พีเน็ต พบ ทุจริต เลือกตั้ง อบจ.หลายพื้นที่ พบแจกเงินเยอะสุด
มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (P-NET) ออกแถลงการณ์เปิดเผยผลการจับตาทุจริตเลือกตั้ง องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ผ่านเครือข่ายทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคมระบุว่า
มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (P-NET) จับตาทุจริตเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ผ่านเครือข่ายทั่วประเทศ ที่อุทิศเป็นพลเมืองอาสา โดยไร้การสนับสนุนจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่ละเว้นหน้าที่ในการสนับสนุนส่งเสริมให้องค์กรเอกชนตรวจสอบการเลือกตั้ง
แม้จะเป็นอุปสรรคทำให้ไม่สามารถตรวจสอบการเลือกตั้งได้อย่างเต็มพื้นที่ ด้วยข้อจำกัดในการตรวจสอบการเลือกตั้ง พีเน็ตยังพบว่ามีการทุจริตในหลายพื้นที่
จากรายงานการรับแจ้งเหตุทางอีเล็กทรอนิกส์ เกี่ยวกับการทุจริตการเลือกตั้ง ที่รายงานเข้ามาในช่วงวันที่ 18 -20 ธันวาคม 2563 พบว่า มีจำนวน 29 ราย จาก 18 จังหวัด ทั่วทุกภาค คือ สมุทรปราการ นครนายก นครราชสีมา พิษณุโลก กำแพงเพชร เชียงใหม่ นครปฐม นครสวรรค์ บุรีรัมย์ พระนครศรีอยุธยา พะเยา ระยอง สงขลา สระบุรี สระแก้ว สุราษฎร์ธานี สุรินทร์ อุบลราชธานี
เหตุการณ์ส่วนใหญ่ เกิดขึ้นในวันที่ 19 ธันวาคม 2563 ในช่วงเวลา 16.00-19.00 น.ที่เป็นเรื่องการแจกเงินซื้อเสียง 28 ราย กำนันผู้ใหญ่บ้าน วางตัวไม่เป็นกลาง 7 ราย การสัญญาว่าจะให้ 4 ราย และ ข้าราชการวางตัวไม่เป็นกลาง 3 ราย จำนวนเงินที่ใช้ในการซื้อเสียง มีตั้งแต่ 50 บาท จนถึง 500 บาท โดย ร้อยละ 25.9 ระบุว่ามีการซื้อเสียง 500 บาท รองลงมา ร้อยละ 18.5 ระบุว่ามีเงินซื้อเสียง 100 และ 200 บาท และ ร้อยละ 17.9 ระบุว่ามีเงินซื้อเสียง 300 บาท
พฤติกรรมอื่นที่ระบุ เช่น มีการระบุว่ามีการแจกเงินทั้งหมู่บ้าน 1 ราย มีหัวคะแนน ควบคุม ข่มขู่ ผู้มาใช้สิทธิ 5 ราย มีการขนคนมาใช้สิทธิ 2 ราย กรรมการประจำหน่วยวางตัวไม่เป็นกลาง 1 ราย และให้ลงคะแนนโดยไม่ตรวจบัตรประชาชน 1 ราย มีการจัดเลี้ยงโต๊ะจีนและเลือกหัวคะแนนและเลือกบ้านไปทาน พร้อมขอให้เลือกหมายเลขของตน
ผู้แจ้งเหตุยังได้ส่งภาพหลักฐานและคลิปวีดิโอมาให้ และมีจำนวนหนึ่งพร้อมให้การเป็นพยานในกรณีที่ กกต.สามารถรับรองเรื่องการรักษาความลับและรับประกันความปลอดภัย
การเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้ มีความสำคัญที่จะมีส่วนช่วยทำให้ท้องถิ่นใช้อำนาจตัดสินใจจัดการตนเองได้อย่างแท้จริง หากการเลือกตั้งเป็นไปอย่างสุจริต เที่ยงธรรม
แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายว่า กกต.ไม่ให้ความสำคัญกับความพยายามที่จะทำให้การเลือกตั้งสุจริต เที่ยงธรรม ทั้งที่มีกลไก งบประมาณ อีกทั้ง ผู้ตรวจการเลือกตั้ง ที่ไม่ทราบว่ามีผลงานจับผิดทุจริตอะไรบ้าง กกต. จึงไม่สามารถจัดการการทุจริต เอาผิดผู้ทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง
มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย(พีเน็ต) ยังได้ร่วมกับภาคีไม่ว่าจะเป็น สภาองค์กรชุมชน สถาบันการศึกษา จัดกิจกรรมเพื่อช่วยผลักดันพัฒนาคุณภาพการเลือกตั้งท้องถิ่น ด้วยการขับเคลื่อนให้การเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นโอกาสที่ชุมชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งมีพื้นที่นำเสนอนโยบายที่ต้องการต่อผู้สมัคร
ด้วยหวังว่าจะเป็นส่วนช่วยให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งไปใช้สิทธิ์ ใช้เสียงอย่างมีคุณค่า ก้าวพ้นอิทธิพลของการซื้อเสียง จากการใช้อำนาจหรือเงินตรา
สำหรับการเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะมาถึง ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้ง อบต. เทศบาล กรุงเทพฯ พัทยา มูลนิธิองค์กรกลาง ฯ ขอเรียกร้อง กกต. ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมขององค์การเอกชน ประชาสังคม สภาองค์กรชุมชนในการตรวจสอบการเลือกตั้งเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างมีคุณภาพ สุจริต เที่ยงธรรม และรณรงค์สร้างการเรียนรู้ให้การใช้สิทธิ์ใช้เสียงเป็นไปเพื่อคุณค่าในอธิปไตยของประชาชนอย่างแท้จริง
แถลงไว้ ณ วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2563