หลายคนอาจจะเคยได้ยินเกี่ยวกับคณะภูมิศาสตร์หรือสาขาภูมิศาสตร์ แต่เคยสงสัยไหมว่าเด็กภูมิศาสตร์เขาเรียนอะไรกัน ต้องขอเล่าก่อนนะครับว่า มีหลายคนเข้าใจว่า “เรียนภูมิศาสตร์แล้วต้องทำแผนที่หรอ” คำตอบคือใช่ครับ แล้วเราไม่ได้ทำแผนที่ใส่แผ่นกระดาษเพียงแค่นั้นนะครับ แต่ยังมีแผนที่ที่หลายคนคุ้นเคย คือแผนที่ที่อยู่บนอินเตอร์เน็ต หรือแอพต่าง ๆ นั้นก็ถือว่าเป็นภูมิศาสตร์ครับ ฉะนั้นแล้ว การศึกษาสิ่งต่าง ๆ ตามหัวใจหลักของภูมิศาสตร์คือ พื้นที่และเวลา (space and time) ก็ถือว่าเป็นภูมิศาสตร์แล้วครับ วันนี้จะมาบอกให้ทราบว่าหลัก ๆ แล้ว ภูมิศาสตร์เขาเรียนอะไรกัน แต่ละวิชาน่าสนใจขนาดไหน ไปดูกันเลยครับเริ่มต้นด้วย1.วิชาการทำแผนที่เบื้องต้น (Introduction to Cartography) แน่นอนว่าในยุคนี้เป็นยุคดิจิทัล แต่การทำความเข้าแผนที่ในรูปแบบเดิมก็ยังสำคัญอยู่ครับ ซึ่งในวิชานี้จะเรียนเกี่ยวกับลักษณะของแผนที่ รายละเอียดหรือองค์ประกอบต่าง ๆ รวมไปถึงชนิดของแผนที่ และลักษณะการใช้ประโยชน์ เช่น แผนที่ภูมิประเทศ แผนที่แสดงป่าไม้ แผนที่ธรณีวิทยา เป็นต้น 2.ภูมิศาสตร์กายภาพ (Physical Geography) วิชานี้เป็นการทำความเข้าใจกระบวนการการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นบนโลก เช่น การเกิดหิน ดิน วัฏจักรของน้ำ ภูมิอากาศ ชั้นบรรยากาศ การเกิดฤดู ความแตกต่างการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตแต่ละภูมิประเทศ 3. ภูมิศาสตร์มนุษย์ (Human Geography)วิชานี้ศึกษาเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ เช่น การเมือง วัฒนธรรม สังคม ภาษา การกระจุกตัวของเมือง การย้ายถิ่น รวมไปถึงกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ที่มีผมต่อสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน 4.ภูมิศาสตร์ประเทศไทย (Geography of Thailand) วิชานี้เรียนเกี่ยวกับลักษณะภูมิประเทศของประเทศไทย ภาษา ภูมิอากาศของแต่ละภาค การแบ่งภาคตามลักษณะต่าง ๆ ความแตกต่างของการกระจุกตัวของประชากรในแต่ละเมือง ประชากรแฝง เป็นต้น 5.ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information Systems) วิชานี้มีการใช้โปรแกรมทางภูมิศาสตร์ เป็นโปรแกรมเกี่ยวกับการจัดการข้อมูลเชิงพื้นที่ หลัก ๆ ได้แก่ โปรแกรม ArcGIS โปรแกรม QGIS ทั้งสองโปรแกรมนี้จะได้ใช้ตลอดเวลา คนที่เรียนภูมิศาสตร์จะรู้จักกันดีครับ เพราะว่าต้องใช้ในการทำงานหลังเรียนจบด้วย ซึ่งตัวโปรแกรมทั้งสองจะมีความคล้ายกัน ผมขอไม่ลงรายละเอียดลึกนะครับ เพราะว่าต้องอธิบายเยอะมาก แต่หลัก ๆ แล้วก็คือ การนำข้อมูลมาวิเคราะห์ในโปรแกรมเพื่อหาสิ่งที่ต้องการครับ เช่น การหาพื้นที่เสี่ยงการเกิดน้ำท่วม การหาพื้นที่เหมาะสมในการทำสร้างโรงงาน การทำแผนที่การเดินทางของผู้ป่วยโควิด-19 เป็นต้น ซึ่งข้อมูลพวกนี้ก็จะมีระบบพิกัดอ้างอิงกับพื้นที่จริงด้วยครับ 6.การสำรวจระยะไกล (Remote sensing) เป็นวิชาที่เรียนเกี่ยวกับการสำรวจพื้นที่โดยใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูล โดยที่เราไม่ต้องไปสัมผัสกับสิ่งที่ต้องการตรวจวัดโดยตรง ซึ่งในการเรียนมักจะเน้นเกี่ยวกับดาวเทียมเป็นหลัก เพราะมีรายละเอียดที่ต้องทำความเข้าใจเยอะ เช่น ชนิดของดาวเทียม การนำมาใช้ประโยชน์ของภาพจากดาวเทียมแต่ละชนิด ความละเอียดของภาพจากดาวเทียมแต่ละชนิด Band เป็นต้น 7.การสำรวจ (Surveying) วิชานี้จะเรียนเกี่ยวกับการใช้เครื่องมือหรือทำความคุ้นเคยกับเครื่องมือภาพสนามต่าง ๆ ที่ใช้ทำการรังวัดเชิงพื้นที่ รวมไปถึงเทคนิคการคำนวณทางสถิติด้วยครับ ทั้งหมดนี้เป็นแค่หัวข้อในการเรียนหลัก ๆ เท่านั้น ยังมีวิชาย่อยของแต่ละหมวดอีกมาก เช่น ธรณีวิทยา ภูมิอากาศ ภูมิศาสตร์การเกษตร์ ภูมิศาสตร์เมือง ผังเมือง โลกาภิวัตน์ ภูมิศาสตร์พฤติกรรมการบริโภค ภูมิศาสตร์อาชญากรรม photogrammetry database เป็นต้น (แต่ละมหาลัยก็จะมีวิชาที่เหมือนและแตกต่างกันไปครับ)สำหรับบทความในวันนี้หวังว่าจะมีประโยชน์กับผู้อ่านไม่มากก็น้อยนะครับ หากมีข้อผิดพลาดอะไรสามารถคอมเม้นบอกกันได้นะครับ สำหรับบทความนี้ขอจบไว้เพียงเท่านี้ครับ เจอกันบทความหน้าครับ สวัสดีครับ เครดิตรูปภาพ ภาพปก : จากเว็ปไซต์ pixabay ที่อยู่รูปภาพ : ภาพปกภาพประกอบที่ 1 : จากเว็บไซต์ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่อยู่รูปภาพ : ภาพที่ 1ภาพประกอบที่ 2 : จากเว็บไซต์ USGS ที่อยู่รูปภาพ : ภาพที่ 2ภาพประกอบที่ 3 : จากเว็บไซต์ Fun research ที่อยู่รูปภาพ : ภาพที่ 3ภาพประกอบที่ 4 : จากเว็ปไซต์ chakSocial ที่อยู่รูปภาพ : ภาพที่ 4ภาพประกอบที่ 5 : จากเว็ปไซต์ สารสนเทศอีสานและจดหมายเหตุ ม.อุบลราชธานี ที่อยู่รูปภาพ : ภาพที่ 5ภาพประกอบที่ 6 : จากเว็ปไซต์ Tehrantimes ที่อยู่รูปภาพ : ภาพที่ 6ภาพประกอบที่ 7 : จากเว็ปไซต์ Studenthub ที่อยู่รูปภาพ : ภาพที่ 7