รีเซต

NT เปิด “ราชบุรีโมเดล” ทดลองให้บริการหลังควบรวม แคท-ทีโอที เล็งขยายผลทั่วประเทศ มั่นใจแข่งให้บริการเอกชนได้

NT เปิด “ราชบุรีโมเดล” ทดลองให้บริการหลังควบรวม แคท-ทีโอที เล็งขยายผลทั่วประเทศ มั่นใจแข่งให้บริการเอกชนได้
มติชน
23 พฤศจิกายน 2564 ( 16:00 )
42

นายปิยะ รัชตวรคุณ  ผู้จัดการงานฝ่ายขายและปฏิบัติการลูกค้า เขตตะวันตก บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT เปิดเผยว่า NT ได้เปิดโปรเจกต์ “ราชบุรีโมเดล” เพื่อผสานเน็ตเวิร์กของ 2 บริษัทเดิม คือบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (แคท) ที่ควบรวมเป็น NT โดยนำจุดแข็งของบรอดแบนด์ของทั้ง 2 บริษัทมาให้บริการแก่ลูกค้า NT ในจังหวัดราชบุรี จึงได้ส่งทีมวิศวกรและไอทีลงพื้นที่เพื่อบูรณาการระบบสื่อสัญญาณและการบริการ สร้างความเชื่อมั่นแก่ชาวราชบุรีในการใช้บริการของ NT

 

“จากการที่ NT มีความพร้อมทั้งด้านทรัพยากรบุคคลและเครือข่ายที่มาจาก CAT และ TOT และด้วยจังหวัดราชบุรีอยู่ใกล้พื้นที่กรุงเทพฯ การบริหารจัดการจึงเป็นเรื่องง่าย จึงเกิดเป็น “ราชบุรีโมเดล” โดยนำโครงข่ายบรอดแบนด์ที่เป็น ซิลิคอนเลเยอร์ เป็น ODN (Optical Distribution Network) เป็นโครงข่ายที่จะวิ่งไปถึงบ้านลูกค้าครอบคลุมทั่วทั้งจังหวัดราชบุรีทันที  เมื่อระบบติดตั้งเสร็จลูกค้าจะเห็นผลจากการใช้งานจริง  งานคุณภาพ ทั้งติดตั้ง บริการซ่อมเซอร์วิสต่างๆ รวมถึงความมีเสถียรภาพเรื่องความเร็วตามที่ลูกค้าเช่าใช้  และเริ่มมีการพูดปากต่อปาก จนเป็นกระแสของ NT ที่มีการพัฒนาระบบและการบริการที่ดีให้ลูกค้าเกิดขึ้นในจังหวัดราชบุรี ซึ่งในอนาคตเรามีการเร่งที่จะต่อยอดไปยังลูกค้าให้ครอบคลุมทั่วถึงมากขึ้น โดยที่จะใช้โมเดลของราชบุรี เพื่อสร้างจุดแข็งให้กับ NT และยังสามารถอยู่ในอุตสาหกรรมผู้ให้บริการต่อไปได้ ทั้งยังสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้า ตลอดเวลาที่พัฒนาโครงข่ายราชบุรีโมเดลซึ่งเป็นโปรเจกต์นำร่อง เราได้รับความเชื่อมั่นตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดีเกินความคาดหมาย ผมคิดว่าในอนาคตเราจะผลักดันให้ทำทั่วประเทศ เพื่อสร้างจุดแข็งให้กับ NT เมื่อลูกค้าใช้งานแล้วเชื่อมันและได้รับความพึงพอใจ ย่อมอยู่กับ NT ต่อไป”

 

นายเกรียงเดช  ลิมปะอารยะกุล ผู้จัดการงานฝ่ายขายและปฏิบัติการลูกค้า ภาคกลางที่ 2 เผยถึงรายละเอียดของราชบุรีโมเดลว่า ทั้ง NT1 และ NT2 ต่างมีความเชี่ยวชาญเป็นจุดเด่น ในส่วนของทั้ง 2 บริษัท เมื่อเราควบรวมเป็น NT จึงต้องการแสดงถึงศักยภาพการทำงานร่วมมือกันและทดสอบทางด้านเทคนิคการเชื่อมต่อโครงข่าย และมีการใช้โครงข่ายปลายทางร่วมกัน หรือสลับโครงข่ายได้อย่างสมบูรณ์  เพื่อพิสูจน์ความพร้อมว่า จะเป็นผู้ให้บริการที่เหนือกว่าผู้ให้บริการรายอื่นได้   โดย 1 วงจรของอาจจะใช้ตัว ISP ของเดิมทั้งสององค์กรได้เลย ปัจจุบันจากการที่เชื่อมต่อโครงข่ายกันในระดับจังหวัดที่ราชบุรีเป็นหลัก โดยเริ่มต้นกับลูกค้ารายใหญ่ฝั่งละ 20 ราย หมายความว่าเป็นของ NT1 (CAT)20 ราย NT2 (TOT)ไปเป็นแบ็คอัพให้สลับกัน  หลังจากนั้นค่อยขยายผลไปที่ลูกค้ารายใหญ่รายอื่นๆ ในพื้นที่ทั่วจังหวัดราชบุรี และมองไปถึงลูกค้ารายย่อยตามบ้านทั่วไป(Home Use)

 

“จากการได้ทำการทดลองและรับฟังจากลูกค้า สำหรับผมแล้วผลตอบรับดีเกินคาด ทั้งความร่วมมือของทีม NT1 และ NT2 สามารถประสานงานลุล่วงไปด้วยดี ในอนาคตงานทุกอย่างที่รับผิดชอบร่วมกันจะบรรลุเป้าหมายเต็มที่ยิ่งขึ้น”

 

“ราชบุรี โมเดล” ถือเป็นโครงการนำร่องสะท้อนความร่วมมือของผู้บริหารและพนักงาน เป็นผลงานรูปธรรมแรกของ NT หลังควบรวมกิจการ โดยจะขยายโมเดลนี้ไปทั่วประเทศทำให้บรอดแบนด์ของ NT สามารถแข่งกับเอกชนได้