เวลาพูดถึง “แม่ชี” เราก็มักจะนึกถึงผู้หญิงใส่ชุดขาวกลุ่มหนึ่งแล้วก็ต่อด้วยภาพในหัวอีกหลายรูปแบบตามแต่ประสบการณ์ของแต่ละคนเคยพบเจอมา ผมเองก็มีรูปแบบแม่ชีจินตนาการคล้ายกับรูปแบบทั่ว ๆ ไปที่เคยเห็น ก็คือเป็นผู้หญิงวัยกลางคนและสูงวัย โกนหัวอยู่วัดปฏิบัติธรรมแล้วก็คอยรับใช้งานพระสงฆ์แต่พอมาที่สำนักแม่ชีรัตนไพบูลย์แห่งนี้ สิ่งที่เจอกลับไม่ใช่ภาพที่คิดไว้ ไม่ใช่แม่ชีที่เป็นผู้หญิงวัยกลางคนและสูงวัย แต่กลายเป็นเด็กผู้หญิงตัวเล็ก ๆ เรียนอยู่ระหว่างชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ถึงมัธยมศึกษาตอนต้น ทุกคนโกนหัวเรียบร้อยใส่ชุดขาว ซึ่งเป็นภาพที่ค่อนข้างแปลกตาพอสมควร เพราะถ้าหากเปรียบเทียบกับภาพสามเณรน้อยก็ดูจะเป็นภาพที่ค่อนข้างคุ้นเคยมากกว่า เพราะว่าสามเณรนั้น มีการประชาสัมพันธ์เชิญชวนคนไปร่วมทำบุญเป็นเจ้าภาพและก็เห็นสามเณรเดินบิณฑบาตในหมู่บ้านต่าง ๆ ช่วงฤดูร้อนเป็นประจำทุกปีนั่นคือภาพที่ผมเห็น เมื่อได้มีโอกาสได้ไปสำนักแม่ชีรัตนไพบูลย์ครั้งแรก ที่ไปตอนนั้นเพราะว่าได้รับการประสานงานให้ไปเป็นอาสาสมัครช่วยจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับคนที่มาบวชเรียนในช่วงภาคฤดูร้อนซึ่งเป็นกลุ่มสตรีโดยเฉพาะเรียกว่า “แม่ชีน้อย” โดยเยาวชนสตรีที่มาบวชศึกษาปฏิบัติธรรมในช่วงภาคฤดูร้อนปีนั้นเป็นน้อง ๆ เด็กเยาวชนชาวเขาส่วนหนึ่ง เยาวชนด้อยโอกาสจากชายแดนพม่าจังหวัดกาญจนบุรีส่วนหนึ่งและส่วนหนึ่งเป็นเยาวชนที่บิดามารดานำมามอบให้สำนักแม่ชีแห่งนี้ได้ส่งเสริมการศึกษาและบวชเป็นแม่ชีอยู่ที่นี่จากการสอบถามแม่ชีชูใจ ปทุมนันท์ ผู้บริหารสำนัก ท่านก็บอกว่า เมื่อถึงคราวปิดเทอมภาคฤดูร้อนเด็กผู้ชายส่วนหนึ่งได้บวชนักศึกษาปฏิบัติธรรม แต่กลุ่มเด็กผู้หญิงกลับถูกละเลยไม่ได้รับโอกาสเช่นนั้น ทั้ง ๆ ที่พวกเขาควรที่จะได้เข้าถึงการศึกษาและปฏิบัติธรรมเช่นเดียวกับเด็กชาย คณะแม่ชีสำนักแม่ชีรัตนไพบูลย์และสถาบันแม่ชีไทย จึงจัดกิจกรรม “บวชแม่ชีน้อย” นี้ขึ้นมา เพื่อที่เป็นต้นแบบ ทำเป็นกิจกรรมนำร่องให้กับสำนักแม่ชี สถานปฏิบัติธรรมและวัดต่าง ๆ ได้ลองเปิดโอกาสให้เยาวชนเด็กผู้หญิงรอบ ๆ วัดในหมู่บ้านไปเข้ามาศึกษาศาสนาเพิ่มมากขึ้นพอได้รับฟังคำอธิบายเบื้องต้นจากแม่ชีชูใจ ปทุมนันท์ ผู้บริหารสำนักก็ ก็ถือว่าเป็นโอกาสดีเพราะว่าแนวทางการกระบวนการเรียนรู้ที่เตรียมมานั้น สามารถปรับประยุกต์ใช้กับคนทุกกลุ่มวัยอยู่แล้ว ดังนั้น กระบวนการทดลองครั้งแรกในการจัดกระบวนการเรียนรู้กับแม่ชีน้อยจึงเริ่มขึ้นอย่างสนุกสนาน และจบลงอย่างมีความสุข พร้อมทั้งสงบเย็นหัวใจที่ได้มาทำกิจกรรมแบบนี้ตอนนี้ กิจกรรมที่แม่ชีน้อยทำอยู่ คือ พัฒนาปรับปรุงสำนัก ทำหน้ากากอนามัย ปลูกผักสลัดและประดิษฐ์พวงกุญแจ หลังจากนี้ ท่านใดที่สนใจอยากเป็นจิตอาสาจัดกระบวนการเรียนรู้หรือไปทำกิจกรรมอื่น ๆ กับแม่ชีน้อยที่สำนักแม่ชีรัตนไพบูลย์น่าจะเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะเป็นการเปิดโอกาสและให้การช่วยเหลือน้อง ๆ เยาวชนผู้หญิงได้มีทักษะในหลาย ๆ เรื่องที่ควรจะได้รับการพัฒนาและลงมือทำเพิ่มเติมก็คือ เรื่องของพุทธศิลปะ ธรรมะคีตะ และงานฝีมืออื่น ๆ ที่อยู่บนฐานของการภาวนาด้วยการทำงานปัจจุบัน สำนักแม่ชีรัตนไพบูลย์ ได้ปรับตัวรับใช้สังคมตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป โดยเป็นศูนย์ประสานงานเพื่อการพัฒนาเยาวชนและสตรีของเครือข่ายแม่ชีไทยพัฒน์ฯ และเป็นที่ตั้งของสำนักงานสถาบันแม่ชีไทยและมูลนิธิสถาบันแม่ชีไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ซึ่งทำงานครอบคลุมมิติต่าง ๆ ของสตรีและประชาชนทั่วไปอีกด้วย ที่ตั้ง : สำนักแม่ชีรัตนไพบูลย์ ซ.รามอินทรา 14 (มัยลาภ) แยก 6 แขวงท่าแร้ง เขตบางเขน กรุงเทพมหานครเบอร์โทร : 0865331329เว็บเพจ : สำนักแม่ชีรัตนไพบูลย์ สถาบันแม่ชีไทยวันและเวลาเปิด : 09.00-17.00 น. ทุกวันภาพประกอบโดย ผู้เขียน/แอดมินเพจสำนักแม่ชีรัตนไพบูลย์ สถาบันแม่ชีไทย