รีเซต

ส่องศึก 2 เมือง 'ผู้ว่าฯกทม.-นายกพัทยา'

ส่องศึก 2 เมือง 'ผู้ว่าฯกทม.-นายกพัทยา'
มติชน
5 มกราคม 2565 ( 06:51 )
145
ส่องศึก 2 เมือง 'ผู้ว่าฯกทม.-นายกพัทยา'

ก้าวเข้าสู่ปี 2565 กลิ่นเลือกตั้งโชยตั้งแต่หัวปี นั่นคือการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ชุมพร เขต 1 สงขลา เขต 6 ในวันที่ 16 มกราคม และ กทม.เขต 9 ในวันที่ 30 มกราคม

 

แถมยังคาดหมายว่า ดีไม่ดีอาจมีการเลือกตั้งทั่วไปภายในปีนี้ด้วย

 

ส่วนการเลือกตั้งท้องถิ่น เมื่อปี 2564 ที่ผ่านมาถือเป็นปีแห่งการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 10 ปี หลังการรัฐประหาร เมื่อปี 2557 และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กำหนดให้ทีมบริหารชุดเดิมและข้าราชการนั่งรักษาการบริหารงานมายาวนานกว่า 8 ปี

 

ทั้งนี้ สนามแรกที่เปิดการแข่งขันเลือกตั้ง คือ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) จัดขึ้นเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2563 มาถึงช่วงต้นปี 2564 จึงมีการเลือกตั้งนายกเทศมนตรี และสมาชิกสภาเทศบาล (ส.ท.) ทั้งระดับเทศบาลนคร เทศบาลเมือง และเทศบาลตำบล

 

จากนั้นปลายปี 2564 คือวันที่ 28 พฤศจิกายน จึงมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (ส.อบต.) และนายก อบต.เป็นสนามสุดท้ายแห่งปี

 

แต่ยังเหลือท้องถิ่นรูปแบบพิเศษอีก 2 แห่ง ที่ยังไม่มีการเลือกตั้ง คือ เมืองพัทยา และกรุงเทพมหานคร

 

สำหรับสนามกรุงเทพฯ ว่างเว้นจากการเลือกตั้งมากว่า 6 ปี หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อครั้งนั่งเป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 64/2559 เรื่อง การให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครพ้นจากตําแหน่ง และการแต่งตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2559

 

โดยให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม. พ้นจากตำแหน่ง และแต่งตั้งให้ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง รองผู้ว่าฯกทม. เป็น ผู้ว่าฯกทม.

 

หากนับจากที่มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ครั้งสุดท้าย คือเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2556 ที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.จากพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เอาชนะ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ จากพรรคเพื่อไทย (พท.) ไปด้วยคะแนน 1,256,349 ต่อ 1,077,899 คะแนน

 

ถ้าเป็นไปตามไทม์ไลน์ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ระบุว่าจะให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.อีกครั้งในช่วงกลางปี 2565 จะถือว่าเป็นเวลาเกือบ 10 ปี ที่จะได้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.อีกครั้ง

 

ขณะที่มีการเปิดตัวว่าที่ผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.กันบ้างแล้ว คนแรกสุดที่เปิดตัวคือ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ในนามอิสระ ที่ประกาศตัวชิงชัยก่อนใครเพื่อน

 

ตามมาด้วย ดร.เอ้ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ในนามพรรค ปชป. ที่เปิดตัวเมื่อปลายปี 2564 ที่ผ่านมา

 

ส่วนพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ที่มี ส.ส.ในพื้นที่ กทม. พร้อมจะเปิดตัวผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ในนามพรรค ก.ก. ในวันที่ 23 มกราคมนี้

 

นอกจากนี้ ยังมี สกลธี ภัททิยกุล ที่เก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการนั่งเป็นรองผู้ว่าฯกทม. มาเกือบ 4 ปีเต็ม พร้อมร่วมลงชิงชัยผู้ว่าฯกทม. ในนามอิสระด้วยเช่นกัน

 

การชิงชัยผู้ว่าฯกทม.ในครั้งนี้ ถือเป็นตัวชี้วัดทางการเมืองในหลายปัจจัยของพรรคการเมือง ต่อคะแนนนิยมในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พรรค พท. พรรค ก.ก.

 

ขณะที่พรรค ปชป.การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. นอกจากผล-แพ้ชนะแล้ว ยังเป็นตัวชี้วัดเรตติ้งและคะแนนนิยมของพรรค ปชป.ว่าจะฟื้นกลับมาครองใจคน กทม.ได้อีกหรือไม่ หลังที่ศึกเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 พรรค ปชป.ในพื้นที่ กทม. ต้องเจอกับสภาพสูญพันธุ์ ไม่ได้ ส.ส.แม้แต่คนเดียว

 

ส่วนการเลือกตั้งนายกเมืองพัทยา จ.ชลบุรี หลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เมืองพัทยาสมัยนั้นมี อิทธิพล คุณปลื้ม เป็นนายกเมืองพัทยา โดยบริหารงานจนถึงวันที่ 16 มิถุนายน 2559 จากนั้นวันที่ 17 มิถุนายน 2559 ชนัฐพงศ์ ศรีวิเศษ ปลัดเมืองพัทยา ต้องเข้ามาทำปฏิบัติหน้าที่แทนนายกเมืองพัทยา

 

ต่อมาเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้า คสช.มีคำสั่งแต่งตั้ง พล.ต.ต.อนันต์ เจริญชาศรี ให้ปฏิบัติหน้าที่นายกเมืองพัทยา พร้อมแต่งตั้งสรรหาข้าราชการและภาคเอกชนเป็นสมาชิกเมืองพัทยา 12 คน

 

จากนั้นวันที่ 25 กันยายน 2561 หัวหน้า คสช.ได้มีคำสั่งอีกครั้งให้ พล.ต.ต.อนันต์ เจริญชาศรี พ้นตำแหน่งนายกเมืองพัทยา และตั้ง สนธยา คุณปลื้ม เข้ามาเป็นนายกเมืองพัทยาจนปถึงปัจจุบัน


กระทั่งเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564 สภาเมืองพัทยาซึ่งมีสมาชิกสภาทั้งหมด 8 คน จาก 12 คน ปรากฏว่าได้ลาออก 4 คน ส่งผลให้เหลือสมาชิกเมืองพัทยาเพียง 4 คน เป็นจำนวนที่ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสภา คือ 6 คนตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 85/2557 ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2557 ทำให้ต้องพ้นหน้าที่ไปโดยปริยาย

 

จากนั้นคณะกรรมการสรรหาแต่งตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นจึงสรรหา และมีมติแต่งตั้งสมาชิกสภาเมืองพัทยาชุดใหม่ประกอบไปด้วยสมาชิกทั้งหมด 12 คน เข้ามาทำหน้าที่แทนชุดเดิมที่พ้นสภาพ

 

ขณะนี้ เมื่อการเลือกตั้งท้องถิ่นในระดับต่างๆ ผ่านพ้นไปแล้ว ก็ถึงคิวการเลือกตั้งเมืองพัทยา จึงเริ่มมีความเคลื่อนไหวของผู้สนใจเสนอตัวลงสนามแข่งทั้งนายกเมืองพัทยา และสมาชิกสภาเมืองพัทยา เริ่มลงพื้นที่พบปะชาวบ้าน

 

ภาพรวมยังคงเป็นผู้สมัครกลุ่มบ้านใหญ่นำโดย สนธยา คุณปลื้ม เจ้าของพื้นที่เมืองพัทยาที่ลงพื้นที่พบประชาชนและองค์กรต่างๆ มาโดยตลอด เพื่อรับฟังความคิดเห็นของชุมชน

 

อย่างไรก็ตาม มีกระแสข่าวมาเป็นระยะๆ ว่า สนธยา คุณปลื้ม อาจส่งตัวแทนลงเลือกตั้งนายกเมืองพัทยา แต่ยังเป็นเพียงกระแสข่าว

 

ขณะที่คู่แข่งอีกรายเริ่มเปิดตัว คือ นิรันดร์ วัฒนศาสตร์สาธร อดีตนายกเมืองพัทยา อดีตคนคุ้นเคยที่เคยสังกัดบ้านใหญ่ แต่เนื่องจากมีปัญหาหลายเรื่อง จึงตัดสินใจเปิดตัวแข่งขันลงสมัครนายกเมืองพัทยา ใช้ชื่อ ทีมพัทยาร่วมใจ

 

โดยดึงสมาชิกสภาเมืองพัทยาเก่าบางส่วนมาอยู่ในสังกัด และคนท้องถิ่นเตรียมฟอร์มทีมสมาชิกเมืองพัทยาทั้ง 4 เขต ชูนโยบายเป็นคนท้องถิ่น เดินออกงานมาหลายปีแบบต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน คณะก้าวหน้า ที่มี ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า และ ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ประกาศว่าจะส่งผู้สมัครเข้าแข่งขันนายกเมืองพัทยาด้วยเช่นกัน โดยอยู่ระหว่างการคัดสรรตัวบุคคล

 

นอกจากนี้ ยังมีบางกลุ่มและบางพรรคสนใจที่จะส่งคนลงสมัครชิงเก้าอี้นายกเมืองพัทยาเช่นกัน

 

ส่วนผลแพ้-ชนะจะออกมาเป็นอย่างไร แวดวงการเมืองจับตามองเขม็ง

 

ทั้งเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ชุมพร เขต 1 สงขลา เขต 6 และ กทม. เขต 9 ในเดือนมกราคม รวมถึงการเลือกผู้ว่าฯกทม.และนายกเมืองพัทยา ที่จะตามมาภายในกลางปี 2565 เพราะจะเป็นตัวชี้วัดผลคะแนนนิยมของกลุ่มอำนาจ ขั้วการเมืองและพรรคการเมือง ก่อนเดินหน้าเข้าสู่การเลือกตั้งใหญ่ ที่จะตามมา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง