ปัจจุบัน หลายประเทศทั่วโลกต่างมีหอชมเมือง เพราะถือว่าเป็นแลนด์มาร์คสำคัญของประเทศ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นหอเอนปิซา อิตาลี, หอไอเฟล ฝรั่งเศส, โตเกียวสกายทรี ของญี่ปุ่น, ตึกไทเป 101 ของไต้หวัน, มารีนาเบย์ แซนด์ ของสิงคโปร์, หอคอยเอ็นโซล ของเกาหลีใต้ และตึกเปโตรนาส ของมาเลเซีย แต่ทันทีที่ประเทศไทยจะดำเนินการก่อสร้างหอชมเมืองเช่นเดียวกันกับนานาประเทศ กลับเกิดกระแสวิจารณ์ทั้งที่หอชมเมืองกรุงเทพมหานคร ก่อสร้างโดยมูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นองค์กรเอกชน เป็นโครงการตามนโยบายรัฐบาลภายใต้ปรัชญาแห่งศาสตร์พระราชา อันเกิดจากความร่วมมือในรูปแบบแนวทางประชารัฐ การก่อสร้างหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร ไม่ได้ใช้งบประมาณภาครัฐหรือเอื้อประโยชน์แก่ใคร หากแต่เป็นการสร้างสัญลักษณ์และแลนด์มาร์คแห่งใหม่ใจกลางกรุงเทพมหานครในอนาคต จุดก่อสร้างหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร หรือ The Unity Tower อยู่บนที่ดินราชพัสดุ ภายในเจริญนครซอย 7 เขตคลองสาน ซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ มีเส้นทางการเดินทางที่ครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นรถประจำทาง เรือข้ามฟาก หรือรถไฟฟ้า รวมถึงเป็นย่านของที่พักอาศัยในรูปแบบของคอนโด และโรงแรมริมแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้มีการสร้างงานสร้างอาชีพ ส่งเสริมกิจการขนาดกลางและขนาดย่อมที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวที่ส่งผลเกื้อหนุนต่อการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจภายในประเทศ การก่อสร้างหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร จะเป็นความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชน ด้วยอาคารที่มีความสูง 459 เมตร มีจำนวน 24 ชั้น ด้วยงบประมาณเงินลงทุน 4,621 ล้านบาท โดยมีแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินและความร่วมมือจากบริษัทเอกชนชั้นนำของประเทศไทย ร่วมเป็นผู้ก่อสร้างและสนับสนุนโครงการหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร นอกจากหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร จะเป็นจุดแลนด์มาร์คแห่งใหม่ที่สูงและยิ่งใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ แล้ว จะเห็นได้ว่าจุดแลนด์มาร์คแห่งใหม่แห่งนี้ยังจะสามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์รอบโค้งแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งฝั่งพระนครและฝั่งธนได้อีกด้วย รวมถึงการได้ชมวิวเมืองแบบ 360 องศา ซึ่งถือได้ว่าหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร จะเป็นหอชมเมืองที่สูงที่สุดในประเทศไทย ซึ่งหลังจากโครงการก่อสร้างหอชมเมืองกรุงเทพมหานครสร้างแล้วเสร็จ นอกจากจะเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ แล้ว สถานที่แห่งนี้ยังจะเป็นสถานที่ที่สะท้อนอัตลักษณ์ที่มีคุณค่าทางจิตใจ และสร้างภาพลักษณ์ให้กับกรุงเทพฯ ได้เป็นอย่างดี เสียงสะท้อนจากคนในชุมชนกับการสร้างหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร ชุมชนที่อยู่ภายในเจริญนคร ซอย 7 แห่งนี้คือ “ชุมชนมัสยิดสุวรรณภูมิ” เป็นชุมชนมุสลิมแบบเก่าแก่และดั้งเดิม อายุมากกว่า 150 ปี แต่อยู่ท่ามกลางความเจริญในย่านเจริญนคร คนในชุมชนนี้มีทั้งชาวพุทธและอิสลาม เดิมทีเป็นผู้มี “เชื้อสายจาม” จากจังหวัดตราด และเป็นชาวมุสลิมจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อาชีพดั้งเดิมของคนในชุมชนคือทหารเรือ หรือนักประดาน้ำที่ช่วยกู้ซากเรืออัปปาง กับการสร้างหอชมเมืองฯ คนในชุมชนมีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยแบ่งเป็นผู้ที่เห็นชอบด้วย 80% และผู้ที่ไม่เห็นชอบด้วย 20% สำหรับผู้ที่เห็นด้วยนั้นได้ให้เหตุผลไว้ว่า การที่จะมีหอชมเมืองฯ ในอนาคตเป็นเรื่องที่ดี เป็นการเปิดประตูให้กับนักท่องเที่ยวได้รู้จักและเข้ามาเรียนรู้ศึกษาประวัติความเป็นมาของชุมชน และนำมาซึ่งรายได้ต่อชุมชนด้วยการขายอาหารในท้องถิ่นซึ่งเป็นอาหารฮาลาลที่อร่อย หากินได้ยาก ชาวบ้านสามารถเปิดร้านกาแฟในบริเวณหน้าบ้านตนเอง โดยไม่ต้องออกไปหางานทำข้างนอก ที่สำคัญ จะไม่มีการไล่ที่อย่างแน่นอน ดูได้จาก Icon Siam ห้างใหญ่ที่อยู่ข้างๆ เจริญนครซอย 7 ที่เพิ่งเปิดตัวได้ไม่นานนี้ ได้ทำการผูกมิตรไมตรีอันดีต่อคนในชุมชน ด้วยการสร้างงานสร้างอาชีพให้กับลูกหลาน โดยเปิดโอกาสให้เข้าไปทำงานในห้าง โดยมีการจัดโซน “ธนบุรีดีไลท์” เพื่อให้ชาวบ้านนำของดีของเด่นของชุมชนไปขาย เป็นการสร้างรายได้อย่างยั่งยืน ในส่วน 20% ของผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการสร้างหอชมเมืองฯ นั้นเป็นเพราะว่ากลัวโดนไล่ที่ เนื่องจากบ้านที่อยู่ใกล้บริเวณจุดก่อสร้างนั้นเป็นสลัม ซึ่งอาจทำให้เสียภาพลักษณ์ต่อการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม แม้ชาวบ้านจะไม่ได้ต่อต้านการพัฒนาเมือง แต่ชาวบ้านก็ไม่รู้จะย้ายไปอยู่ที่ไหน เนื่องจากอาศัยอยู่ที่นี่มาตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่และทำมาหากินอยู่ภายในชุมชนแห่งนี้มาเป็นเวลานานแล้ว แต่อย่างไรก็ดี คนในชุมชนก็ยังมีความหวังว่า หากต้องมีการย้ายบ้านออกไปจากชุมชนจริงๆ ทางหอชมเมืองฯ ควรจะมีการจัดเตรียมหาที่พักอาศัยหลังใหม่ให้กับชาวบ้านที่ไม่มีโฉนดที่ดินเป็นของตนเอง เมื่อความศิวิไลซ์ต่างมารวมตัวกันอยู่ ณ ตรงจุดนี้ บ้านพักอาศัยที่เก่าชำรุดทรุดโทรมตรงบริเวณใกล้จุดก่อสร้าง จึงมีความเป็นไปได้ว่าจะต้องถูกรื้อทิ้งไปอย่างแน่นอน เพราะฉะนั้น การพัฒนาเมืองที่ดีจึงต้องมาพร้อมกับการรักษาอัตลักษณ์ดั้งเดิมของชุมชนเอาไว้ โดยไม่ให้ชาวบ้านในชุมชนนั้นได้รับความเดือดร้อนในภายหลัง ปล.ทุกภาพในรีวิวนี้ถ่ายโดย เอ๋จัง ลากแตะ (ผู้เขียน)