"ทีเส็บ" ปลื้ม ครม.ไฟเขียว ให้ไทยแข่งขันชิงสิทธิ์เจ้าภาพ 3 งานเมกะอีเวนต์โลก
ครม.อนุมัติตามข้อเสนอของทีเส็บร่วมกับ 2 กระทรวงหลัก และ 3 เมืองไมซ์ ให้ประเทศไทยเสนอตัวเข้าแข่งขันชิงสิทธิ์เป็นเจ้าภาพจัดงานเอ็กซ์โป และงานมหกรรมพืชสวนโลก เร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการลงทุน หวังสร้างเม็ดเงินสะพัดกว่าแสนล้านบาท
นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีอนุมัติในหลักการให้ประเทศไทยเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงานสำคัญใหญ่ระดับโลก 3 งาน คือ งานเอ็กซ์โป 2028-ภูเก็ต และงานมหกรรมพืชสวนโลกประเภท B ในปี พ.ศ. 2569 และประเภท A1 ปี พ.ศ. 2572 โดยจะเป็นการดำเนินงานร่วมกันระหว่างทีเส็บ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยเมืองไมซ์อีก 3 แห่ง ได้แก่ ภูเก็ต อุดรธานี และนครราชสีมา ภายใต้การสนับสนุนจากทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมถึงหอการค้าและสภาอุตสาหกรรม
“การเข้าร่วมแข่งขันประมูลสิทธิ์เจ้าภาพจัดงานใหญ่ทั้ง 3 งานนี้ ทีเส็บได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีภายใต้การกำกับดูแลของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยเป็นผู้ลงนามในหนังสือเสนอตัวเป็นเจ้าภาพในนามของประเทศไทยอย่างเป็นทางการ (Letter of Candidature) นอกจากนี้ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เป็นผู้ผลักดันการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพการจัดงานพืชสวนโลกอย่างต่อเนื่องตลอดมา ซึ่งทั้ง 3 งานใหญ่มีความสำคัญและมีความหมายต่อประเทศไทยเป็นอย่างมาก เพราะมีผลทั้งในด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจ การสนับสนุนให้เกิดการลงทุน การสร้างงาน สร้างรายได้กระจายสู่ภูมิภาค อีกทั้งยังส่งเสริมการพัฒนาบุคลากร การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศในอนาคตโดยเฉพาะด้านการเกษตรและสาธารณสุข ทั้งยังก่อให้เกิดพื้นที่ทางเศรษฐกิจใหม่จากการพัฒนาพื้นที่หลังการจัดงาน ขณะเดียวกันยังช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์และชื่อเสียงของเมืองเจ้าภาพ และประเทศไทยในฐานะจุดหมายปลายทางการจัดงานที่มีศักยภาพอันโดดเด่นในภูมิภาคเอเชียอีกด้วย”
ทั้งนี้ในการจัด 3 งานใหญ่ระดับโลกนี้ คาดว่าจะส่งผลทางเศรษฐกิจโดยรวมก่อให้เกิดเงินสะพัดกว่า 100,173 ล้านบาท สร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศมูลค่า (GDP) 68,520 ล้านบาท สร้างรายได้จากการจัดเก็บภาษีภาครัฐ 20,641 ล้านบาท และส่งเสริมให้เกิดการจ้างงาน 230,442 ตำแหน่ง
สำหรับงานเอ็กซ์โป 2028-ภูเก็ต ที่กระทรวงสาธารณสุขและจังหวัดภูเก็ตร่วมกันเป็นหน่วยงานหลักในการเป็นเจ้าภาพจัดงาน จัดเป็นงานมหกรรมระดับโลกภายใต้ลิขสิทธิ์ของ Bureau International des Expositions (BIE) ซึ่งประเทศเจ้าภาพจะได้รับประโยชน์ในทุกมิติทั้งเศรษฐกิจ สังคม นวัตกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนด้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว โดยประเทศไทยเสนอให้จัดงานขึ้นภายใต้ชื่อ เอ็กซ์โป 2028 – ภูเก็ต ประเทศไทย (EXPO 2028 – Phuket, Thailand) ด้วยแนวคิดหลัก Future of Life-Living in harmony, sharing prosperity บนพื้นที่ 141 ไร่ บริเวณตำบลไม้ขาว อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ตามโครงการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจังหวัดภูเก็ต สู่เมืองท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก โดยโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต
ซึ่งการจัดงานมีระยะเวลา 3 เดือน ระหว่างวันที่ 20 มีนาคม – 17 มิถุนายน 2571 คาดการณ์ว่าจะมีผู้เข้าชมงาน 4.9 ล้านคน แบ่งเป็นคนไทย 54% ชาวต่างชาติ 46% จาก 106 ประเทศทั่วโลก ก่อให้เกิดเงินสะพัดระหว่างการจัดงาน 49,231 ล้านบาท สร้างการจ้างงาน 113,439 อัตรา เพิ่มมูลค่าการสร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมกว่า (GDP) 39,357 ล้านบาท เกิดรายได้จากการจัดเก็บภาษี 9,512 ล้านบาท
ขณะที่งานมหกรรมพืชสวนโลกประเภท B ปี พ.ศ. 2569 ณ จังหวัดอุดรธานี และประเภท A1 ปี พ.ศ. 2572 ณ จังหวัดนครราชสีมา โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเป็นหน่วยงานหลักในการจัดงานร่วมกับทั้งสองจังหวัด เป็นงานจัดแสดงด้านพืชสวนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก อยู่ภายใต้สมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ (The International Association of Horticultural Producers – AIHP) เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2503 ณ ประเทศเนเธอร์แลนด์ และมีการหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพจัดงานอย่างต่อเนื่องภายในภาคีสมาชิก 65 ประเทศ
งานมหกรรมพืชสวนโลกอุดรธานี พ.ศ. 2569 (Udon Thani International Horticultural Expo 2026) จะจัดขึ้นภายใต้แนวคิดหลัก Diversity of Life: People, Water and Plants วิถีชีวิต สายน้ำ และพืชพรรณ บริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำหนองแด ตำบลกุดสระ อำเมือง จังหวัดอุดรธานี บนเนื้อที่ 1,030 ไร่ แบ่งเป็นพื้นน้ำ 400 ไร่ และพื้นดิน 630 ไร่ กำหนดจัดงานระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2569 – 14 มีนาคม 2570 คาดการณ์ว่าจะมีผู้เข้าชมงาน 3.6 ล้านคน แบ่งเป็นชาวไทย 70% ชาวต่างชาติ 30% มีองค์กร สมาคมต่าง ๆ เข้าร่วมไม่น้อยกว่า 20 ประเทศ เพิ่มเงินสะพัดระหว่างการจัดงาน 32,000 ล้านบาท สร้างการจ้างงาน 81,000 อัตรา เพิ่มมูลค่าการสร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมกว่า (GDP) 20,000 ล้านบาท และเกิดรายได้จากการจัดเก็บภาษี 7,700 ล้านบาท
ในส่วนของงานมหกรรมพืชสวนโลกนครราชสีมา พ.ศ.2572 (Nakhon Ratchasima International Horticultural Expo 2029) จะจัดตามแนวคิดหลัก Nature & Greenery: Envisioning the Green Future ธรรมชาติและพรรณพืชเขียวขจีอนาคตแห่งโลกสีเขียว บนพื้นที่สาธารณประโยชน์โคกหนองรังกา ตำบลเทพาลัย อำเภอคง จังหวัดนครราชสีมา เนื้อที่ 678 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่จัดแสดง 523 ไร่ และพื้นที่จอดรถ 155 ไร่ กำหนดจัดงานระหว่างวันที่ 10 พฤศจิกายน 2572 – 28 กุมภาพันธ์ 2573 คาดการณ์ว่าจะมีผู้เข้าชมงาน 2.6-4 ล้านคน แบ่งเป็นชาวไทย 85% ชาวต่างชาติ 15% มีประเทศที่เข้าร่วมงานไม่น้อยกว่า 30 ประเทศ จะเพิ่มเงินสะพัดระหว่างการจัดงาน 18,942.64 ล้านบาท สร้างการจ้างงาน 36,003 อัตรา เพิ่มมูลค่าการสร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมกว่า (GDP) 9,163 ล้านบาท และเกิดรายได้จากการจัดเก็บภาษี 3,429 ล้านบาท
“เมืองไมซ์ทั้ง 3 แห่ง ที่ได้รับเลือกให้เป็นสถานที่จัดงานสำคัญระดับโลกทั้ง 3 งานนี้ ต่างมีศักยภาพความพร้อมของเมืองที่จะเสนอตัวเข้าร่วมแข่งขันชิงชัยในการเป็นเจ้าภาพจัดงาน ทั้งด้านสถานที่ การเดินทาง และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศในการส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศไทยให้เป็นจุดหมายปลายทางเชิงสุขภาพระดับโลก รวมถึงการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจใหม่หลังการจัดงานให้เป็นศูนย์กลางด้านการค้าและการลงทุนในอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) และการสร้างพื้นที่สีเขียวเพื่อพัฒนาสู่การเป็นเมืองที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน” นายจิรุตถ์ กล่าว