รีเซต

แนวคิด "ทุนนิยมใหม่" ของนายกฯ คนใหม่ของญี่ปุ่น ถูกวิจารณ์ว่าคล้ายนโยบายจีน

แนวคิด "ทุนนิยมใหม่" ของนายกฯ คนใหม่ของญี่ปุ่น ถูกวิจารณ์ว่าคล้ายนโยบายจีน
ข่าวสด
4 พฤศจิกายน 2564 ( 10:58 )
86

 

นายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ ที่เพิ่งรับตำแหน่งของญี่ปุ่น ได้นำเสนอแผนการกระจายความมั่งคั่งในญี่ปุ่นที่เขาเรียกว่า "ทุนนิยมใหม่" (new capitalism)

 

แต่มีผู้แสดงความไม่เห็นด้วยทางโซเชียลมีเดีย โดยระบุว่า แผนการนี้ฟังดูเหมือนเป็นสังคมนิยมมากกว่า ถึงขนาดเรียกแผนการนี้ว่า "ความรุ่งเรืองร่วมกัน" (common prosperity) ของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นการล้อชื่อนโยบายสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

 

"เขาเข้าใจไหมว่า ทุนนิยมทำงานอย่างไร" ฮิโรชิ มิกิทานิ ประธานเจ้าหน้าที่บริการของราคูเท็น (Rakuten) บริษัทค้าปลีกออนไลน์ยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นกล่าว

 

Getty Images
ผู้คนกลับไปทำงานในกรุงโตเกียว หลังพ้นช่วงล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการระบาดของโควิด

นายมิกิทานิไม่พอใจอย่างมากต่อข้อเสนอของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในการขึ้นภาษีกำไรส่วนต่าง (capital gains tax--CGT) ซึ่งเป็นการเก็บภาษีจากกำไรที่มาจากการลงทุน เขาเรียกมันว่า "การเก็บภาษีซ้ำซ้อน" (double taxation)

 

ไม่ใช่เพียงแค่ประธานเจ้าหน้าที่บริการของราคูเท็นที่แสดงความไม่เห็นด้วยต่อข้อเสนอใหม่ที่ถูกพูดถึงอย่างมากนี้ หลายคนกลัวว่า มันอาจจะทำลายความน่าสนใจในการลงทุนในตลาดหุ้นของนักลงทุนรายย่อย

 

Reuters
นายฟูมิโอะ คิชิดะ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในเดือน ต.ค. 2564 ก่อนที่เขาจะประกาศยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่เมื่อ 31 ต.ค. และคว้าชัยชนะ ได้เป็นนายกฯ อีกสมัย

ที่ผ่านมาการได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของญี่ปุ่นจะช่วยกระตุ้นตลาดหุ้น แต่การเข้ามาของนายคิชิดะช่วงต้นเดือน ต.ค. ก่อนหน้าที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 31 ต.ค. ทำให้ดัชนีนิกเคอิ 225 ลดต่ำลงทันที

 

ดัชนีหุ้นดังกล่าวของญี่ปุ่นตกลง 8 วันติดต่อกัน ซึ่งถูกเรียกว่า "คิชิดะช็อก" (Kishida shock)

 

เพื่อลดผลกระทบ นายคิชิดะจึงได้ถอนข้อเสนอการเก็บ CGT ของเขาไว้ก่อน โดยระบุว่าจะยังไม่แก้ไขการเก็บภาษีจากกำไรส่วนต่างและเงินปันผลของญี่ปุ่น

 

นอกจากการกลับลำนโยบายที่น่าขายหน้านี้แล้ว นโยบายเศรษฐกิจของนายคิชิดะยังแตกต่างจากแนวทางของนายโยชิฮิเดะ สึกะ และนายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีคนก่อนหน้าเขาด้วย

 

Getty Images
ในช่วงที่มีนักลงทุนรายย่อยเพิ่มขึ้นระลอกใหม่ บริษัทนายหน้าหลักทรัพย์ชั้นนำทางออนไลน์ มีบัญชีใหม่เพิ่มมากขึ้นเป็นประวัติการณ์นานหลายเดือน

อดีตนายกรัฐมนตรีทั้ง 2 คนต่างผลักดันนโยบายอาเบะโนมิกส์ (Abenomics) ซึ่งเป็นนโยบายเศรษฐกิจที่โด่งดังในปัจจุบัน จากสิ่งที่เรียกว่า "ลูกศร 3 ดอก" ได้แก่ การผ่อนคลายทางการเงิน การมีวินัยทางการคลัง และยุทธศาสตร์การเติบโต เป้าหมายของนโยบายนี้คือการใช้วิธีการ 3 อย่างนี้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจญี่ปุ่นให้หลุดพ้นจากภาวะการเติบโตอย่างเชื่องช้าหรือไม่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่กินเวลานานหลายสิบปี

 

รัฐบาลของนายสึกะและนายอาเบะประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง มูลค่าตลาดหุ้นของญี่ปุ่นเพิ่มเป็นกว่า 2 เท่า ตอนที่นายอาเบะได้เป็นนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นเป็นครั้งที่ 2 ในเดือน ธ.ค. 2012 ดัชนีนิกเคอิ 225 ต่ำกว่า 10,000 จุด ในเดือน ก.พ. ปีนี้ ได้ขึ้นมาแตะระดับ 30,000 จุดเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1990

 

นิกเคอิใช้เวลาฟื้นตัว 3 ทศวรรษจากการตกต่ำลงในช่วงปลายยุคทศวรรษ 1980 ซึ่งส่งผลให้เกิดการชะลอตัวทางเศรษฐกิจนานหลายสิบปีของญี่ปุ่น

 

เงินเดือนไม่ขึ้น

อย่างไรก็ตาม มีผู้ที่ไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรงต่อยุทธศาสตร์ของอาเบะ รวมถึงนายคิชิดะซึ่งวิจารณ์ว่าอาเบะโนมิกส์ เพียงแต่จะทำให้คนที่ร่ำรวยในญี่ปุ่นรวยขึ้นไปอีกเท่านั้น พวกเขาต้องการเห็นการกระจายความมั่งคั่งในหมู่ประชากรอย่างครอบคลุมมากขึ้น

 

แม้ว่าจะมีการชมเชยและนานาประเทศให้ความสนใจอาเบะโนมิกส์มาก แต่พลเมืองทั่วไปไม่ได้รู้สึกถึงผลประโยชน์ที่ได้รับจากนโยบายนี้มากนัก บางคนถึงกับบอกว่า มันทำให้ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนถ่างกว้างขึ้น

 

หนึ่งในเหตุผลที่คนจำนวนมากไม่รู้สึกว่า พวกเขามีเงินในกระเป๋ามากขึ้น เป็นเพราะว่าเงินเดือนเฉลี่ยแทบไม่ได้ปรับตัวขึ้นในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา

 

BBC

 

จากข้อมูลขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Co-operation and Development--OECD) พบว่า ค่าจ้างเฉลี่ยในญี่ปุ่นชะลอตัวอย่างมากเมื่อเทียบกับหลายประเทศอย่างสหรัฐฯ และเยอรมนี ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา

 

นอกจากนี้ผลิตภาพก็ก้าวหน้าอย่างจำกัดเช่นกัน ผลผลิตมวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพีของญี่ปุ่นต่อหัวประชากร ซึ่งเป็นตัวเลขผลผลิตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นต่อคน 1 คน มีความผันผวน แต่ว่าตัวเลขจีดีพีปัจจุบันอยู่ในระดับเดียวกับในปี 1994

 

BBC

 

ในการแถลงนโยบายครั้งแรกต่อรัฐสภา นายคิชิดะพูดคำว่า "บุนปาอิ" ซึ่งเป็นภาษาญี่ปุ่นที่แปลว่า "แบ่งสรรปันส่วน" 12 ครั้ง ส่วนนายอาเบะพูดคำว่า "เซโจ" หรือ "การเติบโต" 11 ครั้ง และนายสึกะพูดคำว่า "ไคคากึ" หรือ "ปฏิรูป" 16 ครั้ง

 

แต่มีนักเศรษฐศาสตร์และนักลงทุนหลายคนที่เชื่อว่า การที่นายคิชิดะวิจารณ์นโยบายอาเบะโนมิกส์อย่างเผ็ดร้อนนั้น เป็นเพียงแผนการเพื่อให้ได้เสียงสนับสนุนจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งก่อนหน้าที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไปเท่านั้น สุดท้ายแล้วก็จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิงเกิดขึ้น

 

"ฉันไม่แน่ใจว่าเขาได้ชี้แจงนโยบายเศรษฐกิจอย่างครบถ้วนแล้วหรือยัง แต่จากคนที่เขาแต่งตั้ง เช่น ให้นางทาไคชิ เป็นหัวหน้านโยบายและนายอามาริเป็นเลขาธิการ ชี้ให้เห็นว่าอาเบะโนมิกส์น่าจะอยู่ต่อไปภายใต้นายคิชิดะ" อายะ มูราคามิ นักลงทุนกล่าว

 

ซานาเอะ ทาไคชิ เคยเป็นคู่แข่งในการเป็นผู้นำพรรครัฐบาล ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยนายชินโซ อาเบะ อดีตนายกรัฐมนตรี ขณะที่อาคิระ อามาริ เคยเป็นรัฐมนตรีเศรษฐกิจในสมัยของนายอาเบะ และเป็นหนึ่งในผู้ที่ออกแบบนโยบายอาเบะโนมิกส์ การแต่งตั้งนายอามาริ เป็นเรื่องที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ เพราะเขาเคยถูกกล่าวหาว่าพัวพันกับเรื่องทุจริตอันอื้อฉาวในปี 2016 และหลังจากแพ้การเลือกตั้งในเขตของเขาเมื่อวันที่ 31 ต.ค. มีรายงานว่า เขาได้เสนอขอลาออกจากตำแหน่ง

 

Getty Images
ตอนที่นายอาเบะเป็นนายกรัฐมนตรีในเดือน ธ.ค. 2012 ดัชนีนิกเคอิ 225 ต่ำกว่า 10,000 จุด แต่ในเดือน ก.พ. ปีนี้ ได้ขึ้นมาแตะระดับ 30,000 จุด เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1990

 

ตอบแทนคนงาน

ไม่ว่าญี่ปุ่นจะกลับไปสู่อาเบะโนมิกส์หรือไม่ ตอนนี้นายคิชิดะอยู่ในตำแหน่งที่เขาต้องตอบคำถามที่กดดันที่สุดว่า เขาจะรับเมืองกับความไม่พอใจที่เพิ่มมากขึ้นในหมู่คนทำงานชาวญี่ปุ่นอย่างไร

 

บริษัทจดทะเบียนของญี่ปุ่นหลายแห่งมีกำไรมากเป็นประวัติการณ์ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ว่า ไม่มีการแบ่งปันกำไรเหล่านี้กลับไปสู่พนักงานที่ทำงานอย่างหนักด้วยการปรับขึ้นค่าจ้างให้

 

"การเติบโตของญี่ปุ่นไม่ได้แข็งแกร่งพอที่จะกระจายความมั่งคั่ง" นางมูราคามิ นักลงทุนวิเคราะห์ "พวกเขาทำกำไรจากต่างประเทศ ไม่ใช่ในประเทศ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องยากที่บริษัทต่าง ๆ จะแบ่งสรรปันส่วน [เงินนี้] ในเมื่อผลกำไรที่ได้ไม่ได้เกิดขึ้นภายในประเทศ" เธอกล่าวเพิ่มเติม

 

เธอสนับสนุนข้อเสนอของนางทาไคชิ หัวหน้านโยบายของพรรค ที่เสนอเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่าให้เก็บภาษีบริษัทที่มีเงินสดจำนวนมาก

 

"ขณะนี้ มี 2,500 บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โตเกียว แต่มากกว่า 10% ของบริษัทเหล่านี้มีเงินสดและเงินฝากที่มากกว่าเงินทุนในตลาดทุนของพวกเขาเสียอีก หรือพวกเขามีการถือหุ้นไขว้กัน" นางมูคาคามิกกล่าว "ควรส่งเสริมให้พวกเขานำเงินนั้นมาลงทุนเพื่อกระตุ้นการเติบโตในประเทศด้วยการใช้นโยบายด้านภาษีต่าง ๆ"

 

เมื่อนายคิชิดะได้รับเลือกตั้งเป็นผู้นำประเทศรอบแรกเมื่อต้นเดือน ต.ค. เขารับปากว่า "จะรับฟังเสียงของประชาชน" แต่เขากลับถอนแผนการของเขาในการขึ้นภาษีส่วนต่างกำไรในช่วงเวลา 2-3 สัปดาห์ ดังนั้นจึงต้องรอดูต่อไปว่า เสียงของใครที่เขาจะเลือกรับฟังมากที่สุดในการกำหนดนโยบายของเขา เสียงของนักลงทุนหรือของคนทำงาน

...................

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง