รีเซต

สปสช.จี้ สพฉ.ออกเกณฑ์โควิดกลุ่มเหลืองก่อนเริ่ม! ยูเซ็ป พลัส 16 มี.ค. ถก รพ.เอกชนรับบัตรทอง

สปสช.จี้ สพฉ.ออกเกณฑ์โควิดกลุ่มเหลืองก่อนเริ่ม! ยูเซ็ป พลัส 16 มี.ค. ถก รพ.เอกชนรับบัตรทอง
มติชน
13 มีนาคม 2565 ( 13:56 )
87
สปสช.จี้ สพฉ.ออกเกณฑ์โควิดกลุ่มเหลืองก่อนเริ่ม! ยูเซ็ป พลัส 16 มี.ค. ถก รพ.เอกชนรับบัตรทอง

ข่าววันนี้ ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบหลักเกณฑ์การกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต กรณีโรคติดเชื้อโควิด-19 โดยให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2565 เป็นต้นไป ซึ่งผู้ติดเชื้อที่อาการไม่รุนแรง หรือกลุ่มสีเขียว จะไม่นับเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต แต่สามารถเข้ารับการรักษาฟรีในโรงพยาบาล (รพ.) ตามสิทธิของแต่ละคน เช่น สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประกันสังคม หรือสิทธิรักษาพยาบาลข้าราชการ และแนะนำให้การดูแลแบบ Home Isolation (HI) หรือ Community Isolation (CI) หรือ Hotel Isolationขณะที่ ผู้ป่วยติดโควิด-19 ที่แพทย์วินิจฉัยว่าเข้าเกณฑ์วิกฤตฉุกเฉิน ตามเกณฑ์ที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้กำหนดแนวทางและเกณฑ์ประเมินคัดแยกระดับความฉุกเฉินไว้แล้ว คือ กลุ่มผู้ป่วยสีเหลือง และ สีแดง ให้สามารถเข้ารับการรักษาใน รพ.ได้ทุกแห่ง โดยไม่กำหนดระยะเวลา 72 ชั่วโมงแรก โดยสิทธิการปรับปรุงนี้เรียกว่า ยูเซ็ป พลัส (UCEP Plus)

 

ล่าสุด เมื่อวันที่ 13 มีนาคม นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงการเปลี่ยนผ่านระบบบริการจากยูเซ็ป โควิด-19 (UCEP Covid-19) มาเป็นยูเซ็ป พลัส โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 16 มีนาคมนี้ เป็นต้นไป ว่า สำหรับคำว่ายูเซ็ป พลัส หมายความว่า ผู้ป่วยที่มีความฉุกเฉิน ในส่วนของโควิด-19 ก็จะเป็นกลุ่มสีเหลือง และสีแดง รวมถึงกลุ่มสีเขียวที่อาการมากขึ้น ให้สามารถเข้ารับบริการในหน่วยบริการเอกชนนอกระบบได้ ดังนั้น กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) และ สพฉ.จะต้องออกกติกาว่า ผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มดังกล่าวที่เป็นกลุ่มวิกฤตฉุกเฉินมีลักษณะอาการอย่างไรบ้าง

 

“ซึ่งกลุ่มสีแดง เราเคยมีกติกาเดิมอยู่แล้ว แต่ที่ยังไม่ชัดเจนคือ กลุ่มสีเหลือง โดยหน่วยงานรับผิดชอบคือ สพฉ.ที่ต้องออกกติกามา เพื่อไม่ให้หน่วยบริการเอกชนนอกระบบเกิดความสับสนว่า ลักษณะใดจึงสามารถรับเข้ายูเซ็ป พลัส ได้ หากวิธีการยังไม่มา วิธีแก้คือ หน่วยบริการเอกชนนอกระบบต้องใช้วิจารณญาณของเขา แล้วไปตกลงกับกองทุนต่างๆ เช่น ประกันสังคม หรือ สปสช. แต่ทางกองทุนก็ไม่ใช่คนออกกติกาเอง ดังนั้น เราต้องรอ สพฉ.ให้ออกหลักเกณฑ์สีเหลืองมา แต่เท่าที่เห็นจากเอกสารเบื้องต้น ภาวะสีเหลืองจะไม่วิกฤตเท่าแดง หลักง่ายๆ เช่น ลงปอด มีอาการปอดอักเสบ หรือเป็นผู้ป่วยกลุ่ม 608 กลุ่มที่มีโรคร่วม ซึ่งเราต้องรอ สพฉ.ออกกติกาสีเหลือง และสีแดง มา เพราะตรงนี้จะไม่เหมือนยูเซ็ปโรคอื่นที่จะเอาเฉพาะกลุ่มสีแดง” นพ.จเด็จ กล่าว

 

นพ.จเด็จ กล่าวว่า มีคำถามว่า กลุ่มสีเขียวจะเป็นอย่างไร หลังวันที่ 16 มีนาคมที่ผ่านมา ที่จะมียูเซ็ป พลัส   ต้องเรียนว่า หากไม่มีอาการหรืออาการน้อย แล้วเข้าหน่วยบริการเอกชนนอกระบบ ต้องการให้รักษาเหมือนที่ผ่านมา ไม่สามารถทำได้แล้ว เพราะไม่ใช่กรณีฉุกเฉิน แบบนี้จะต้องจ่ายเงินเอง แต่อย่างไรแล้ว สปสช.กำลังหารือกับหน่วยบริการเอกชนนอกระบบ เพื่อดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินในกลุ่มเขียว ที่ไม่ได้อยู่ในยูเซ็ป เช่น ไข้สูง 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป ไอมาก เริ่มเหนื่อยหอบ อาการที่ไม่ถึงสีเหลือง ก็สามารถใช้บริการในหน่วยบริการนอกระบบบัตรทองได้ ซึ่งตอนนี้เรากำลังไปตกลงกันอยู่

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในครั้งการแถลงข่าวที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เมื่อวันที่ 9 มีนาคมที่ผ่านมา นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการ สพฉ. ได้อธิบายหลักเกณฑ์การประเมินคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ว่า สำหรับยูเซ็ป พลัส หากมีอาการรุนแรงกลุ่มสีเหลือง สีแดง โดยนิยาม คือ ผู้ป่วยตรวจ ATK ผลเป็นบวก หรือ RT-PCR ผลติดเชื้อ ร่วมกับมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้


1.หัวใจหยุดเต้น มีสิ่งอุดกั้นทางเดินหายใจ หายใจลำบากเฉียบพลัน มีภาวะช็อก มีภาวะโคม่า มีอาการซึมลง เมื่อเทียบกับระดับความรู้สึกตัวเดิมหรือกำลังชักเมื่อแรกรับที่จุดคัดแยก

 

2.มีอาการไข้สูงกว่า 39 องศาฯ นานกว่า 24 ชั่วโมง หรือ หายใจเร็วกว่า 25 ครั้งต่อนาที ในผู้ใหญ่ หรือ Oxygen Saturation แรกรับ Room Air น้อยกว่าร้อยละ 94 หรือ 39 องศาฯ โรคประจำตัวที่มีการเปลี่ยนแปลง หรือจำเป็นต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิด ตามดุลยพินิจของแพทย์ หรือ ในเด็ก หากมีอาการหายใจลำบาก ซึมลง ดื่มนม หรือรับประทานอาหารน้อยลง หรือ Exercise-induced hypoxia in COVID-19 patients: มีการลดลง Oxygen Saturation Room Air มากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 3 หรือ ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงตามดุลยพินิจของผู้คัดแยก

 

3.มีอาการเหนื่อยหอบ หายใจเร็ว มีปัจจัยเสี่ยงอาการรุนแรงหรือโรคร่วม เช่น อายุมากกว่า 60 ปี โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคปอดเรื้อรังอื่นๆ ไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหัวใจแต่กำเนิด โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวานที่คุมไม่ได้ ภาวะอ้วน น้ำหนักเกิน 90 กิโลกรัม หญิงตั้งครรภ์ ตับแข็ง ภูมิคุ้มกันต่ำ และเม็ดเลือดขาวน้อยกว่า 1,000 เซลล์ต่อไมโครลิตร อื่นๆ หรือ ตามดุลยพินิจของผู้คัดแยกขั้นตอนรับบริการ อาจจะโทรศัพท์แจ้ง 1669 และนำส่ง รพ.เอกชน ก็จะประเมินอาการเจ็บปวดและรักษาเบื้องต้น รพ.ก็จะแจ้งมา สพฉ.ผ่านโปรแกรม PA เพื่อกรอกอาการ

 

หากเข้าตามเกณฑ์ดังกล่าวก็สามารถใช้สิทธิได้เลย กรณีไม่เข้าเกณฑ์ เช่น เป็นอาการระดับสีเขียวก็จะใช้ไม่ได้ เว้นแต่รักษาแล้วมีอาการแย่ลงเป็นเหลืองหรือแดงก็จะเข้าสู่เงื่อนไขได้ หลังจากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการรักษา ทั้งนี้ สพฉ.ได้เตรียมศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิ ผู้ป่วยวิกฤต หากมีข้อติดขัดสงสัยการใช้สิทธิ หรือไปเข้าสู่สถานพยาบาลแล้วไม่ได้รับสิทธิทั้งที่ประเมินตัวเองแล้วควรได้รับสิทธิ ก็สามารถแจ้งมาที่ศูนย์ได้เพื่อให้คำแนะนำชี้แนะ สามารถโทรฯ 0 2872 1669 รวมถึงสถานพยาบาลเอกชนที่ให้บริการกว่า 300 กว่าแห่งสามารถใช้หมายเลขดังกล่าวประสานงานกับ สพฉ.ในการกรอกข้อมูล หรือสอบถามข้อติดขัดต่างๆ ได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง