รีเซต

เจาะปมสังหาร ประธานาธิบดีโจเวเนล โมอิส ผู้นำเฮติ

เจาะปมสังหาร ประธานาธิบดีโจเวเนล โมอิส ผู้นำเฮติ
TNN World
15 กรกฎาคม 2564 ( 09:08 )
82
เจาะปมสังหาร ประธานาธิบดีโจเวเนล โมอิส ผู้นำเฮติ

Editor’s Pick: แกะรอยปม “สังหารโหด” ประธานาธิบดีเฮติ หรือจะมาจาก “บ้าอำนาจ” 

 


ประธานาธิบดีโจเวเนล โมอิส ผู้นำเฮติ ถูกลอบสังหารอย่างโหดร้ายโดยกลุ่มชายติดอาวุธ ซึ่งบุกจู่โจมบ้านพักส่วนตัวอย่างอุกอาจในกรุงปอร์โตแปรงซ์เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคมที่ผ่านมา

 

 

 

 

เกิดอะไรขึ้น?


กลุ่มมือปืนบุกบ้านพักของประธานาธิบดีโมอิส ในเขตเปเลริน ในยามวิกาลเมื่อเวลา 01.00 น.ของวันพุธที่ 7 กรกฎาคมตามเวลาท้องถิ่น หรือตรงกับ 12.00 น.ของวันเดียวกันตามเวลาในไทย 

 


พวกเขากระหน่ำยิงประธานาธิบดี 12 นัด จมกองเลือดเสียชีวิตคาบ้าน, ศพของโมอิสอยู่ในสภาพนอนหงาย เสื้อเชิ้ตของเขาชุ่มโชกด้วยเลือดสด ๆ 

 


ที่โหดร้ายมากกว่าคือ ลูกตาด้านซ้ายของเขาทะลักออกมานอกเบ้า จากการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่, เขามีบาดแผลจากกระสุนปืนเจาะเข้าที่หน้าผากหลายนัด และอีกหลายจุดบริเวณลำตัว เสียชีวิตทันที

 


ส่วนสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง มาร์ติน โมอิส ก็ถูกกระหน่ำยิงด้วย แต่โชคดีรอดชีวิต เธอถูกส่งตัวไปรักษายังรัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา และอาการทรงตัว เปิดเผยในเวลาต่อมาว่า การโจมตีเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โจเวเนล สามีของเธอ “ไม่ได้พูดแม้แต่คำเดียว” 

 


เจ้าหน้าที่เฮติ กล่าวว่า โจมาร์ลี โมอิส ลูกสาววัยผู้ใหญ่ของทั้งคู่ หลบซ่อนตัวอยู่ในห้องนอนของพี่ชาย และไม่ได้รับบาดเจ็บใด ๆ เธอและพี่ชาย 2 คน อยู่ใน “สถานที่ปลอดภัย” แล้วตอนนี้

 

 

 


คนร้ายบุกเข้าบ้านได้อย่างไร? 


คลิปวิดีโอ ซึ่งไม่สามารถพิสูจน์ได้ แต่เชื่อว่าเป็นภาพขณะกลุ่มคนร้ายบุกเข้าไปในบ้านพักของประธานาธิบดีโมอิสที่อยู่กับครอบครัว เผยให้เห็นกลุ่มชายติดอาวุธสวมชุดสีดำ เดินทางด้วยรถยนต์อเนกประสงค์ (SUV) สีขาว

 


ดูเหมือนชายคนหนึ่งถูกบังคับให้นอนคว่ำหน้าอยู่บนถนน ขณะที่ชายอีกคนสามารถได้ยินเสียงตะโกนเป็นภาษาอังกฤษผ่านลำโพงว่า “นี่คือปฏิบัติการของ DEA (สำนักงานปราบปรามยาเสพติดสหรัฐฯ) ทุกคนมอบลง!”

 


บอซชิต เอ็ดมอนด์ เอกอัครราชทูตของเฮติ ประจำสหรัฐฯ กล่าวว่า ในขณะที่คนร้ายปลอมตัวเป็นเจ้าหน้าที่จากสำนักงานปราบปรามยาเสพติด หรือปปส.ของสหรัฐฯ เขาเชื่อว่าไม่มีทางเลยที่พวกเขาจะเป็นเจ้าหน้าที่ ปปส.จริง 

 


เจ้าหน้าที่กล่าวว่า พื้นระหว่างประตูทางเข้าจนถึงตัวบ้านพัก เกลื่อนไปด้วยปลอกกระสุน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า มีการยิงกระสุนจำนวนมาก 

 


กลุ่มมือปืนมัดเจ้าหน้าที่สองคนที่อยู่ในบ้าน ขณะที่พวกเขายังตะโกนคำว่า นี่คือปฏิบัติการของ DEA, คนร้ายบุกค้นสำนักงานของนายโมอิส และนำเอาสมุดเช็คในชื่อของเขาและภรรยา พร้อมทั้งเซิร์ฟเวอร์บันทึกภาพจากกล้องโทรทัศน์วงจรปิดจากบ้านพัก
เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยระดับสูง 2 คน ที่รับผิดชอบเรื่องความปลอดภัยของประธานาธิบดีโมอิส อยู่ระหว่างการสอบสวน และถูกเรียกตัวมาให้การในวันที่ 13 และ 14 กรกฎาคมนี้

 

 

 

กลุ่มคนร้ายหลบหนีออกจากที่เกิดเหตุอย่างไร? 


จนถึงขณะนี้ มีข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์เพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่เปิดเผยออกมาหลังการโจมตี, ผู้บัญชาการตำรวจเฮติ ประกาศประมาณ 24 ชั่วโมงหลังการสังหารนายโมอิส ซึ่งมีการยิงต่อสู้กันดุเดือดระหว่างทางในย่านเปเลรินว่า 

 


“พวกเราปิดเส้นทางหนีของผู้ต้องสงสัย ขณะที่พวกเขาหลบหนีออกจากจุดเกิดเหตุ จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็ยิงต่อสู้กับพวกเขา” ลีออน ชาร์ลส ผู้บัญชาการตำรวจ กล่าวโดยไม่ได้ระบุเวลาชัดเจน 

 


ลีออน ชาร์ลส์ กล่าวด้วยว่า เจ้าหน้าที่สามารถช่วยเหลือตำรวจ 3 นายที่ถูกคนร้ายจับเป็นตัวประกันจนได้รับอิสระ เบื้องต้น มีผู้ต้องสงสัย 4 คนถูกวิสามัญในการดวลปืนกับเจ้าหน้าที่ แต่หลังการตรวจสอบแล้ว ลดจำนวนลงมาเหลือ 3 คน 

 


ปรากฏว่ามีผู้ต้องสงสัยถึง 11 คน หลบหนีเข้าไปกบดานอยู่ในสถานทูตของไต้หวันในกรุงปอร์โตแปรงซ์ เจ้าหน้าที่ไต้หวันกล่าวว่า พวกเขาได้รับแจ้งจากตำรวจเฮติว่า มีผู้ต้องสงสัยเข้าไปหลบซ่อนตัวอยู่ในสถานทูตเช้าวันที่ 8 กรกฎาคม กว่า 24 ชั่วโมงหลังการโจมตีประธานาธิบดี

 


ไต้หวันอนุญาตให้ตำรวจเฮติเข้าไปตรวจค้นในสถานทูต และผู้ต้องหาทั้ง 11 คน ที่อยู่ภายในก็ถูกจับกุมโดยละม่อม ส่วนผู้ต้องสงสัยอีก 2 คน ที่ซ่อนตัวอยู่ในหุบเขาลึกแห่งหนึ่ง ถูกควบคุมตัวเอาไว้ได้โดยพลเรือนที่เข้าร่วมในการค้นหากับตำรวจ
ศพของมือปืนคนหนึ่งถูกพบอยู่บนหลังคาบ้านหลังหนึ่ง ซึ่งเขาตายเพราะเลือดไหลไม่หยุดขณะซ่อนตัว และผู้ต้องสงสัยอีก 2 คนถูกพบเสียชีวิตใกล้บ้านพักของประธานาธิบดี 

 

 

 

ใครคือผู้ต้องสงสัย?


ตำรวจเฮติ บอกว่า มีผู้ต้องสงสัยทั้งสิ้น  28 คน ถูกจับได้แล้ว 17 คน, ถูกวิสามัญ 3 คน และ 8 คนยังหลบหนีลอยนวล 
ผู้บัญชาการตำรวจ ชาร์ลส์ กล่าวว่า ในจำนวนผู้ต้องสงสัยทั้งหมดเป็นชาวโคลอมเบีย 26 คน 

 


และเป็นชาวอเมริกันเชื้อสายเฮติอีก 2 คน ถือสองสัญชาติคือสหรัฐฯ-เฮติ ทราบชื่อ คือนายเจมส์ โซลาเกส วัย 35 ปี และโจเซฟ วินเซนต์ วัย 55 ปี ซึ่งทั้งคู่ถูกจับเข้าคุกแล้วเรียบร้อย

 


ผู้พิพากษาที่ทำการสอบสวนคดีอุกฉกรรจ์นี้ กล่าวว่า ทั้งสองคนให้การกับเจ้าหน้าที่สอบสวนว่า ได้รับการว่าจ้างให้เป็นล่ามทางอินเตอร์เน็ต และไม่รู้มาก่อนว่า กำลังมีแผนการลอบสังหารประธานาธิบดี แต่เชื่อว่า พวกเขาทำหน้าที่เป็นล่ามขณะถูกจับ 
ทั้งนี้ ภาษาทางการของเฮติ คือ ครีโอ (Creole) และฝรั่งเศส ขณะที่ ผู้ต้องสงสัยชาวโคลอมเบีย พูดภาษาสเปน พวกเขาถูกเจ้าหน้าที่เฮตินำตัวมาโชว์ต่อหน้าสื่อ พร้อมทั้งพาสปอร์ต และอาวุธที่เจ้าหน้าที่ยึดได้

 


รัฐบาลโคลอมเบีย ยืนยันว่า ผู้ต้องสงสัยที่ถูกควบคุมตัวอย่างน้อย 6 คน เป็นอดีตทหารในกองทัพบกของโคลอมเบีย ส่วนชาวโคลอมเบียอีก 2 คน พบเสียชีวิตอยู่ใกล้บ้านพักของประธานาธิบดี เจ้าหน้าที่เฮติเปิดเผยชื่อ ฮาเวียร์ โรเมโอ เมดีนา และดูเบอร์นีย์ คาปาดอร์ กีรัลโด

 


หนังสือพิมพ์โคลอมเบีย เอล ทิเอมโป รายงานว่า ทั้งคู่เป็นอดีตจ่าสิบเอก อายุ 45 และ 40 ปีตามลำดับ

 

 


ใครคือผู้ชักใย?


ตำรวจเฮติบอกด้วยว่า พวกเขาจับกุมตัวแพทย์คนหนึ่งที่เชื่อว่าเป็นผู้ต้องสงสัยคนสำคัญในการวางแผนสังหารประธานาธิบดีโมอิส คือนายคริสเตียน เอ็มมานูเอล ซานอน สัญชาติเฮติ วัย 63 ปี บินเข้าประเทศโดยเครื่องบินส่วนตัวในช่วงต้นเดือนมิถุนายน โดยมีวัตถุประสงค์ทางการเมือง

 


ลีออน ชาร์ลส์ บอกว่า แผนการเบื้องต้นคือจับตัวนายโมอิส แต่ภารกิจต้องเปลี่ยนแปลงไปหลังจากนั้น แต่เขาก็ไม่ได้ให้เหตุผล “เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจปิดเส้นทางหนีของคนร้าย หลังก่อเหตุ คนแรกที่หนึ่งในคนร้ายโทรหา คือนายคริสเตียน เอ็มมานูเอล ซานอน เขายังได้ติดต่อกับอีก 2 คน ที่ทางเจ้าหน้าที่พิจารณาว่าเป็นผู้บ่งการลอบสังหารประธานาธิบดีโมอิส” แต่ชาร์ลส์ไม่ได้บอกว่า 2 คนนั้นเป็นใคร

 


เจ้าหน้าที่เฮติ กล่าวว่า ผู้ต้องสงสัยคนหนึ่งบอกว่า กลุ่มมือปืนเข้ามาฝังตัวอยู่ในเฮติ “3 เดือน” แล้ว แต่การตรวจสอบของหนังสือพิมพ์เอล ทิเอมโป พบว่า หลายคนเพิ่งเดินทางเข้าเฮติเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ด้วยการข้ามพรมแดนจากสาธารณรัฐโดมินิกัน ประเทศเพื่อนบ้าน 

 


จากรายงานของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ พวกเขาใช้เวลาอยู่ในโดมินิกัน 2 วัน และยังไปเที่ยวสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญอย่างน้อยหนึ่งแห่งด้วย โดยมีภาพอัพโหลดลงในโซเชียลมีเดีย เป็นภาพที่ทั้งคู่โพสท่าถ่ายที่อนุสาวรีย์ของคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส นักสำรวจชาวอิตาลี

 

 


อะไรคือแรงจูงใจในการก่อเหตุสะเทือนขวัญครั้งนี้?


เจ้าหน้าที่รัฐบาลเฮติเชื่อว่า กลุ่มชายฉกรรจ์ที่ถูกจับเหล่านี้ เป็นทหารรับจ้าง และว่าพวกเขารับค่าจ้างมาสังหารประธานาธิบดี ภารกิจสำคัญอันดับแรกของเจ้าหน้าที่ตำรวจเฮติขณะนี้ คือการค้นหา “ผู้บงการ” อยู่เบื้องหลังการลอบสังหารครั้งนี้ 

 


รักษาการนายกรัฐมนตรีคลอด โจเซฟ ของเฮติ แถลงว่า ประธานาธิบดีโมอิสงัดข้อกับผู้มีอำนาจบางคนในประเทศ และเราก็เชื่อว่าสิ่งเหล่านั้นไม่ใช่ไม่มีผลกระทบ อย่างไรก็ตาม เขาก็ไม่ได้อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับความสงสัยของเขา 

 


ไม่มีคำถามว่า นายโมอิส วัย 53 ปี ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกล้วยคนหนึ่ง ก่อนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2017 สร้างศัตรูไว้มากระหว่างการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี มีผู้วิพากษ์วิจารณ์ กล่าวหาเขาว่า ยักยอกและใช้แก๊งอันธพาลข่มขู่คุกคามฝ่ายตรงข้าม ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่เขาปฏิเสธ

 


ในปี 2018 มีการประท้วงกันทั่วประเทศเมื่อเขาพยายามที่จะขึ้นราคาเชื้อเพลิง และในช่วงต้นปีนี้ ก็เกิดความขัดแย้งกรณีเรื่องระยะเวลาวาระการดำรงตำแหน่งของเขา ทำให้ผู้มีอิทธิพลหลายคนเรียกร้องให้เขาลาออกจากตำแหน่ง 

 


ข้อเท็จจริงที่ว่า เขาบริหารประเทศโดยใช้กฤษฎีกานานปีครึ่งหลังประเทศล้มเหลวจัดการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาตามกำหนดในเดือนตุลาคม 2019 จุดชนวนให้เกิดข้อกล่าวหาว่า เขาเริ่มใช้อำนาจบาตรใหญ่ เป็นเผด็จการมากขึ้นในการปกครองประเทศ 

 


นอกจากนี้ แผนการของเขาเพื่อจัดประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญในเดือนกันยายนนี้ ก็ยิ่งเพิ่มความตึงเครียดมากขึ้นกับคนที่กล่าวหาเขาว่า ต้องการเพิ่มอำนาจในการบริหาร 

 


แต่เมื่อเขากล่าวในเดือนกุมภาพันธ์ว่า ความพยายามลอบสังหารเขาและโค่นอำนาจรัฐบาลของเขา ถูกขัดขวางเอาไว้ได้ หลายคนออกมาปฏิเสธว่า มันเป็นม่านควันเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากความไม่พอใจของประชาชนในเฮติที่กำลังเพิ่มมากขึ้น 
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า เฮติ ประเทศที่ยากจนที่สุดในทวีปอเมริกา จะอยู่กับความไร้เสถียรภาพทางการเมืองมาตลอด แต่ครั้งสุดท้ายที่ประธานาธิบดีเฮติถูกลอบสังหารขณะอยู่ในตำแหน่งเกิดขึ้นในปี 1915 หรือกว่า 100 ปีก่อน 

 


————-
เรื่อง: สันติ สร้างนอก
ภาพ: AFP

ข่าวที่เกี่ยวข้อง