เลื่อนเปิดเทอม : เด็กในสหราชอาณาจักรเรียนอย่างไรช่วงล็อกดาวน์

ข่าวเรื่องโรงเรียนเลื่อนเปิดเทอมจาก 16 พ.ค.เป็น 1 ก.ค. ทำพ่อแม่ที่เมืองไทยบางส่วนกังวลหลายเรื่องตั้งแต่กลัวลูกติดโรคโควิด-19 ไปจนถึงเรียนไม่ทันตามหลักสูตร พ่อแม่คนไหนที่อยู่ในข่ายนี้ คุณมีเพื่อนแชร์ความรู้สึกเดียวกันทั่วโลก
ที่สหราชอาณาซึ่งยังไม่ชัดเจนว่าโรงเรียนจะปิดไปถึงเมื่อไหร่ เด็ก ๆ ไม่ได้ไปโรงเรียนมาเดือนกว่าแล้ว ตั้งแต่รัฐบาลประกาศสั่งปิดเมื่อวันที่ 20 มี.ค. ก่อนวันหยุดในเทศกาลอีสเตอร์
ช่วงแรกของการล็อกดาวน์เพื่อคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หลายครอบครัวอาจเกิดความรู้สึกแปลกใหม่ มีการส่งต่อภาพขำ ๆ ที่พ่อแม่ลูกได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันทุกวันและแทบจะตลอดเวลาทางโซเชียลมีเดีย แต่ตอนนี้หลายครอบครัวชัก "ไม่หนุก" ที่โรงเรียนยังไม่มีทีท่าว่าจะกลับมาเปิดสอนตามปกติเสียที เด็ก ๆ เริ่มคิดถึงเพื่อน
ส่วนพ่อแม่รู้สึกถึงภาระอันหนักอึ้งที่เพิ่มขึ้นมานอกเหนือจากการทำงานประจำวัน ที่เปลี่ยนจากออฟฟิศมาทำที่บ้าน ความโกลาหลจึงเป็นสิ่งที่หลายครอบครัวเผชิญ จากเดิมที่อาจมีเพียงความวุ่นวายเล็ก ๆ ช่วงก่อนเด็กไปโรงเรียนตอนเช้า พอส่งลูกออกจากบ้านความสงบก็กลับคืนมา แต่ตอนนี้กลายเป็นความยุ่งเหยิงตลอดวันสามเวลา
- ไวรัสโคโรนา : เมื่อการเรียนการสอนต้องดำเนินต่อไป ห้องเรียนออนไลน์คือคำตอบ ?
- “มีเกรดดี-โต๊ะเขียนหนังสือ-พ่อแม่ตั้งความหวังสูง” ช่วยผลักดันเด็กให้อยากเรียนต่อมหาวิทยาลัย
หลังประกาศหยุดเรียน โรงเรียนรัฐบาลในสหราชอาณาจักรส่วนใหญ่ให้การบ้านเด็กเพียงพอสำหรับทำในช่วงวันหยุดอีสเตอร์ จากนั้นให้เรียนทางออนไลน์ ส่วนโรงเรียนเอกชนสอนทางออนไลน์ตามตารางสอนปกติและมีการบ้านให้ทุกวัน
รัฐบาลตั้งความหวังกับพ่อแม่ที่ลูกเรียนโรงเรียนรัฐ ให้ทำหน้าที่ "ครูจำเป็น" และได้จัดบทเรียนทางออนไลน์ 180 บทเรียนต่อสัปดาห์ ให้เด็กตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงชั้นปีที่ 10 (มัธยมศึกษาปีที่ 4 ตามหลักสูตรไทย) ได้เรียนที่บ้าน เด็กชั้นปีที่ 10 คือกลุ่มที่จะต้องสอบวัดผลรายวิชา GCSE (General Certificates of Secondary Education) ในปีการศึกษาถัดไป แต่จากการสำรวจของ Sutton Trust องค์กรที่ทำงานส่งเสริมความความสำเร็จและเท่าเทียมทางสังคมของคนทุกระดับชั้นพบว่ามีพ่อแม่เพียง 42% ที่รู้สึกมั่นใจว่าสามารถสอนหนังสือลูกเองที่บ้านได้
หากมองทางฝั่งโรงเรียนเอกชน จะพบว่าครูส่วนใหญ่เลือกใช้แอปพลิเคชั่นที่มีในท้องตลาดอย่าง ซูม (Zoom) กูเกิลคลาสรูม คาฮูท (Kahoot) และอื่น ๆ เป็นสื่อการสอนโดยที่ครูยังต้องเตรียมบทเรียนล่วงหน้า คาฮูทอ้างทางหน้าเว็บไซต์ว่าเด็ก ๆ จะเรียนอย่างสนุกสนาน มีส่วนร่วมในชั้นเรียนและเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ
แต่ถึงอย่างนั้นเด็กนักเรียนโรงเรียนที่พ่อแม่ต้องจ่ายค่าเล่าเรียนสูง บางคนบอกว่าการเรียนออนไลน์เทียบไม่ได้กับการเรียนในชั้นเรียน เพราะการมีส่วนร่วมทำได้ไม่เต็มที่ "ระบบเสียงไม่ค่อยดี หากจะถามหรือตอบคำถามครู ก็ต้องแย่งพูดกับเพื่อนอีกหลายคน ถ้าจะส่งข้อความไปถามข้อสงสัย กว่าครูจะเห็นก็หลังจบวิชาไปแล้ว" ที่สำคัญความคิดถึงเพื่อนทำให้รู้สึกว่าการบ้านที่ได้รับมีมากเกินจริง แต่การเรียนทางออนไลน์ตามตารางสอนปกติช่วยให้ช่วงเวลาล็อกดาวน์ผ่านไปได้โดยไม่น่าเบื่อเกินไป
รัฐบาลจัดหาแล็ปท็อป และ 4G
ยังไงก็ตามเด็กในโรงเรียนที่พ่อแม่ต้องควักกระเป๋าเหล่านี้เป็นกลุ่มที่มีโอกาสเข้าถึงอินเทอร์เน็ต มีแล็ปท็อป พรินเตอร์ใช้ที่บ้าน ตรงข้ามกับโรงเรียนมัธยมฯ เรียนฟรีของรัฐบาลหลายแห่งในต่างจังหวัดที่เด็กเกินครึ่งหนึ่งยังไม่มีแล็ปท็อปใช้
การปิดเรียนในช่วงที่โควิด-19 ระบาดจึงสะท้อนภาพความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลในสหราชอาณาจักรอย่างชัดเจน ผลสำรวจของ Sutton Trust ยังพบด้วยว่าเด็กในสหราชอาณาจักรถึง 2 ใน 3 ไม่ได้เข้าชั้นเรียนทางออนไลน์
ตอนนี้กระทรวงศึกษาธิการอังกฤษกำลังแก้ปัญหาเดียวกับไทยในเรื่องความพร้อมของการเรียนทางออนไลน์ รัฐบาลที่นี่ก็รับปากจะจัดหาแล็ปท็อปให้เด็กนักเรียนชั้นปีที่ 10 ที่ต้องพึ่งพิงโครงการอาหารกลางวันที่โรงเรียน แต่นั่นก็ไม่ได้แก้ปัญหาทั้งหมด เพราะเด็กบางส่วนยังไม่มีบรอดแบรนด์ใช้ที่บ้าน หนทางเดียวในการเชื่อมต่อกับโลกอินเทอร์เน็ตคือจากโทรศัพท์มือถือที่บางครอบครัวก็มีเพียงเครื่องเดียว การดูวิดีโอการเรียนทางออนไลน์เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ ดังนั้นอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตระบบ 4G (router) จึงอยู่ในบัญชีอุปกรณ์ที่รัฐจัดให้ด้วย เช่นเดียวกับโต๊ะเขียนหนังสือ
"สอน ๆ ไปลูกทำหน้างง ๆ เราก็ต้องกูเกิลเอา"
กรรณิการ์ ฮัมเฟรย์ คุณแม่ลูกสามชาวไทย ในกรุงลอนดอน เชื่อว่าหากที่บ้านไม่มีแล็ปท็อปและอินเทอร์เน็ต เธอคงไม่สามารถทำหน้าที่ "ครูจำเป็น" สอนหนังสือลูกคนกลางวัย 8 ขวบ ซึ่งเรียนชั้นปีที่ 3 และลูกคนเล็กที่เรียนชั้นอนุบาลได้ ส่วนลูกชายคนโตวัย 16 ปีที่กำลังเรียนอยู่ชั้นปีที่ 11 (ม.5) นั้น เรียนหนังสือด้วยตัวเอง และทำการบ้านในแต่ละสัปดาห์ตามที่ครูกำหนดไว้ให้ อินเทอร์เน็ตยังช่วยให้พ่อแม่สื่อสารเรื่องการบ้านของลูกกันได้ในกลุ่มวอทส์แอพ
ตั้งแต่อังกฤษเริ่มล็อกดาวน์ ชีวิตประจำวันของกรรณิการ์ซึ่งย้ายมาอยู่อังกฤษตั้งแต่ปี 2006 คือสอนหนังสือลูกคนกลางและคนเล็ก ทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ โดยเฉพาะลูกคนกลางต้องเข้าชั้นเรียนทางออนไลน์ทางเว็บไซต์ที่ครูประจำชั้นกำหนดให้ตามตารางสอนตั้งแต่ 9 โมงเช้า และไปเลิกเรียนอีกทีช่วงบ่าย 3 โมงครึ่ง
เมื่อโรงเรียน "ออนไลน์" เลิกแล้ว แม่คนเดิมที่สวมบท "แม่พิมพ์ของชาติ" ในยามนี้ ต้องพรินท์การบ้านและดูแลลูกให้ทำเสร็จทุกวัน ก่อนส่งให้ครูดูทางออนไลน์ตามกำหนด วิชาหลัก ๆ คือภาษาอังกฤษและคณิตศาสตร์ การบ้านของลูกกลายเป็นความท้าทายรายวัน
"ถามว่าลำบากไหม ก็พอจะทำได้ แต่ให้ทำไปเรื่อย ๆ ก็เริ่มจะคิดถึงโรงเรียนมาก และรู้ว่าคนเป็นครูต้องใช้ความพยายามมากแค่ไหนกว่าจะทำให้เด็กคนหนึ่งเข้าใจ บางครั้งเราถามลูกว่าเข้าใจไหม ลูกก็ทำหน้างง ๆ เราเรียนมาเป็นภาษาไทย แต่ต้องสอนลูกที่พูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก อย่างสอนเศษส่วน เราบอกลูกว่าเลขข้างบนเรียกว่านัมเบอร์อัพ ส่วนข้างล่างเรียกว่านัมเบอร์ดาวน์ เราไม่รู้ว่ามันมีชื่อเฉพาะให้เรียกว่า numerator กับ denominator มันจึงเป็นความลำบากทั้งในเรื่องภาษาที่เราลืมไปแล้ว และไม่ได้เรียนมาด้วย" ทางออกจึงเป็นการ "กูเกิลเอา มีอะไรที่สงสัยก็กูเกิล แล้วค่อยมาสอนลูก"
แม้จะจบการศึกษาจากสถาบันราชภัฎสวนดุสิตเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน แต่กรรณิการ์บอกว่าความรู้อัน "เลือนราง" ของเธอไม่เป็นประโยชน์กับการเรียนของลูกคนโตวัย 16 ปีเอาเสียเลย
การเคี่ยวเข็ญลูกเพิ่มความตึงเครียดในช่วงล็อกดาวน์ที่บ้าน
ลูกชายและลูกสาวของไปรยดา อูร์บาร์นี เรียนอยู่ชั้นปีที่ 7 และปีที่ 4 ที่โรงเรียนคาทอลิกของรัฐบาลอังกฤษ ในกรุงลอนดอน โดยปกติเธอติดต่อสื่อสารกับผู้ปกครองและครูในชั้นเรียนของลูกคนโตผ่านแอปพลิเคชัน Show my homework และขณะนี้แอปฯ นี้คือเครื่องมือสื่อสารในเรื่องการเรียนและการบ้านที่ต้องทำและส่งกลับทุกวัน
ไปรยดารู้สึกว่าลูกคนโตอายุ 12 ปี สามารถเรียนได้ด้วยตัวเอง จึงไม่เป็นภาระมากนัก แต่ลูกคนเล็กยังต้อง "เคี่ยวเข็ญ" ให้เรียนหนังสือและทำการบ้านที่ครูจะส่งมาให้ครั้งละสองสัปดาห์
ทุก ๆ เช้าเธอต้องเปิดวิดีโอคลิปที่ครูสื่อสารกับเด็ก ๆ เป็นเวลา 3 นาที แจ้งบทเรียนประจำวันซึ่งจะมี 6-7 วิชา เนื้อหาส่วนใหญ่จะเป็นการทบทวนสิ่งที่ได้เรียนไปแล้วในวิชาคณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และอื่น ๆ แต่หากมีบทเรียนใหม่ ครูก็จะอธิบายเพิ่มเติมในวิดีโอ ทุก ๆ วันลูกจะมีการบ้านวิชาละ 1 หน้า และกำหนดให้ต้องอ่านหนังสือวันละ 20 นาที
"ลูกคนเล็กนี่ต้องเคี่ยวเข็ญให้ทำการบ้าน เพราะชอบเหม่อลอย ถ้าเรียนที่โรงเรียนจะมีแรงกดดันให้ต้องตั้งใจเรียน…อย่างการบ้านที่ครูให้อ่านหนังสือ ก็กลายเป็นว่ากว่าจะอ่านคือก่อนเข้านอน" ไปรยดาเล่า
ไปรยดาซื้อหนังสือคู่มือการสอนหนังสือลูกที่บ้านมาช่วย แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังรู้สึกถึงภาระที่เพิ่มขึ้น
"อยากให้ลูกกลับไปโรงเรียนเพราะการสอนเองกลายเป็นภาระ ทำให้ความสัมพันธ์กับลูกตึงเครียด แทนที่จะอยู่บ้านอย่างมีความสุข กลายเป็นต้องมาเคี่ยวเข็ญ ลูกเองก็อยากกลับไปเจอเพื่อน อีกอย่างเราไม่แน่ใจเลยว่าลูกต้องเรียนถึงไหนกันแน่ และหากต้องสอนเองไปเรื่อย ๆ อย่างวิชาภาษาอังกฤษ ตอนนี้ยังง่าย ๆ แต่ถ้ายากขึ้นกว่านี้มากจะทำอย่างไร เพราะเราไม่ใช่คนอังกฤษ"
เดวิด แอดเทนบะระ และคนดังหลากวงการร่วมสอนทางเว็บไซต์บีบีซี
ตั้งแต่วันหยุดช่วงอีสเตอร์สิ้นสุดลง บรรษัทกระจายเสียงแห่งชาติของอังกฤษ (บีบีซี) ได้เริ่มเผยแพร่บทเรียนทางออนไลน์ตามหลักสูตรการเรียนของเด็กในทุกระดับอายุ กับมีเนื้อหาวิชาหลัก ๆ ที่เสนอในรูปแบบวิดีโอ พอดคาสต์ และบทความ ทาง BBC Bitesize Daily ที่เข้าดูได้ทางเว็บไซต์ของบีบีซี ต่อเนื่องนาน 14 สัปดาห์ เป็นบริการทางการศึกษาครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์นับตั้งแต่มีการก่อตั้งบีบีซีมา
บีบีซียังเชิญบุคคลผู้มีชื่อเสียงมาร่วมผลิตสื่อการสอน เช่น เซอร์เดวิด แอดเทนบะระ นักธรรมชาติวิทยาผู้โด่งดัง ได้ช่วยสอนวิชาภูมิศาสตร์ในวันนี้ (27 มี.ค.) โดยหัวข้อที่เขาพูดถึงมีทั้งเรื่องราวเกี่ยวกับมหาสมุทร และเรื่องราวเกี่ยวกับโลก
คนมีชื่อเสียงอีกหลายคน เช่น ศ.ไบรอัน คอกซ์ นักฟิสิกส์ จะสอนวิชาเรื่องราวเกี่ยวกับแรงโน้มถ่วงและระบบสุริยะ เซอร์คิโอ อะเกวโร่ นักฟุตบอลทีมแมนเชสเตอร์ซิตี้ จะสอนเด็ก ๆ นับเลขในภาษาสเปน และเลียม เพย์น นักร้องนำวงวัน ไดเร็กชั่น ได้ร่วมสอนบทเรียนทางออนไลน์กับบีบีซีด้วย
การเรียนทางไกลเป็นสิ่งท้าทาย และผู้ใหญ่หลายคนก็เคยถอดใจมาแล้ว ความเป็นห่วงของพ่อแม่เรื่องผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของลูกจากความไม่พร้อมในหลาย ๆ ด้าน และเรื่องปวดหัวที่เกิดขึ้นทุกวันขณะล็อกดาวน์จึงไม่ใช่เรื่องเกินจริงเลย