รีเซต

ช้างป่าเขตฯ สลักพระ ล้มแล้ว หลังทีมสัตวแพทย์เฝ้ารักษาแผลเน่า เพื่อยื้อชีวิตนานร่วม 7 วัน

ช้างป่าเขตฯ สลักพระ ล้มแล้ว หลังทีมสัตวแพทย์เฝ้ารักษาแผลเน่า เพื่อยื้อชีวิตนานร่วม 7 วัน
มติชน
21 สิงหาคม 2565 ( 12:28 )
59
ช้างป่าเขตฯ สลักพระ ล้มแล้ว หลังทีมสัตวแพทย์เฝ้ารักษาแผลเน่า เพื่อยื้อชีวิตนานร่วม 7 วัน

ความคืบหน้ากรณีเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ พบช้างปาเพศผู้อายุ 2-3 ปี เดินอยู่ภายในสวนยางพาราของชาวบ้าน ท้องที่ หมู่ 1 ต.ด่านแม่แฉลบ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี โดยช้างป่าได้รับบาดเจ็บเป็นแผลเน่าเปื่อยขนาดใหญ่ที่บริเวณโคนหาง หลังจากที่ นายอนันต์ โพธิ์พันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) ได้รับรายงาน จึงมอบหมายให้ นายสิขกพงษ์ กระแจะจันทร์ ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สบอ.3 (บ้านโป่ง) นายไพฑูรย์ อินทรบุตร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ พร้อมด้วย สพ.ญ.ลักษณา ประสิทธิชัย นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ สพ.ญ.กนกวรรณ ตรุยานนท์ นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ สพ.ญ.ณฐนน ปานเพ็ชร นายสัตวแพทย์ปฏิบัติการ สบอ.3 (บ้านโป่ง) รวมทั้งทีมสัตวแพทย์ประจำเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวากและศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก จ.สุพรรณบุรี เข้าทำการรักษาช้างป่าตัวดังกล่าวมาตั้งแต่วันที่ 15 ส.ค.ที่ผ่านมา

 

 

โดยวานนี้ (20 ส.ค.65) ทีมสัตวแพทย์ได้ทำการยิงยาลดปวด ลดอักเสบ ยาฆ่าเชื้อเพิ่มเติม ร่วมกับยากินรักษา และทำการล้างแผลและพ่นยารักษาแผลภายนอก โดยยากินที่ใช้รักษา ได้แก่ ยาลดปวด ลดอักเสบ วิตามิน โปรตีนรวม วิตามินซี น้ำผึ้ง และเกลือแร่ ซึ่งช้างป่ากินกล้วยสุกได้แต่น้อยกว่าปกติ และยังไม่กินหญ้า กินน้ำได้ ขับถ่ายได้แต่มีลักษณะนิ่ม เยื่อเมือกในช่องปากมีสีค่อนข้างซีด สำหรับขาหลังซ้ายยังคงบวมมาก ยังยกขาเดินได้ แต่จากการประเมินอาการในภาพรวมของทีมสัตวแพทย์ พบว่า ช้างป่ายังอยู่ในสภาวะที่น่าเป็นห่วงอย่างมากทั้งในเรื่องของสภาพแผล สภาวะการติดเชื้อ สภาวะเลือดจาง และขาหลังซ้ายที่บวมอักเสบ ซึ่งต้องเฝ้าติดตามและรักษาในพื้นที่อย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด

 

ล่าสุดเมื่อเวลา 09.30 น. วันนี้ 21 ส.ค.65 นายไพฑูรย์ อินทรบุตร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ พร้อมทีมสัตวแพทย์ สัตวบาล สอส.สบอ.3 (บ้านโป่ง) สัตวแพทย์ประจำเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวากและศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก ได้เฝ้าระวังและทำการรักษาช้างป่า ตัวดังกล่าวอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่วันที่ 15 ส.ค.จนถึงปัจจุบัน

 

 

แต่ปรากฏว่าเมื่อช่วงเช้ามืดที่ผ่านมา ช้างป่าตัวดังกล่าวได้ล้ม (เสียชีวิต) ลงแล้ว สร้างความเสียใจให้กับเจ้าหน้าที่ทุกคนเป็นอย่างมาก โดยคณะสัตวแพทย์จะเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อและส่วนที่สำคัญของช้างไปทำการพิสูจน์เพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริงอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ช้างป่าเสียชีวิตลง เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระได้นิมนต์พระสงฆ์มาสวดบังสุกุลตามความเชื่อ ก่อนที่จะทำลายซากด้วยวิธีฝังตามหลักวิชาการต่อไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง