รีเซต

ตุรกี : ประธานาธิบดีชูนโยบายเศรษฐกิจแหกคอก ลดดอกเบี้ยกระตุ้นส่งออก ทำสกุลเงินอ่อนยวบ เงินเฟ้อพุ่ง

ตุรกี : ประธานาธิบดีชูนโยบายเศรษฐกิจแหกคอก ลดดอกเบี้ยกระตุ้นส่งออก ทำสกุลเงินอ่อนยวบ เงินเฟ้อพุ่ง
ข่าวสด
4 ธันวาคม 2564 ( 12:21 )
72
ตุรกี : ประธานาธิบดีชูนโยบายเศรษฐกิจแหกคอก ลดดอกเบี้ยกระตุ้นส่งออก ทำสกุลเงินอ่อนยวบ เงินเฟ้อพุ่ง

สกุลเงินของตุรกีอ่อนค่าลงแล้ว 45% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ และประธานาธิบดีเรเจป ทายยิป แอร์โดอัน ก็ดูเหมือนจะไม่รู้สึกเป็นกังวล

 

ค่าเงินลีราทำสถิติอ่อนค่าลงต่ำสุดในสัปดาห์นี้ แต่ผู้นำที่ครองอำนาจมายาวนานของตุรกีกำลังเดินหน้า "ทำสงครามเรียกร้องเอกราชทางเศรษฐกิจ" ต่อไป โดยใช้อัตราดอกเบี้ยต่ำ

 

ทำไมนายแอร์โดอันผลักดันแบบจำลองที่คนไม่เห็นด้วยจำนวนมากพากันออกมาเตือนว่า มีความเสี่ยงที่จะทำให้เงินเฟ้อพุ่งทะยานขึ้น ทำให้อัตราการว่างงานและความยากจนเพิ่มสูงขึ้น เรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อชาวตุรกีอย่างไร

E

 

นโยบายแหกคอก

เหตุผลง่าย ๆ ของการร่วงลงของค่าเงินลีราตุรกีคือนโยบายเศรษฐกิจแหกคอกของเขา ในการรักษาอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำเพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของตุรกีและเพิ่มศักยภาพในการส่งออกด้วยการใช้ค่าเงินที่ได้เปรียบในการแข่งขัน

 

สำหรับนักเศรษฐศาสตร์จำนวนมาก ถ้าเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น คุณต้องควบคุมมันด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่นายแอร์โดอันเห็นว่า อัตราดอกเบี้ยเป็น "สิ่งชั่วร้ายที่ทำให้คนรวยร่ำรวยขึ้นและคนจนยากจนลง"

 

"ทุกอย่างแพงมาก" เซเวม เยลเดเรม กล่าวกับบีบีซี ที่ตลาดผลไม้แห่งหนึ่ง "มันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำอาหารมื้อหลักให้คนในครอบครัวด้วยราคาเช่นนี้"

 

อัตราเงินเฟ้อปีนี้พุ่งไปกว่า 21% ในตุรกี แต่ธนาคารกลางของสาธารณรัฐตุรกี ซึ่งนายแอร์โดอันได้ยกเครื่องใหม่ ได้ลดอัตราดอกเบี้ยลงจาก 16% มาอยู่ที่ 15% เป็นการลดอัตราดอกเบี้ยลงครั้งที่ 3 ในปีนี้

..........................

เงินเฟ้อกำลังเพิ่มขึ้นทั่วโลก และธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ กำลังพูดถึงการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน แต่ไม่ใช่ที่ตุรกี เพราะนายแอร์โดอัน เชื่อว่า ท้ายที่สุดแล้ว เงินเฟ้อก็จะลดลงเอง

 

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เขาได้ปลดผู้ว่าการธนาคารกลางแล้ว 3 คน และในสัปดาห์นี้ เขาเพิ่งแต่งตั้งรัฐมนตรีกระทรวงการคลังคนใหม่ และค่าเงินลีราก็ยังคงอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง

......................

ราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้น

เศรษฐกิจของตุรกีพึ่งพาการนำเข้าเพื่อผลิตสินค้าหลายอย่าง ตั้งแต่อาหารไปจนถึงสิ่งทอ ดังนั้นที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินลีราจึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อราคาสินค้าอุปโภคบริโภค

 

ลองดูที่มะเขือเทศ ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของอาหารตุรกี การปลูกมะเขือเทศ ผู้ปลูกจำเป็นต้องซื้อปุ๋ยและแก๊สที่นำเข้ามา

 

หอการค้าในเมืองอันตัลยา ศูนย์กลางการเกษตรชายฝั่งทางใต้ของตุรกี ระบุว่า ราคามะเขือเทศเพิ่มขึ้น 75% ในเดือน ส.ค. เปรียบเทียบกับปีก่อนหน้า

 

"เราจะมีกำไรได้ยังไง" เกษตรกรที่ปลูกองุ่นในเมืองพามุกโควา เมืองเล็ก ๆ ที่ใช้เวลาขับรถจากนครอิสตันบูล 3 ชั่วโมง กล่าว "เราขายถูก แต่ต้นทุนแพง" เธอบ่น โดยอ้างว่า ต้นทุนสูงขึ้นจากน้ำมันดีเซล ปุ๋ยและกำมะถัน สำหรับใส่ต้นองุ่น

B

แฟริเด ทูฟาน เกษตรกรอีกคนหนึ่ง โอดครวญว่า หนทางเดียวที่เธอจะเอาตัวรอดผ่านช่วงนี้ไปด้วยคือ การขายทรัพย์สินที่มีอยู่

"เราอาจจ่ายหนี้ได้ด้วยการขายที่ดินและไร่องุ่นของเรา แต่เมื่อเราขายทุกอย่างแล้ว เราก็จะไม่มีอะไรเหลือเลย"

สกุลเงินของตุรกีมีความผันผวนมาก จนทำให้ราคาสินค้าเปลี่ยนแปลงรายวัน ดัชนีราคาสำหรับผู้ผลิตสินค้าเพิ่มขึ้น 50%

"ผมตัดลดค่าใช้จ่ายทุกอย่างลง" ฮาคาน เอย์ราน กล่าวขณะซื้อสินค้าที่ตลาดแห่งหนึ่ง "เพื่อให้มีจ่ายหนี้ต่าง ๆ ได้ ทุกคนต้องกินให้น้อยลง และไม่มีใครซื้อของ"

พนักงานซูเปอร์มาร์เก็ตได้โพสต์ภาพป้ายราคาสินค้าที่สูงขึ้นทางโซเชียลมีเดีย เปรียบเทียบป้ายราคาสินค้าใหม่และเก่าของสินค้าต่าง ๆ

 

ตั้งแต่มาการีน (ภาพบน) และน้ำมันมะกอก ไปจนถึงชา กาแฟ ผงซักฟอก และกระดาษชำระ

ร้านเบเกอรีแห่งหนึ่งในเมืองอิซเมียร์ เมืองใหญ่อันดับสามของตุรกี ได้ติดป้ายที่อธิบายถึงราคาที่สูงขึ้นด้วยการแจกแจงต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของส่วนประกอบต่าง ๆ อย่างแป้ง น้ำมันและงา พร้อมกับข้อความว่า "ขอพระเจ้าจงอยู่กับเรา"

 

.........................

หนี้สกุลเงินต่างประเทศเป็นปัญหาสำหรับภาคเอกชนและบริษัทส่วนใหญ่พบว่า การเก็บผลิตภัณฑ์ไว้ในคลังสินค้าทำกำไรได้มากกว่าการขายออกไป เพราะความผันผวนของค่าเงินลีราและเงินเฟ้อ

 

ปัญหานี้ยังซ้ำเติมความยากจนและทำให้ช่องว่างทางรายได้และความเสมอภาคทางรายได้ถ่างออกไปยิ่งขึ้น

 

คนตุรกีรุ่นใหม่ไม่พอใจ

มีคนต่อแถวยาวที่สถานีบริการน้ำมันต่าง ๆ และด้านนอกอาคารของรัฐบาลในท้องที่ที่มีการแจกขนมปังราคาถูก

พรรคการเมืองฝ่ายค้านได้เรียกร้องให้มีการจัดการเลือกตั้งใหม่ และให้คนออกมาประท้วง ตอนที่ค่าเงินลีราลดลง 18% ในวันเดียวเมื่อ 23 พ.ย. มีการประท้วงขนาดเล็กหลายแห่งและมีการจับกุมผู้ประท้วงหลายสิบคน

แต่การแสดงออกถึงความไม่พอใจที่เห็นได้ชัดที่สุดมาจากคนตุรกีรุ่นใหม่ผ่านการโพสต์ทางทวิตเตอร์ การไลฟ์สตรีมทางทวิตช์ (Twitch) คลิปวิดีโอทางติ๊กต็อก และยูทิวบ์

"ฉันไม่มีความสุขกับรัฐบาลนี้เลย ฉันไม่เห็นอนาคตของตัวเองในประเทศนี้" คนรุ่นใหม่คนหนึ่งกล่าวกับผู้สื่อข่าวทางช่องยูทิวบ์

หนึ่งในห้าของคนรุ่นใหม่ในตุรกีไม่มีงานทำ อัตราการว่างงานในผู้หญิงแย่กว่านี้

 


องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ โออีซีดี (Organisation for Economic Co-operation and Development--OECD) ระบุว่า อัตราคนรุ่นใหม่ในตุรกีที่ไม่มีงานทำ ไม่ได้เรียนหนังสือ และไม่ได้ฝึกงาน สูงเป็นอันดับ 4 ของโลก

คนรุ่นใหม่ในตุรกีเปรียบเทียบมาตรฐานความเป็นอยู่ของพวกเขากับคนรุ่นใหม่ในประเทศอื่น ๆ และรู้สึกไม่พอใจกับสิ่งที่เป็นอยู่

"สำหรับคนรุ่นใหม่ในสหรัฐฯ หรือยุโรป การซื้อไอโฟนสักเครื่องด้วยเงินเดือนเป็นเรื่องง่ายมาก" คนตุรกีอายุ 18 ปีคนหนึ่งกล่าว "ต่อให้ผมทำงานนานหลายเดือน ผมก็ไม่มีปัญญาซื้อมันได้ ไม่ควรเป็นเช่นนั้น"

คนรุ่นนี้กำลังจะมีบทบาทสำคัญในทางการเมืองในตุรกี ซึ่งพรรคยุติธรรมและการพัฒนา (Justice and Development Party) หรือ AKP ของนายแอร์โดอัน ปกครองมาตั้งแต่ปี 2002

ชาวตุรกีที่เกิดตั้งแต่ปลายยุคทศวรรษ 1990 เกือบ 9 ล้านคน จะมีสิทธิ์เลือกตั้งในการเลือกตั้งครั้งต่อไปในปี 2023 และนั่นอาจจะกลายเป็นปัญหาของพรรค AKP

คลิปวิดีโอหนึ่งที่กลายเป็นไวรัลเผยให้เห็นแม่คนหนึ่งชื่นชมประธานาธิบดีแอร์โดอันกับผู้สื่อข่าว ขณะที่ลูกชายวัย 8 ขวบของเธอ เห็นต่างไปจากเธอ โดยชี้ถึงผลงานแย่ ๆ ของเขาในการจัดการภัยพิบัติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานนี้

 

"คาดเดาไม่ได้"

ความสำเร็จของพรรครัฐบาลส่วนหนึ่งมาจากเงินสนับสนุนจากต่างประเทศที่หลั่งไหลเข้ามา หลังจากเกิดวิกฤตการเงินปี 2008

แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจของตุรกีจำนวนมากมาจากการใช้จ่ายและการกู้ยืมเงินของรัฐบาล ที่เป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง

การผลิตยังคงพึ่งพาการนำเข้าต่อเนื่องและเศรษฐกิจก็ขึ้นอยู่กับความผันผวนของสกุลเงิน

แทบไม่มีใครที่มีความหวังจากแบบจำลองทางเศรษฐกิจแบบใหม่ของนายแอร์โดอัน ที่ออกมาเพื่อช่วยกู้ค่าเงินลีรา

ท่ามกลางความไม่แน่นอน อาร์ดา ทุนจา นักเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า ไม่มีใครกล้าฟันธงว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป

"นี่เป็นครั้งแรกที่เราใช้แบบจำลองที่อยู่นอกเหนือทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์อย่างสิ้นเชิง แม้แต่ตอนที่เกิดวิกฤตต่าง ๆ เรายังคาดเดาได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่ตอนนี้คาดเดาไม่ได้เลย" เขากล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง