รีเซต

พณ.จัดติวเพิ่มยุทธวิถีเจาะตลาดจีน เน้นใช้ประโยชน์เอฟทีเออาเซียน-จีน

พณ.จัดติวเพิ่มยุทธวิถีเจาะตลาดจีน เน้นใช้ประโยชน์เอฟทีเออาเซียน-จีน
มติชน
29 กันยายน 2563 ( 14:37 )
46
พณ.จัดติวเพิ่มยุทธวิถีเจาะตลาดจีน เน้นใช้ประโยชน์เอฟทีเออาเซียน-จีน

ที่โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวในสัมมนา “1 ทศวรรษ เอฟทีเอ อาเซียน – จีน…ก้าวต่อไปของเอกชนไทยในแดนมังกร” จัดโดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ร่วมกับ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ว่า ได้มีธุรกิจส่งออกของไทยหลากหลายสาขากว่า 200 รายเข้าร่วมงาน อาทิ อาหารและเครื่องดื่ม สิ่งทอและแฟชั่น อัญมณีและเครื่องประดับ สุขภาพและความงาม ของใช้ในบ้านและของขวัญ และชิ้นส่วนยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการที่เดินทางจะไปร่วมงานมหกรรมแสดงสินค้านำเข้านานาชาติจีน ครั้งที่ 3 ณ นครเซี่ยงไฮ้ และงานแสดงสินค้าจีน-อาเซียน ครั้งที่ 17 ณ นครหนานหนิง ในเดือนพฤศจิกายนนี้

 

นางอรมน กล่าวว่า การจัดสัมมนาครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ประกอบการไทยทราบถึงโอกาสในการขยายการค้ากับจีน จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) อาเซียน-จีน ที่มีผลใช้บังคับตั้งแต่ปี 2548 นอกจากนี้ กรมได้เชิญผู้เชี่ยวชาญทั้งจากภาครัฐ นักวิชาการ และภาคเอกชน ที่มีประสบการณ์และประสบความสำเร็จในการเจาะตลาดจีนมาร่วมเสวนาในหลายประเด็น อาทิ ภาพรวมเศรษฐกิจจีนและความเปลี่ยนแปลงภายหลังโควิด-19 การเปิดตลาดและการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน–จีน กลยุทธ์การบุกตลาดออนไลน์ในจีน และกิจกรรมการส่งเสริมการส่งออกไปจีน ตลอดจนการเตรียมความพร้อมในการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในจีน

 

“ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีฉบับดังกล่าว จีนได้ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าให้ไทยแล้วกว่า 95% ของรายการสินค้าทั้งหมด เช่น ผัก ผลไม้ เม็ดพลาสติก สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม สตาร์ชมันสำปะหลัง เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และน้ำยางธรรมชาติและสังเคราะห์ เป็นต้น ส่วนไทยได้ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าให้กับสินค้าจากจีนแล้ว 89% ของรายการสินค้าทั้งหมด เช่น ผัก ผลไม้ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกล และเม็ดพลาสติก เป็นต้น ส่งผลให้การค้าสองฝ่ายเติบโตขึ้นอย่างมาก โดยมูลค่าการค้าระหว่างไทย-จีน นับตั้งแต่ก่อนมีเอฟทีเอปี 2547 จนถึงปี 2562 ขยายตัวถึง 420% สินค้าส่งออกสำคัญของไทยที่ได้ประโยชน์จาก FTA ฉบับนี้ อาทิ ผลิตภัณฑ์ยาง ทุเรียน ฝรั่ง มะม่วง มังคุด รถยนต์เอสยูวี และสตาร์ชมันสำปะหลัง” นางอรมน กล่าว

 

นางอรมน กล่าวต่อว่า ในปี 2562 การค้าระหว่างไทยกับจีน มีมูลค่า 79,440 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 16.46% ของการค้าไทยกับโลก ซึ่งจีนยังคงเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย โดยไทยส่งออกไปจีนมูลค่า 29,169.5 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง เครื่องคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์และส่วนประกอบ ขณะที่ไทยนำเข้าจากจีน 50,270.6 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เคมีภัณฑ์ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เหล็ก และเหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์

 

สำหรับช่วง 8 เดือนแรกของปี 2563 การค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 51,723.89 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 0.26% โดยไทยส่งออกไปจีน 19,625.27 ล้านเหรียญสหรัฐ และไทยนำเข้าจากจีน 32,098.63 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ ในปี 2562 การค้าระหว่างอาเซียน – จีน มีมูลค่า 641,470 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 9.1% จากปี 2561 โดยจีนยังคงเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของอาเซียนเป็นเวลา 10 ปีติดต่อกัน ขณะที่อาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของจีน เป็นครั้งแรกในปี 2563