รีเซต

โควิด-19 : พยาบาลชายแดนใต้ ผู้ไม่ย่อท้อกับภารกิจปราบไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

โควิด-19 : พยาบาลชายแดนใต้ ผู้ไม่ย่อท้อกับภารกิจปราบไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่
ข่าวสด
24 เมษายน 2563 ( 02:32 )
45
โควิด-19 : พยาบาลชายแดนใต้ ผู้ไม่ย่อท้อกับภารกิจปราบไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

 

โควิด-19 : พยาบาลชายแดนใต้ ผู้ไม่ย่อท้อกับภารกิจปราบไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ - BBCไทย

"ส่วนใหญ่มันเครียดมากกว่า พอมันเป็นโรคติดเชื้อ เราค่อนข้างจะกังวลว่าเราจะติดรึเปล่า" อัยดะห์ เซ็งยี พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ ประจำหอผู้ป่วยหญิง ร.พ.บันนังสตา จ.ยะลา พูดเมื่อเราถามถึงความรู้สึกของเธอในเวลานี้

ในวันที่พูดคุยกับบีซีไทย อัยดะห์ ซึ่งออกเวรแล้วยังสวมชุดป้องกันตัวที่มีผู้บริจาคให้โรงพยาบาล ส่วนวันที่เข้าเวรเธอต้องแต่งตัวเต็มยศกว่านี้ เพราะต้องสวมหน้ากากอนามัย ซ้อนทับด้วยหน้ากาก N95 แว่นป้องกันดวงตา สวมถุงมือสองชั้น ถุงเท้า กางเกงและผ้ากันเปื้อน

หากยังมีชีวิตอยู่ ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ผู้บุกเบิกด้านพยาบาลศาสตร์ยุคใหม่ จะมีอายุครบ 200 ปี ในปีนี้ เธอคงภูมิใจที่องค์การอนามัยโลกนิยาม ปี 2563 ให้เป็น "ปีแห่งการพยาบาลและผดุงครรภ์" แต่นั่นคงไม่เท่ากับที่ได้เห็นการทำงานอย่างหนักของเหล่าพยาบาลทั่วโลก รวมทั้งพยาบาลในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ในวงกว้างอย่าง จ.ยะลา ซึ่งข้อมูลวันที่ 22 เม.ย. พบผู้ป่วยสะสม 95 คน เป็นอันดับ 5 ของประเทศ

อัยดะห์ เล่าว่าทุกวันนี้พยาบาล 5 คน ที่ รพ.บันนังสตา แบ่งการทำงานกันเป็น 2 ชุด ผลัดเวรกันดูแลผู้ป่วยโรคโควิด-19 ทุกคนต้องใช้ชีวิตที่รพ.ตลอด 24 ชม. ตามรอบการทำงานที่เป็นการตกลงร่วมกันว่าทุกคนจะทำงานติดต่อกันครึ่งเดือน และพักอีกครึ่งเดือน แต่ใช่ว่าครึ่งเดือนหลังทุกคนจะได้กลับบ้านสบาย ๆ ช่วง 7 วันแรกยังต้องกักตัวในรพ.ก่อน ส่วน 7 วันหลังจึงจะกลับบ้านได้บ้าง แต่เมื่ออยู่ที่บ้านก็ยังต้องใส่ชุดป้องกันตัว ซึ่งทุกคนก็เข้าใจความจำเป็นนี้ดี

"เราเป็นเองมันไม่ได้แย่เท่ากับเราเอาเชื้อกลับไปแพร่คนที่บ้าน อันนั้นทำให้ที่บ้านเข้าใจว่าต้องแบบนี้ ไม่นั้นเราจะรู้สึกแย่กว่านี้อีกกับการที่เราเอาเชื้อไปแพร่ให้คนที่บ้าน... ถ้าไม่เป็นก็ดีไป แต่เผื่อวันหนึ่งมันเป็น"

เมื่อตัดความกังวลเรื่องครอบครัว ทุกคนจึงสามารถทุ่มเทให้กับการดูแลผู้ป่วยได้อย่างเต็มที่ ซึ่งตอนนี้มีผู้ป่วยโควิด-19 ที่นอนอยู่ใน รพ.กว่า 17 คน เป็นทั้งผู้ติดเชื้อจากการไปร่วมพิธีทางศาสนา รวมถึงคนที่เดินทางไปสนามมวยที่กรุงเทพฯ

ความเสี่ยงรอบด้าน

ย้อนกลับไปช่วงหนึ่งของการระบาด รพ.บันนังสตา ต้องปิดทำการชั่วคราว อัยดะห์เล่าว่า ขณะนั้นคนไข้ที่เข้ามารักษาปิดบังข้อมูล จนทำให้พยาบาล 3 คน และหมออีก 1 คน ต้องติดเชื้อ สร้างความหวาดกลัวให้คนทำงาน ผู้บริหารจึงสั่งให้เจ้าหน้าที่ทุกคนกักตัว และรับเฉพาะผู้ป่วยฉุกเฉินเท่านั้น ซึ่งถือเป็นมาตรการเด็ดขาดทั้งการป้องกัน และเรียกขวัญคนทำงาน ซึ่งเธอเห็นว่า "เรามาถูกทาง"

หลังจากเหตุการณ์นั้นที่นี่จึงเข้มงวดมากกับการป้องกันตนเอง และตรวจประวัติพื้นที่อาศัยของผู้ป่วย หากมาจากพื้นที่ตำบล หรืออำเภอที่มีการระบาดก็นับเป็นกลุ่มเสี่ยงทั้งหมด

แม้ยะลาจะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น แต่การรักษาระยะห่างเพื่อป้องกันตัวเองของคนในพื้นที่ยังคงน่าเป็นห่วง อัยดะห์เข้าใจดี ว่าหากยังไม่ป่วย ทุกคนจะมองสิ่งนี้เป็นเรื่องไกลตัว แต่ในฐานะคนทำงานเธออยากให้ชาวบ้าน "รอให้ทุกอย่างโควิดมันสงบนิดหนึ่ง ระบาดลดลงนิดหนึ่ง เราก็กลับมาใช้ชีวิตได้ปกติแล้วค่ะ"

คนรอบข้างไม่มั่นใจ

ห่างจากบันนังสตาไปราว 70 ก.ม. อารดา แลมีปอ รู้ดีว่าในฐานะพยาบาลวิชาชีพชำนาญการ เธอและเพื่อนร่วมงานที่ รพ.ยะรัง ต้องทำงานบนความเสี่ยง และวิธีเดียวที่จะป้องกันไม่ให้ความเสี่ยงกลายเป็นภัยอย่างแท้จริงคือการสวมใส่เครื่องป้องกันตัวเองเมื่อทำงานกับคนไข้โรคโควิด-19

ตอนนี้ อารดายังทำงานตามกะปกติคือ 8 ชั่วโมง ช่วงพัก 16 ชั่วโมง แต่หลังจากนั้นเธอต้องปฏิบัติตัวไม่ต่างจากคนไข้

"คนในครอบครัวญาติพี่น้องเขาก็กลัวเรานะเวลาเรากลับไป เขาไม่มั่นใจเรา แต่เราแสดงความมั่นใจให้เขาเห็นว่าเราเองตระหนักและปฏิบัติงานด้วยความระมัดระวัง เพราะไม่ใช่เราตัวคนเดียว เราก็มีครอบครัวที่เราเอาเชื้อไปให้เขาได้ เวลากลับบ้านเราพยายามแยกตัวเอง รักษาระยะห่าง อาจต้องมีถ้วยชามของตัวเอง เราต้องทำตัวเหมือนคนติดเชื้อคนหนึ่ง"

"คนไข้ไม่ได้ผิดที่เขาป่วย…แต่กลับถูกตีตราจากคนในชุมชน"

อารดาเคยรู้สึกวิตกกับการรับมือกับโรคโควิด-19 แต่ความเข้าใจอย่างถ่องแท้เกี่ยวกับโรคและวิธีป้องกัน ทำให้เธอคลายกังวลลงไปได้บ้าง ขณะที่คนบางส่วนยังทำเช่นนี้ไม่ได้

AFP
ชาวไทยมุสิมในจังหวัดปัตตานี รักษาระยะห่างในระหว่างการละหมาดเมื่อวันที่ 27 มี.ค.2563

"โควิดมันไม่ได้ทำร้ายแค่ปอดนะ มันทำลายสภาพจิตใจของทุกคน ทุกคนตระหนกไปหมด เจ้าหน้าที่ก็ด้วย…ตอนนี้เจ้าหน้าที่เริ่มปรับตัวได้ แต่สภาพจิตใจของคนในชุมชนหรือครอบครัวผู้ติดเชื้อนั้นยังไม่ใช่ ถ้ามีคนไข้หนึ่งคนที่ป่วยเพราะโควิด ครอบครัวนั้นจะถูกมองเป็นครอบครัวโควิดไปเลย" อารดาเล่าความรู้สึกที่คนไข้บางรายถ่ายทอดให้ฟัง

พยาบาลหญิงเห็นว่าการปรับทัศนคติของคนในระดับชุมชนเป็นสิ่งจำเป็นในห้วงเวลาที่อาจจะมีผู้ป่วยจากโรคโควิด-19 เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

"อยากให้ชุมชนให้โอกาสและเข้าใจว่าคนไข้ไม่ได้เป็นคนผิดเลย เขาไม่ผิดที่เขาป่วย บางคนเชื้อเขาก็หมดแล้วด้วยซ้ำไปแต่อาจจะต้องกักตัวที่บ้านต่ออีกสี่สัปดาห์… เป็นการเซฟตี้ให้ชุมชนและตัวคนไข้เองด้วย"

อารดาเห็นว่ามีความจำเป็นที่ชุมชนจะต้องป้องกันตัวเองไม่ให้ติดเชื้อ เพราะในรายที่มีอาการหนัก ผู้ป่วยจะอยู่ในสภาพโดดเดี่ยวอย่างแท้จริง

"บางคนไม่มีโอกาสได้เจอญาติเลย เพราะญาติที่ใกล้ชิดก็ต้องถูกกักตัวในโรงพยาบาลระดับตำบลและหมู่บ้าน คนไข้พวกนี้ (ที่ถูกส่งไปยังโรงพยาบาลใหญ่) จะโดดเดี่ยว น่าสงสาร ต้องตายคนเดียว เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนไม่อยากเจอ"

สู้ศึกสองด้าน

เมื่อโรคระบาดมาแต่เหตุการณ์ความรุนแรงยังไม่ได้หายไปในช่วงแรก ร.ต.อ.หญิง เนตรชนก นาพอ พยาบาลประจำ รพ.ยะลาสิริรัตนรักษ์ หรือที่รู้จักในนาม รพ.ตำรวจยะลาน่าจะบอกเล่าเรื่องได้ดี ด้วยปกติหน้าที่หลักของที่นี่คือการเข้าไปสนับสนุนในพื้นที่ที่มีเหตุการณ์ไม่สงบ เพื่อให้สามารถปฐมพยาบาลเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ได้ทันท่วงที ซึ่งหากอาการรุนแรงก็จำเป็นต้องลำเลียงทางอากาศไปยัง รพ.ใหญ่

AFP
เจ้าหน้าที่ยังรักษาความปลอดภัยเข้มในพื้นที่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี

เนตรชนกเล่าว่า ช่วงกลางเดือน มี.ค. ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการระบาดโรคโควิด-19 ในจังหวะนั้นหมอและพยาบาลยะลายังต้องรับมือผู้บาดเจ็บจากเหตุปะทะในช่วงเวลาเดียวกัน นับเป็นศึกสองด้านที่พวกเขาต้องเผชิญติดต่อกันกว่า 2 สัปดาห์

ตอนนั้นเมื่อมีเหตุการณ์ปะทะเนตรชนกเป็นคนหนึ่งที่ต้องออกไปปฐมพยาบาลเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ก่อนที่จะแยกคนที่เจ็บหนักส่งต่อไปยัง รพ.ศูนย์ยะลา แม้จะรู้ว่า รพ.ศูนย์ยะลาก็มีคนไข้ล้นมือ แต่ที่นั่นมีเครื่องมือแพทย์ที่พร้อมกว่า

ปัจจุบัน รพ.ยะลาสิริรัตนรักษ์ รับหน้าที่คัดกรองผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ หากรายใดเข้าข่ายโรคโควิด-19 ก็จะส่งตัวไปยัง รพ.ศูนย์ยะลา ในทางกลับกัน รพ.ยะลาสิริรัตนรักษ์รับดูแลผู้ป่วยเรื้อรังจาก รพ.ศูนย์ยะลามาดูแลแทน ซึ่งทำให้ภาระงานเพิ่มขึ้น แม้คนไข้ที่เจ็บป่วยเล็กน้อยจะลดจำนวนลงเพราะไม่ต้องการเสี่ยงเดินทางมาโรงพยาบาล

"อย่างโจรเราใช้กำลังควบคุมได้ แค่โควิดเราใช้กำลังควบคุมไม่ได้ ไม่รู้จะไปทางไหน" ไม่ว่าเหตุการณ์รุนแรงจะเกิดขึ้นบ่อยแค่ไหน แต่เนตรชนกยอมรับว่าการควบคุมโรคระบาดนั้นเป็นงานที่หนักกว่ามาก

"เหตุการณ์รุนแรงจะเกิดเฉพาะที่ แต่โควิดเราคุมไม่ได้"

แม้นูรียะห์ ดือราเม็ง จะเป็นพยาบาลวิชาชีพชำนาญการ แต่การดูแลผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่ รพ.ยะรัง ซึ่งเป็นโรงพยาบาลสนาม ใน จ.ปัตตานี เป็นอีกประสบการณ์หนึ่งที่ต่างออกไป โดยเฉพาะการดูแลคนไข้ที่มีอาการปอดบวมรุนแรง และเสียชีวิตหลังจากถูกส่งตัวจากโรงพยาบาลสนามไปยังโรงพยาบาลใหญ่

"เราต้องพัฒนาการดูแลคนไข้ให้มากขึ้น สังเกตอาการอย่างใกล้ชิด ดูออกซิเจน ดูภาวะจิตใจ และรายงานให้แพทย์ทราบเป็นระยะ เคสนี้แกจะเครียด เพราะภรรยาได้กลับบ้านก่อน แกอาจจะเสียใจ"

นูรียะห์เป็นพยาบาลมานาน18 ปี ผ่านเหตุการณ์สู้รบในพื้นที่มามาก เธอยังเห็นว่าการรับศึกไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่มีความท้าทายกว่า

"สถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจะต่างกับโควิดตรงที่ความรุนแรงจะเกิดเฉพาะกลุ่มเฉพาะพื้นที่ เขาเจาะจงทำ แต่โควิดเราไม่สามารถควบคุมได้ มันอาจจะแพร่ไปเป็นวงกว้างเราอาจควบคุมได้ไม่เต็มที่"