การเป็นพ่อแม่ไม่ใช่เรื่องง่าย เราย่อมคาดหวังให้ลูกๆของเรามีความสามารถ รู้ถูกผิด คิดเป็น แก้ปัญหาในชีวิตและเอาตัวรอดได้ รวมทั้งเป็นคนที่ดีที่สังคมยอมรับ เพื่อเติบโตขึ้นเป็นคนที่มีชีวิตอย่างมีความสุขได้ มันย่อมมีการหล่อหลอมจากต้นแบบอย่างพ่อแม่อย่างเราอยู่แล้ว แต่มันอาจจะไม่ได้ยากเย็นขนาดนั้น หากเราเข้าใจถึงแก่นแท้ของการเป็นพ่อแม่ฉบับเหรียญทอง โดย ยึดหลักการจากหนังสือเล่มนี้ ด้วยประสบการณ์จาก Richard Templar เราจะได้เรียนรู้ว่ามันมีประเด็นใดบ้างที่เราควรให้ความใส่ใจ เรียบเรียง (แปล) โดย สมิทธิ์ เอกโชติ ความรู้ความประทับใจในมุมมองของครีเอเตอร์ 1.ไม่ว่าการมีลูกจะทำให้ความสัมพันธ์เปลี่ยนแปลงไปเกินคาดอย่างไรก็ตาม แต่พอเวลาผ่านไป 20 ปี เมื่อลูกๆ ย้ายออกไปมีครอบครัวของตัวเอง ถึงตอนนั้นเรากับคู่ครองก็ต้องมาตั้งต้นนับหนึ่งใหม่กันอยู่ดี ถ้าเราไม่มองว่าคู่ครองเป็นคนสำคัญที่สุดคนหนึ่งในชีวิตแล้ว ในวันที่ลูกบินออกจากอ้อมอก เราก็จะรู้สึกเคว้งคว้าง ไร้ที่พึ่ง จนลูกๆ ต้องมานั่งลำบากใจ เพราะไม่สามารถย้ายออกไปไหนได้ ด้วยกลัวว่าพ่อกับแม่จะอยู่กันเองไม่ได้ (พ่อแม่ที่ดีต้องมีหน้าที่ทำให้ลูกรู้ว่าคุณทั้งคู่รักกันแน่นแฟ้นมากถึงมากที่สุด ลูกจะได้ออกไปใช้ชีวิตอย่างอิสระและมีความสุข ไม่ห่วงหน้าพะวงหลังจนพลาดโอกาสลงหลักปักฐานให้กับตัวเองและครอบครัว 2.คนเป็นพ่อแม่ต้องรู้จักผ่อนหนักผ่อนเบาให้ดีในทุกเรื่อง ทัศนคติบางอย่างของพ่อแม่ก็อาจจะถูก แต่บางอย่างก็อาจจะผิดได้ ไม่มีอะไรตายตัว ถูกหรือผิดบางครั้งก็ขึ้นกับสถานการณ์และกาลเทศะ พ่อแม่จึงต้องปรับทัศนคติของตัวเองให้พอเหมาะพอดีกับโลกของเด็กอยู่ตลอดเวลา อะไรที่สุดโต่งเกินไปก็จะผิดในตัวของมันเองอยู่แล้ว 3.พ่อแม่บางคนเคยบอกว่า กลัวลูกจะเหลิง เลยทำเป็นหมางเมินไม่ใส่ใจเวลาเห็นหน้าพวกเขา และปฏิบัติต่อพวกเขาราวกับเป็นเฟอร์นิเจอร์ในบ้าน การมองไม่เห็นหัวเด็กแบบนี้ถือว่าแย่มาก ผมว่าแย่พอๆ กับการหาเรื่องดุด่าเด็กนั่นละ 4.ผู้ใหญ่ชอบสั่งเด็กให้ทำโน่นทำนี่ แต่ใช้ถ้อยคำหรือน้ำเสียงที่ไม่ไพเราะ แล้วแบบนี้จะให้เด็กโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีมารยาทดีได้อย่างไร ถ้าเด็กไม่เคยเห็นคุณพูดดีๆ เด็กก็จะไม่รู้ว่าการพูดดีๆ ต้องใช้ถ้อยคำแบบไหน ถึงแม้ลูกจะเป็นลูกของคุณ เป็นเด็กตัวเล็กๆ แต่เขาก็สมควรได้รับเกียรติ ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่า พวกเขาก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งเหมือนเราและเหนืออื่นใด ตัวคุณจะไม่มีวันได้รับเกียรติกลับมา ถ้าคุณไม่แสดงการให้เกียรติเพื่อเป็นตัวอย่างกับลูกก่อน 5.พ่อแม่ที่ใช้อารมณ์บังคับลูก จะทำให้ลูกเกิดความเครียดอยู่ในจิตลึก ที่แน่ๆคือ คุณกำลังชี้นำให้เด็กๆ เห็นชัดว่าคุณเอาอารมณ์ของตัวเองเป็นใหญ่ ไม่สนใจความรู้สึก คิดถึงแต่ตัวเอง ถ้าพ่อแม่ทำตัวอย่างที่ไม่ดีให้ลูกเห็น ก็อย่าแปลกใจถ้าลูกจะมีนิสัยแย่ๆ ตามไปด้วย แล้วคนที่ต้องรับผลกรรมในบั้นปลายหนักกว่าใครก็คือคุณนั่นเอง คนเป็นพ่อแม่ต้องหาวิธีพูดกับลูกโดยไม่ใช้อารมณ์มาข่มขู่บีบบังคับ ต้องชี้ให้ลูกเห็นว่าการกระทำของเขาส่งผลให้คนอื่นเดือดร้อนอย่างไร แต่อย่าไปพูดบีบอารมณ์ให้ลูกรู้สึกผิดว่า "ทำไมต้องมาขอให้เล่นฟุตบอลเป็นเพื่อนตอนเหนื่อยๆ แบบนั้นนะ" แต่ควรจะพูดกับลูกว่า "ขอโทษนะลูก วันนี้ไม่ไหวจริงๆ เหนื่อยมากเลย ขอติดไว้เป็นวันพรุ่งนี้ก็แล้วกัน" 6.ถ้าลูกของคุณอายุจะครบ 18 อยู่รอมร่อ แต่ยังขาดทักษะในการใช้ชีวิต หรือเอาตัวรอดจากอุปสรรคปัญหา ไม่สามารถตัดสินใจเรื่องง่ายๆ ได้ด้วยตัวเอง เก็บกวาด พับผ้าห่มไม่เป็น หรือไม่กล้าไปไหนคนเดียว ก็แสดงว่าคุณสอบตกหน้าที่สำคัญของการเป็นพ่อแม่... พ่อแม่ต้องหัดให้ลูกที่อายุ 10 ขวบขึ้นไปทำอาหารง่ายๆ กินเองได้ เช่น ปิ้งขนมปัง ต้มไข่ เจียวไข่ หรือทำอาหารเช้าอื่นๆในไมโครเวฟ และถ้าจะให้ดี ก็ต้องรู้จักซักผ้า ตื่นเช้ามาเสาร์อาทิตย์ไม่ต้องปลุก รวมทั้งความรู้ด้านการบริหารจัดการเงิน และความสามารถในการตัดสินใจด้วยตัวเอง" 7.เด็กที่เข้าสังคมกลุ่มเพื่อนแล้วออกอาการเงอะงะ ตื่นสนาม ไม่มั่นใจว่าจะวางตัวแบบไหนดี มักจะมาจากครอบครัวที่พ่อแม่เลี้ยงแบบขี้กลัว ไม่เคยให้ลูกได้ลองอะไรใหม่ๆ เลย วิธีหนึ่งที่จะฝึกให้เด็กมีความมั่นใจในตัวเองก็คือ ต้องไม่สร้างความกลัวล่วงหน้าให้กับเด็ก หากคุณยื่นแก้วน้ำส่งให้เด็ก แล้วสำทับว่า “เอาแก้วน้ำไปวางบนโต๊ะให้ด้วย ถือดีๆ อย่าให้หกนะ” เด็กก็จะเกร็งจนน้ำในแก้วหกออกมาจริงๆ แต่ถ้าคุณยื่นแก้วให้แล้วพูดแค่ว่า “ช่วยเอาแก้วน้ำไปวางบนโต๊ะให้หน่อยจ้ะ” เด็กจะทำน้ำหกน้อยกว่าหรือไม่หกเลย การพูดสิ่งที่จะเกิดขึ้นล่วงหน้าในทางลบทำให้เด็กฝ่อ เพราะเด็กจะไปจดจ่ออยู่กับความผิดพลาดอย่างเดียว 8.จากการทำงานในระบบองค์กร เราทุกคนรู้ดีว่าเป้าหมายที่ชัดเจนทำให้ทุกคนสบายใจ เพราะคุณจะรู้ว่าหัวหน้าคาดหวังอะไรจากคุณ และยังรู้สึกอีกด้วยว่าหัวหน้าใส่ใจกับความสามารถของเรา ถ้าเข้าใจแล้วก็อย่าบอกลูกๆ แค่ว่า “ล้างกรงกระต่ายบ่อยๆ สิ” หรือ “ปัดกวาดห้องให้สะอาดหน่อย” หรือไม่ก็ “อย่าขลุกอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์นานๆ” 9.หากพ่อแม่จะตำหนิลูก ก็ต้องตำหนิที่ตัวพฤติกรรม ไม่ใช่ที่ตัวลูก เช่น “การทำแบบนี้เป็นการเห็นแก่ตัวเกินไป” หรือ “การพูดขัดจังหวะถือว่าเป็นการเสียมารยาท” คำพูดลักษณะนี้ไม่ได้เป็นการตราหน้าลูก เป็นแค่การตำหนิพฤติกรรมเท่านั้น ถ้าคุณอยากจะพูดหรืออยากจะระบายอะไรเกี่ยวกับตัวเด็ก ก็อย่าไปพูดต่อหน้าเขา ให้แน่ใจว่าเด็กจะไม่ได้ยิน 10.สิ่งสำคัญไม่ใช่การขอโทษ แต่คือการไม่ทำแบบนี้อีก” พ่อแม่ก็พูดถูกอยู่หรอก แต่ที่ไม่ถูกคือ ไม่ถูกเวลา ทำให้ลูกรู้สึกจมปลักอยู่กับกองทุกข์ พ่อแม่สามารถตำหนิลูกได้อยู่แล้ว แต่ต้องใช้คำพูดที่ทำให้ลูกรับรู้ได้ว่าคุณยังรักพวกเขาอยู่ ไม่เสียแรงเปล่าที่เข้าไปขอโทษและตั้งใจกลับเนื้อกลับตัวเป็นเด็กดี คุณมีสิทธิ์โกรธลูกที่ช่างหาเรื่องกวนใจไม่หยุด แต่พอเถียงกันจบแล้ว คุณก็ต้องมีบทสรุปที่แสดงให้เห็นว่าคุณอภัยพวกเขา 11.เด็กที่ถูกสั่งห้ามแสดงความรู้สึก จะมีอารมณ์ติดค้างคาใจเพราะไม่สามารถกำจัดความรู้สึกนั้นออกไปได้ ในที่สุดก็เกิดปัญหาด้านสุขภาพกายและ สุขภาพจิต ที่แย่ไปกว่านั้นก็คือเขาจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่พูดไม่เป็นว่าตัวเองรู้สึกอย่างไร ซึ่งส่งผลเสียในการสร้างมนุษยสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้าง คนที่โตมาแบบไม่เคยเถียงอะไรกับใคร อาจไม่รู้ว่าการเถียงคือการแสดงความเห็นอย่างหนึ่ง ซึ่งพอเถียงเสร็จก็ไม่จำเป็นต้องโกรธกัน คนเหล่านี้จึงไม่กล้าเถียงแม้แต่กับคู่ครอง เพราะกลัวว่าถ้าเถียงแล้วต้องเลิกกัน ปัญหาต่างๆจึงถูกหมักหมม ความรู้สึกถูกเก็บกดก็มีมากขึ้นเรื่อยๆสุดท้ายผลเสียจึงตกกับตัวเองทั้งสิ้น 12.ควรให้เด็กๆ ได้ร้องไห้ออกมาบ้าง ผู้ใหญ่อย่างเราๆก็เหมือนกัน หากสมเหตุสมผลก็ไม่จำเป็นต้องเก็บกด มีพ่อแม่บางรายเท่านั้นที่ตั้งกฏว่าห้ามลูกร้องไห้อย่างเด็ดขาด “อย่าทำตัวเป็นเด็กเล็กๆ สิลูก”หรือ “ลูกทำเหมือนกับว่าอะไรๆ มันจะแย่ไปหมด” เด็กต้องรู้สึกแย่มากๆ ไม่อย่างนั้นคงไม่ร้องไห้ขนาดนี้ 13.บุคลิกลักษณะของเด็กที่ทำใจให้รักได้ยากที่สุดคือ บุคลิกลักษณะที่ชวนให้นึกถึงคู่ครองคนเก่าของเรา ถ้าคุณเคยผ่านการหย่าร้างหรือแยกกันอยู่ พอคุณเห็นหน้าลูกทีไรก็พาลจะนึกถึงหน้าคู่ครองเก่าให้เสียความรู้สึกอยู่ร่ำไป แต่ถึงอย่างไรลูกก็คือลูก คุณต้องทำใจรักแง่มุมนี้ของเขาให้ได้ ต่อให้คุณเกลียดคู่ครองคนเก่าขนาดไหนก็ตาม 14.ไม่ต้องทุกข์ร้อนใจว่าลูกคนสุดท้องที่ต้องยอมพี่ๆ ตลอดเวลาจะด้อยทักษะการเอาตัวรอด เพราะเขาอาจได้ทักษะด้านอื่นที่ดีเด่นไม่แพ้ใคร อย่างทักษะด้านการเจรจาต่อรอง การเป็นผู้รอมชอมที่จัดสรรผลประโยชน์ให้ทุกคนพึงพอใจได้เป็นอย่างดี 15.การที่ลูกๆ มีนิสัยต่างกันสุดขั้ว คนหนึ่งก็ชอบเข้าสังคม ส่วนอีกคนก็รักสันโดษโลกส่วนตัวสูง ชอบอยู่เงียบๆ คนเดียว เล่นคนเดียว ไม่ต้องกังวล ถ้าตราบใดที่พวกเขายังอยู่ในบ้านเดียวกัน มีสภาพแวดล้อมเดียวกัน ธรรมชาติของการเอาตัวรอดจะจัดสรรให้เกิดปฏิสัมพันธ์ที่ลงตัว เป็นส่วนผสมที่อยู่ตรงกลางพอดี ลูกคนที่รักสันโดษก็จะรู้จักเข้าสังคม และพูดคุยกับคนอื่นมากขึ้น ส่วนคนที่ชอบสังสรรค์สมาคม ก็จะรู้วิธีอยู่กับตัวเองได้โดยไม่เหงา ไม่มีอะไรเลวร้าย ขอแค่อย่าเข้าไปก้าวก่ายหากยังไม่ถึงเวลาสมควร 16.วิธีไม่ให้ลูกของเราถูกรังแก - มีกำลังใจมั่นคง มั่นใจในตัวเอง - แต่งตัวดี เนื้อตัวสะอาดสะอ้าน หวีผมเรียบร้อย เล็บตัดสั้นไม่ดำ - ไม่อ้วนหรือผอมเกินไป ถ้าวางตัวดี ลูกก็มีชัยไปกว่าครึ่ง สำคัญที่สุดคือ ต้องสอนให้ลูกรู้ถึงความสำคัญของการกล้าสบตาคนแบบที่ไม่ใช่การข่มขู่หรือมองหน้าหาเรื่อง แล้วจะรู้ว่าทุกอย่างที่สอนลูกไป ช่วยป้องกันไม่ให้คนอื่นมารังแกได้ 17.ทำไมลูกถึงถูกรังแก คำตอบก็คือ การทำตัวแตกต่างไปจากเพื่อนๆ นักวิจัยพบว่ามีเด็กๆ กว่า 75 เปอร์เซ็นต์ที่รู้สึกเสียใจเพราะถูกล้อเลียนหรือถูกรังแก เนื่องจากบุคลิกลักษณะ จากข้อมูลที่พบ เด็ก 1 ใน 5 ใช้วิธีแก้ปัญหาโดยการไม่ไปโรงเรียน หนีเรียน แกล้งป่วยอยู่บ้านเพื่อหนีหน้าเพื่อน จะได้ไม่ถูกล้อเลียนเรื่องรูปร่างหน้าตา 18.เรื่องความเด่นความด้อยนี่พ่อแม่ต้องพูดอย่างระมัดระวัง แม้ลูกแต่ละคนจะมีอะไรไม่เท่ากันจริงๆ แต่คุณสามารถพูดให้ลูกรู้สึกดีได้ว่าเขามีความพิเศษโดดเด่นเฉพาะตัว เช่น “ลูกมีหัวศิลปะมาก” แต่ห้ามบอกว่า “ลูกมีหัวศิลปะมากกว่าน้องเยอะเลย” การพูดชมในแบบที่ไม่ได้เป็นการเปรียบเทียบว่าใครดีกว่าใคร จะทำให้ลูกไม่อิจฉากัน และไม่มีใครรู้สึกว่าด้อย 19.ก่อนอื่นพ่อแม่ต้องเข้าใจว่า ลูกๆ พร้อมจะเชื่อฟังคำพูดของคุณอยู่แล้ว แต่ไม่เท่าการกระทำของคุณ เด็ก ๆ จะตัดสินคุณจากการกระทำ การกระทำจึงมีพลังมากกว่าคำพูด ถ้าคุณอยากให้เด็กเชื่อฟัง คุณต้องทำให้เขาเห็นเป็นตัวอย่างก่อน 20."มีพ่อแม่บางประเภทที่สร้างความสับสนให้กับลูก โดยบอกลูกหน้าตาเฉยว่า "ทำตามที่ฉันพูด ไม่ใช่ทำตามที่ฉันทำ" ถ้าขนาดตัวคุณยังทำไม่ได้ ก็อย่าไปคาดหวังเกณฑ์เอากับเด็กเลย เชื่อว่ากฎทั้งหมดภายในเล่มยังไม่สามารถรับประกันได้ว่าจะทำให้ลูกสมบูรณ์พร้อม แม้แต่ครอบครัวที่อบอุ่นยังมีลูกที่เสียคนได้ แสดงว่ามันมีปัจจัยอื่นนอกเหนือการควบคุมของพ่อแม่ แต่ถ้าหากเราทำการเตรียมพร้อมไว้ก่อนบ้าง โอกาสที่ลูกจะเป็นเช่นนั้นก็จะน้อยลง สำคัญคือลูกจะดูเราในฐานะพ่อแม่เป็นแบบอย่างอยู่แล้ว มันทำให้ลูกเป็นไปเองตามตัวอย่างโดยที่พ่อแม่อย่างเราไม่ต้องสอน เครดิตภาพ ภาพปก โดย jcomp จาก freepik.com ภาพที่ 1 และ 2 โดยผู้เขียน ภาพที่ 3 โดย jcomp จาก freepik.com ภาพที่ 4 โดย jcomp จาก freepik.com บทความอื่นๆที่น่าสนใจ รีวิวหนังสือ THE RULES OF PEOPLE ครองใจคนได้ง่ายนิดเดียว รีวิวหนังสือ The LAST LECTURE เดอะลาสต์เลกเชอร์ รีวิวหนังสือ MANIFEST DIVE DEEPER ดำดิ่งลึกซึ้ง ไปให้ถึงทุกปรารถนา รีวิวหนังสือ Four Thounsand Weeks : Time Management for Mortals ชีวิตเรามีแค่สี่พันสัปดาห์ เปิดประสบการณ์ความบันเทิงที่หลากหลายสุดปัง บน App TrueID โหลดเลย ฟรี !