 29/1 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 34 มาตรา 44 มาตรา 45 มาตรา 47 และมาตรา 48 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว กับคณะ เป็นผู้เสนอ เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพิ่มสิทธิในกระบวนการยุติธรรม  3.ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 159 วรรคหนึ่ง และมาตรา 170 วรรคสอง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว กับคณะ เป็นผู้เสนอซึ่งเกี่ยวข้องกับคุณสมบัติและที่มาของนายกรัฐมนตรีจากการเลือกโดย ส.ส.เท่านั้น และ 4.ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 272 ตัดอำนาจ ส.ว.ในการร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี ของ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กับประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจำนวน 64,151 คน เป็นผู้เสนอ

 

จากนั้น ผู้เสนอร่างได้เสนอหลักการและเหตุผล โดย นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรค พท. เสนอหลักการณ์แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 1 ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 43 เกี่ยวกับสิทธิของชุมชนและบุคคล โดยที่มาตรา 43 ของรัฐธรรมนูญ กำหนดให้บุคคล และ ชุมชนย่อมมีสิทธิในการอนุรักษ์ ฟื้นฟูส่งเสริมภูมิปัญญา ศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี จารีตประเพณีอันดีงาม ทั้งของท้องถิ่นและของชาติ และมีสิทธิในการบำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ตามที่กฎหมายบัญญัติ รวมถึงสิทธิการเข้าชื่อกันเพื่อเสนอ แนะต่อหน่วยงานของรัฐให้ดำเนินการ หรืองดเว้นการดำเนินการอันจะกระทบต่อความเป็นอยู่ของบุคคลและชุมชน ซึ่งพิจารณาแล้วไม่เพียงต่อการคุมครองและป้องสิทธิของบุคคลและชุมชน ในกรณีที่อาจมีการทำกิจกรรมที่กระทบกับชุมชนอย่างรุนแรง

 

ทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ซึ่งในรัฐธรรมนูญปี 60 มีความแตกต่างจากที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ การเสนอให้แก้ไขมาตรา 43 เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 60 ไม่ได้กำหนดสิ่งเหล่านี้ไว้ แม้จะกำหนดใหเมีการทำประชาพิจารณ์ แต่การทำประชาพิจารณ์เหล่านั้นประชาชนอาจจะไม่เข้าาใจทั้งหมด ว่าสิทธิของตัวเองมีอะไรบ้าง เพราะบางเรื่องมีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งหน่วยงานราชการไม่ได้ฟังเสียงประชาชนอย่างแท้จริง สิทธิประชาชนเหล่านี้ต้องถูกปกป้อง โดยรัฐธรรมนูญ จึงต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมใน (5) ให้มีการคุ้มครองส่งเสริม รักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม และสิทธิของชุมชนทั้งหมด เพื่อรองรับความเป็นเมืองที่ทันสมัยในอนาคต

 

ขณะที่ นายวิสาร เตชะธีรวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรค พท. นำเสนอหลักการณ์เหตุผล ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 ว่า เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวดที่ 3 เรื่องสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย โดยขอเพิ่มความในวรรค 5 มาตรา 25 เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 29 เพื่อสิทธิในกระบวนการยุติธรรม เป็นมาตรา 29/1 และแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 34 มาตรา 44 มาตรา 45 มาตรา 47 และมาตรา 48 โดยเหตุผลเนื่องจากรัฐธรรมนูญ 60 ได้ใช้บังคับมาระยะเวลาหนึ่งแล้ว แต่บทบัญญัติหลายมาตราที่เกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพของปวนชาวไทย หลายเรื่องยังขาดความชัดเจนและไม่ครอบคุมถึงสิทธิบางประการของบุคคล ได้แก่สิทธิในกระบวนการยุติธรรม หลายประการไม่ได้บัญญัติไว้ ทำให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ ทั้งสิทธิในการขอปลอยตัวของผู้ต้องหา หรือจำเลยในคดีอาญา สิทธิการให้ประกันตัว และสิทธิในกระบวนการยุติธรรมในกรณีอื่นๆ เสรีภาพในการชุมนุมที่มักอ้างความมั่นคงที่เป็นข้อจำกัด และเสรีภาพของบุคคล เสรีภาพในการรวมตัวกันจัดตั้งพรรคการเมือง ยังขาดสาระสำคัญ ทำให้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่ตราขึ้นมาใช้บังคับ มีบทบัญญัติที่จำกัด เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการกิจกรรมของพรรคการเมืองเกินความจำเป็น

 

นายวิสาร กล่าวต่อว่า รวมถึงสิทธิในการได้รับด้านสาธารณสุขของรัฐ ควรจะมีความชัดเจนและครอบคุมถึงการได้รับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ด้วยอายุ 60 ปีบริบูรณ์หรือผู้ยากไร้ ควรบัญญัติให้ชัดเจนและมีสภาพบังคับ รวมถึงสิทธิของผู้พิการและทุพลภาพ สิทธิของบุคคลซึ่งไร้ที่อยู่อาศัย วิกลจริต ควรได้รับการช่วยเหลือที่เหมาะสมโดยรัฐ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม

 

ด้าน นพ.ชลน่าน เสนอหลักการและเหตุผลการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 3 ว่า มาตรา 159 ของรัฐธรรมนูญกำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบบุคคล ซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีจากบุคคลที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 แต่ในมาตรา 160 ไม่ได้กำหนดคุณสมบัติของบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งว่า ต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักการที่เคยบัญญัติไว้ ที่กำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้น จึงจำเป็นต้องตราร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม โดยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เราจำเป็นต้องมีบทเฉพาะกาลรองรับไว้ ซึ่งมีการบัญญัติไว้ชัดเจนว่า ในวาระเริ่มแรกมิให้นำมาตรา 159 วรรคหนึ่ง ซึ่งมีกาารแก้ไขเพิ่มเติมมาใช้บังคับจนกว่าจะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรก ภายหลังมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ โดยสาระสำคัญมีใจความว่า อยู่ในมาตรา 3 และมาตรา 4 เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 159 วรรคหนึ่ง โดยกำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบบุคคลที่แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี จากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและเป็นคนที่มีรายชื่อที่พรรคการเมืองได้แจ้งไว้ตามมาตรา 88 ในการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรานี้ เรายังคงสาระในบทบัญญัติไว้คือให้พรรคการเมืองสามารถเสนอชื่อได้ไม่เกิน 3 ชื่อ และต้องได้รับการยินยอมจากผู้ที่เสนอด้วย โดยผู้ที่ถูกเสนอชื่อต้องมีความมั่นใจว่าจะได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะเป็นหลักประกันว่าพรรคการเมืองที่จะส่งรายชื่อคนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องมั่นใจว่าจะได้รับเลือกตั้งจากประชาชน และพรรคการเมืองที่ได้ส.ส. 25 คนจึงจะมีสิทธิ์เสนอ

 

นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า ส่วนการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 170 วรรคสอง ซึ่งเป็นมาตราที่สิ้นสุดลงลงเฉพาะตัวของตำแหน่งรัฐมนตรีรวมถึงนายกรัฐมนตรีด้วย ซึ่งจะดำรงตำแหน่งเกิน 8 ปีไม่ได้ ไม่ว่าจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ โดยเราได้เพิ่มเติมในวรรคสองของมาตรานี้คือ นอกจากเหตุที่ทำให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามวรรคหนึ่งแล้ว ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเมื่อสิ้นสุดความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือเมื่อครบกำหนดเวลาตามมาตรา 158 วรรคสี่ด้วย ซึ่งการจำกัดการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและที่มาของนายกรัฐมนตรีต้องบัญญัติไว้ให้ชัดเจน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง